ความหลากหลายทางชีวภาพ ในการค้าระหว่างประเทศ

14 ก.ย. 2559 | 14:00 น.
เวลามีข่าวว่านักวิจัยต่างชาติแอบนำพันธุ์พืชไทยไปพัฒนาต่อยอดและจดสิทธิบัตร อย่างที่เรียกกันว่า "โจรสลัดชีวภาพ" (bio-piracy) ไม่ว่าจะจริงเท็จยังไง หลายคนคงรู้สึกว่าไม่ยุติธรรมนะครับ นี่คือเหตุผลที่นานาประเทศได้เริ่มพยายามร่วมกันแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังด้วยการจัดตั้งระบอบแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างเจ้าของทรัพยากรกับผู้พัฒนาต่อยอด ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ(CBD) และพิธีสารนาโกยาว่าด้วยการเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรมและการแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรดังกล่าว ซึ่งใช้เวลาหลายปีในการเจรจากว่าจะได้ข้อสรุป และในที่สุดเมื่อพิธีสารนาโกยา มีผลใช้บังคับในปี 2557 อะไร ๆ ก็เหมือนดูจะเข้าที่เข้าทาง ฝ่ายต่าง ๆ หวังว่าปัญหา bio-piracy จะหมดไปเสียทีแต่โลกไม่ได้สวยงามเช่นนั้นครับ เทคโนโลยีชีวภาพที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วทำให้ขณะนี้กลไกที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นนี้ดูจะตามไม่ทันเสียแล้ว

เรื่องมีอยู่ว่า CBD และพิธีสารนาโกยากำหนดให้การเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรมในพื้นที่ภายใต้อำนาจรัฐต่าง ๆ ต้องอยู่บนพื้นฐานของการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เป็นธรรมระหว่างผู้ใช้ประโยชน์กับรัฐเจ้าของทรัพยากรนั้นซึ่งเป็นต้นแบบของการจัดตั้งกลไกแบ่งปันผลประโยชน์ในบริบทเฉพาะ อาทิ สนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยทรัพยากรพันธุกรรมพืชเพื่ออาหารและการเกษตรซึ่งองค์การอาหารและการเกษตร (FAO)จัดตั้งขึ้นเพื่อแบ่งปันประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนพันธุ์พืช และกรอบการเตรียมพร้อมรับมือการระบาดของไข้หวัดใหญ่ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) จัดตั้งขึ้นสำหรับแบ่งปันประโยชน์จากการที่ทุกประเทศจัดส่งเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นทรัพยากรพันธุกรรมชนิดหนึ่ง ให้แก่เครือข่ายห้องปฏิบัติการของ WHO นำไปคัดเลือกไวรัสที่เหมาะสมที่สุดเพื่อผลิตวัคซีนในแต่ละปี โดยประโยชน์ที่ได้รับคืนจะได้แก่การเข้าถึงวัคซีนในคลังวัคซีนของ WHO และประโยชน์ด้านสาธารณสุขอื่นที่เกี่ยวข้องในกรณีที่มีการระบาดใหญ่

ไทยยังไม่ได้เข้าเป็นภาคีพิธีสารนาโกยาและสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยพันธุกรรมพืชฯ จึงมีเพียงกรอบของ WHO เท่านั้นที่ใช้กับไทยขณะนี้ แต่อย่างที่ว่าครับ มีสัญญาณแล้วว่ากลไกเหล่านี้ ซึ่งล้วนใช้หลักการเดียวกัน เริ่มจะล้าสมัยเสียแล้ว เพราะเทคโนโลยีวันนี้ทำให้ทรัพยากรพันธุกรรมตามธรรมชาติใด ๆ ที่มนุษย์ค้นพบว่าสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการค้าได้นั้น นักวิทยาศาสตร์สามารถนำไปถอดรหัสพันธุกรรมได้โดยไม่ยากและไม่แพงอีกต่อไป และในอีกไม่นานเกินรอ เทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่าชีววิทยาสังเคราะห์ (Synthetic biology) จะทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถใช้เพียงข้อมูลรหัสพันธุกรรมสร้างสิ่งมีชีวิตสังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติเดียวกัน (Synthetic derivatives) เพื่อนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ (เช่นผลิตยารักษาโรค) ได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรพันธุกรรมจากธรรมชาติอีกต่อไป

