EAS ห่วงปัญหาความมั่นคง ผู้นำ 18 ชาติถกประเด็นนิวเคลียร์ ก่อการร้าย และทะเลจีนใต้

13 ก.ย. 2559 | 13:00 น.
ผู้นำ 18 ประเทศร่วมประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก โดยให้ความสำคัญกับประเด็นด้านความมั่นคงและการก่อการร้าย รวมถึงเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ อีกทั้งยังมีการหารือเกี่ยวกับปัญหาทะเลจีนใต้

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ในการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก (East Asia Summit) ครั้งที่ 11 ที่กรุงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ผู้นำของประเทศสมาชิกทั้ง 18 ประเทศ ได้แก่ ผู้นำชาติอาเซียน 10 ประเทศ ผู้นำจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา ประเด็นเรื่องความมั่นคงและการก่อการร้ายได้กลายมาเป็นประเด็นสำคัญของการประชุมในครั้งนี้

โดยผู้นำประเทศได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเดินหน้าปลดอาวุธนิวเคลียร์ ตลอดจนการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ การใช้พลังงานนิวเคลียร์สันติ และความสำคัญของการใช้นิวเคลียร์ด้านความมั่นคงเพื่อตอบโต้กับภัยก่อการร้ายจากอาวุธนิวเคลียร์ทั้งในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธ 3 ลูกจากชายฝั่งด้านตะวันออกไปทางประเทศญี่ปุ่นในช่วงต้นสัปดาห์ขณะที่ผู้นำจากหลายประเทศทั่วโลกกำลังประชุมจี 20 อยู่ที่ประเทศจีน

นายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ กล่าวเรียกร้องให้ผู้นำของแต่ละประเทศทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด และคอยระมัดระวังจับตามองความเคลื่อนไว้ของกลุ่มก่อการร้ายหัวรุนแรง รวมถึงเตรียมพร้อมที่จะต่อสู้ในระยะยาว

ด้านนายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวว่า บรรดาผู้นำประเทศต่างๆ ได้หารือถึงความสำคัญของการแบ่งปันข้อมูลเพื่อป้องกันการก่อการร้ายและการเคลื่อนย้ายของกลุ่มนักรบต่างชาติ นอกจากนี้ หลายประเทศยังแสดงความกังวลกับท่าทีของเกาหลีเหนือในการปล่อยขีปนาวุธเพื่อยั่วยุ ซึ่งเป็นการแสดงถึงภัยคุกความจากอาวุธนิวเคลียร์ พร้อมเรียกร้องให้เกาหลีเหนือปฏิบัติตามข้อตกลงของสากลขณะดียวกัน ผู้นำหลายประเทศ อาทิ นายชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และนายโรดริโก ดูเตอร์เต้ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ได้หยิบยกประเด็นข้อพิพาทบริเวณทะเลจีนใต้ขึ้นมากล่าวถึงในที่ประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก โดยแถลงการณ์ร่วมจากการประชุมได้เน้นย้ำถึงความมีอิสระในการเดินเรือในทะเลจีนใต้ พร้อมกับระบุว่าผู้นำหลายประเทศยังคงมีความกังวลอย่างมากต่อพัฒนาการในเรื่องดังกล่าว

สำหรับการประชุมกรอบความร่วมมืออื่นๆ ระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจานั้น ในการประชุมอาเซียน+3 ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยได้เสนอให้มีการเร่งส่งเสริมความร่วมมือในหลายด้าน อาทิ ด้านความเชื่อมโยง ด้านเกษตรกรรมและนวัตกรรมทางการเกษตร รักษาเสถียรภาพทางการเงินและการคาดการณ์ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-อินเดีย ร่วมกับนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย พล.อ.ประยุทธ์ได้เสนอให้เสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทั้งทางบกและทางน้ำ เร่งเพิ่มพูนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ เพื่อให้ภาคเอกชนทั้ง 2 ฝ่ายได้ใช้ประโยชน์จากความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดียอย่างเต็มที่ และขยายความร่วมมือในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และนวัตกรรม

ขณะเดียวกันในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-สหรัฐฯ นายโอบามาได้กล่าวถึงความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ของภูมิภาคอาเซียนที่มีมากขึ้นต่อนโยบายปรับสมดุลในภูมิภาคเอเชียของสหรัฐฯ รวมถึงความมั่นคงของภูมิภาคและโลก โดยสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาเซียนเปิดโอกาสให้สหรัฐฯ สนับสนุนด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมถึงสนับสนุนการเดินหน้าในกรอบข้อตกลงการค้าความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือทีพีพี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,191 วันที่ 11 - 14 กันยายน พ.ศ. 2559