โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ยังอยู่ครับ

13 ก.ย. 2559 | 14:00 น.
อ่านข่าวจาก "ฐานเศรษฐกิจ" ฉบับวางแผงเมื่อวันพุธที่ผ่านมาก็แปลกใจ เพราะพาดหัวข่าวทำนองว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ยอมตัดใจทิ้งถ่านหินที่กระบี่ แต่เมื่ออ่านเนื้อหาแล้วก็พอจะเข้าใจ เพราะรายละเอียดคร่าวๆ จาก "ฐานเศรษฐกิจ" เป็นดังนี้ ....นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมาได้มีประชาชนและผู้บริหารท้องถิ่น อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคิรีขันธ์ ได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อเรียกร้องให้มีการพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว โดยเป็นพื้นที่ที่กฟผ.จัดซื้อไว้กว่า 10 ปีที่แล้วกว่า 4 พันไร่ ในสมัยที่นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แต่เกิดการต่อต้านและมีพันธะสัญญาว่าจะไม่นำพื้นที่ทับสะแกมาก่อสร้างโรงฟ้าถ่านหินอีก

แต่ทั้งนี้ เมื่อเป็นความต้องการของชุมชนในท้องที่ ที่จะให้เกิดการพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ขึ้นมา กฟผ. คงตัดสินใจเองไม่ได้ คงต้องรอนโยบายของภาครัฐสั่งการ หากนโยบายของภาครัฐเปิดทางและชุมชนยอมรับ กฟผ. ก็มีศักยภาพในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ทับสะแก กำลังการผลิต 2 พันเมกะวัตต์ ซึ่งอาจเป็นโครงการถัดจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 2 พันเมกะวัตต์ ที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2564 ให้สามารถก่อสร้างได้ตามแผนก่อน เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ยอมรับ ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ 860 เมกะวัตต์ หากเกิดการต่อต้านหรือชุมชนไม่ยอมรับ และทางคณะกรรมการไตรภาคีตัดสินใจที่จะไม่เดินหน้าก่อสร้างในช่วงเดือนกันยายนนี้ ก็คงต้องยอมรับตามมติ และหันไปก่อสร้างในพื้นที่ที่ชุมชนยอมรับแทน

นายสมนึก รุ่งกำจัด ประธานชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อำเภอทับสะแก เปิดเผยว่า ตัวแทนชาวอำเภอทับสะแกกว่า 20 คน ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อเรียกร้องการพัฒนาโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ที่อำเภอทับสะแก เนื่องจากที่ผ่านมา กฟผ. ซื้อพื้นที่กว่า 4 พันไร่ แต่ไม่เกิดการพัฒนาจนกลายเป็นพื้นที่รกร้าง ทำให้ชุมชนเสียโอกาส ระบบเศรษฐกิจด้อยกว่าอำเภออื่นๆในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยปัจจุบันชาวทับสะแกกว่า 99% เห็นด้วยที่จะให้เกิดโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ แม้ว่าที่ผ่านมาจะเกิดการต่อต้าน แต่คนที่ต่อต้านสมัยนั้น เป็นคนนอกพื้นที่ ขณะเดียวกันกลุ่มประมงที่เคยออกมาคัดค้านเพราะห่วงเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็มีความเข้าใจและให้การสนับสนุนแล้ว

ทั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมา กฟผ. มีการทำความเข้าใจเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด และพาไปดูโรงไฟฟ้าแม่เมาะ และมาบตาพุด พบว่าการประมงไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด ดังนั้นชุมชนทับสะแกจึงต้องการปลดล็อกพันธะสัญญาสมัยนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เมื่อปี 2550 ที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดการพัฒนาโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในพื้นที่ เพราะเห็นว่าหากมีโรงไฟฟ้าก็จะมีเงินจากกองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้าที่เพียงพอในการใช้ส่งเสริมการจ้างงาน สนับสนุนด้านเศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม ดังนั้นชาวทับสะแกอยากให้ภาครัฐตัดสินใจโดยเร็วในการเลือกพื้นที่ทับสะแกก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ต่อไป

เรื่องนี้ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 กันยายน นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อยู่เฉยไม่ได้ ก็ออกมากล่าวถึงความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่ว่า อยู่ระหว่างการดำเนินงานของคณะกรรมการไตรภาคี เพื่อหาข้อสรุปนำเสนอนายกรัฐมนตรี เพื่อสั่งการต่อไป สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าเทพา เป็นไปตามแผนงาน อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ซึ่งทั้ง 2 โครงการ มีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าในภาคใต้ และของประเทศ

"โรงไฟฟ้ากระบี่และเทพา มีความจำเป็นต่อการพัฒนาพลังงานในภาคใต้ ที่ความต้องการไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นทุกปี และหากประเทศยังมีการใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนที่มากดังเช่นปัจจุบัน หรือไม่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ จะต้องเพิ่มการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในระยะยาวจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าของประชาชนสูงขึ้น".....สรุปแล้วโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ยังอยู่นะ ครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,191 วันที่ 11 - 14 กันยายน พ.ศ. 2559