กลไกการแบ่งปันผลประโยชน์ที่มีอยู่จะรับมือกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างไร หากไม่จำเป็นต้องเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรมจากธรรมชาติอีกต่อไปในการนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ประเด็นนี้ดูจะเป็นปัญหาชัดเจนที่สุดในกรอบการแบ่งปันเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ของ WHO เพราะหากบริษัทยาไม่จำเป็นต้องได้รับเชื้อไวรัสจาก WHO เพื่อนำไปผลิตวัคซีน แต่สามารถใช้ข้อมูลรหัสพันธุกรรมของเชื้อไวรัสที่ได้รับคัดเลือก ซึ่งมักจะเป็นข้อมูลสาธารณะ ไปสังเคราะห์เชื้อไวรัสเพื่อผลิตวัคซีนได้เช่นเดียวกัน บริษัทยานั้นก็ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ต้องบริจาควัคซีนบางส่วนที่ผลิตได้ให้กับคลังวัคซีนของ WHO อีกต่อไป กลไกการแบ่งปันเชื้อไวรัสและแบ่งปันผลประโยชน์ก็จะได้รับผลกระทบอย่างยิ่ง

สำหรับ CBD และพิธีสารนาโกยานั้น รัฐภาคีอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบจากพัฒนาการนี้เช่นกัน โดยมีประเด็นถกเถียงกันว่าทรัพยากรพันธุกรรมภายใต้พิธีสารนาโกยารวมถึงข้อมูลรหัสพันธุกรรมหรือไม่ และการนำข้อมูลรหัสพันธุกรรมไปใช้ประโยชน์ทางการค้าจำเป็นต้องมีการแบ่งปันผลประโยชน์คืนให้แก่ประเทศเจ้าของทรัพยากรพันธุกรรมหรือไม่ พัฒนาการทางเทคโนโลยียังมีผลกระทบไม่เพียงต่อกลไกที่มีอยู่แล้วเท่านั้น แต่ต่อการเจรจาจัดทำกลไกใหม่ ๆ ด้วย อาทิ กรอบองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกซึ่งมีเป้าหมายที่จะประสานระบบทรัพย์สินทางปัญญาเข้ากับกลไกแบ่งปันผลประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเงื่อนไขการเปิดเผยที่มาของทรัพยากรพันธุกรรมในการจดสิทธิบัตรและในการเจรจาจัดทำกรรมสารระหว่างประเทศในกรอบสหประชาชาติเพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลในทะเลหลวงและพื้นดินท้องทะเลนอกเขตอำนาจรัฐ ซึ่งในการเจรจาเหล่านี้ ประเทศพัฒนาแล้วมีท่าทีแข็งกร้าวกว่าเดิมในการพยายามผลักดันให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้นว่าข้อมูลรหัสพันธุกรรมไม่ใช่ส่วนหนึ่งของทรัพยากรพันธุกรรมซึ่งต้องมีการแบ่งปันประโยชน์หากต้องการเข้าถึง เพราะเขาก้าวหน้ากว่า

เรื่องนี้น่าสนใจและต้องติดตามต่อไปครับ ผู้เกี่ยวข้องคงต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ยิ่งขึ้นกว่าเดิมเพื่อหาทางออกในเมื่อดูเหมือนว่าพัฒนาการทางเทคโนโลยีจะทำให้ประเทศเจ้าของเทคโนโลยีซึ่งเป็นผู้ใช้ทรัพยากรจะถือไพ่เหนือประเทศเจ้าของทรัพยากรต่อไปอย่างไม่มีทางแก้ไขเสียแล้ว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,191 วันที่ 11 - 14 กันยายน พ.ศ. 2559