กรมการจัดหางานรับพิจารณาข้อเสนอผู้นำเข้าต่างด้าว

10 ก.ย. 2559 | 06:00 น.
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2559 ได้มอบหมายให้นายสมบัติ นิเวศรัตน์ ผู้ตรวจราชการกรมการจัดหางาน ต้อนรับตัวแทนจากชมรมผู้นำเข้าแรงงานต่างด้าวที่มายื่นข้อเสนอถึงพลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ขอให้แก้ไขพระราชกำหนดการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ.2559 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้พระราชกำหนดฯ ฉบับดังกล่าว ซึ่งนายศักดิ์ชัย ธรรมปรีชาถาวร ประธานคณะกรรมการรุ่นก่อตั้งชมรมผู้นำเข้าแรงงานต่างด้าวได้เป็นผู้แทนยื่นข้อเสนอเป็นจำนวน 6 ข้อดังนี้ 1.ลดจำนวนเงินหลักประกันที่ผู้รับอนุญาตต้องวางไว้กับอธิบดีกรมการจัดหางานจากไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาทเป็นไม่น้อยกว่า 3 แสนบาท 2.ให้เรียกเก็บหลักประกันจากนายจ้างในอัตราเดียวกับที่เรียกเก็บจากบริษัทผู้รับอนุญาตยกเว้นนายจ้าง   ที่นำคนต่างด้าวมาทำงานโดยไม่ใช้บริการของผู้รับอนุญาตไม่เกินคราวละ 5 คน ไม่ต้องวางหลักประกันไว้กับทางราชการ 3.ให้ขยายระยะเวลาผ่อนปรนของบทเฉพาะกาลจาก 60 วันเป็น 1 ปี 4.บทนิยามของ   คำว่าการนำคนต่างด้าวมาทำงาน 5.ให้กำหนดอัตราสูงสุดของค่าบริการที่บริษัทสามารถเรียกจากนายจ้างไว้ที่ไม่เกินคนละ 40% ในส่วนค่าของค่าขอวีซ่า ค่าตรวจสุขภาพ ค่าประกันสุขภาพ และค่าขอใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวให้นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบ และเรียกคืนจากแรงงานต่างด้าวได้ 6.ให้กำหนดภาระความรับผิดชอบของผู้อนุญาตต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการส่งแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างกลับประเทศเฉพาะกรณีที่เป็นความผิดของผู้รับอนุญาตเท่านั้น

พระราชกำหนดการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ.2559  ได้ร่างขึ้นบนหลักการเพื่อคุ้มครอง และป้องกันปัญหาที่เปราะบางและสุ่มเสี่ยงต่อการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน  ซึ่งที่ผ่านมาการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศไม่มีกฎหมายใช้บังคับ จึงทำใหัเกิดปัญหาหลายประการ เช่น แรงงานบังคับ แรงงานขัดหนี้  เป็นต้น ซึ่งพระราชกำหนดดังกล่าวจะช่วยจัดระเบียบผู้ประกอบกิจการและป้องกันการลักลอบนำคนต่างด้าวมาทำงานโดยผิดกฎหมาย รวมทั้งคุ้มครองผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องตามกฎเกณฑ์และมีมาตรฐาน อย่างไรก็ตาม กรมการจัดหางานจะนำข้อเสนอดังกล่าวไปพิจารณาอย่างเร่งด่วน ตามความเหมาะสมต่อไป