คาดกนง. คงดอกเบี้ยที่ 1.50% ในการประชุม 14 ก.ย. 59

10 ก.ย. 2559 | 08:00 น.
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์เรื่อง คาดกนง. คงดอกเบี้ยที่ 1.50% ในการประชุม 14 ก.ย. 59 หลังปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยยังไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับรอบก่อนหน้า

ประเด็นสำคัญ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีมติ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ต่อเนื่อง ในการประชุมวันที่ 14 กันยายน 2559 เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศของไทยยังไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับการประชุม กนง. รอบก่อนหน้า ขณะที่ การขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมยังอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างดี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองประเด็นสำคัญทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจมีผลต่อการประชุมนโยบายการเงินของ กนง. ในวันที่ 14 กันยายน 2559 ดังนี้

k01-1 v  กนง.น่าจะตัดสินใจ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง เนื่องจากยังพอมีปัจจัยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะที่เหลือของปีนี้

oศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ด้วยภาพของเศรษฐกิจไทยที่ยังมีปัจจัยบวกต่อการฟื้นตัว ยังคงสนับสนุนการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง โดยแม้ว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจบางตัว อาทิ เครื่องชี้การบริโภคและการลงทุน จะเริ่มมีทิศทางชะลอลงบ้าง แต่คงไม่น่าจะกระทบภาพรวมการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ ซึ่งถูกคาดหมายว่าจะสามารถขยายตัวได้สูงกว่าระดับ 3.0% ขณะที่รายได้เกษตรกรที่ปรับฟื้นตัวขึ้น บ่งชี้ว่าความเสี่ยงด้านขาลงอาจเริ่มจำกัด เมื่อประกอบกับภาคการท่องเที่ยวที่ยังเติบโตได้ดี แรงส่งจากการเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง และปัจจัยเสี่ยงด้านการเมืองที่ผ่อนคลายลง (คงช่วยให้ความเชื่อมั่นต่างๆ มีแนวโน้มปรับดีขึ้น) น่าจะช่วยหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าได้ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า กนง. ยังสามารถที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับปัจจุบันที่ 1.50% ได้ต่อเนื่อง

ประเด็นจากภายนอก ยังไม่น่าจะเพิ่มความเสี่ยงที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ แม้จะต้องติดตามใกล้ชิด

ผลของ Brexit ยังไม่ได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ เครื่องชี้เศรษฐกิจในยูโรโซนยังคงบ่งชี้ถึงผลกระทบจาก Brexit ที่ยังคงจำกัดอยู่ในภูมิภาค โดยดัชนี PMIs ในยูโรโซนปรับลดลงไม่มาก ขณะที่เครื่องชี้เศรษฐกิจในสหราชอาณาจักรหลายตัวยังคงอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี หลังจากเหตุการณ์ Brexit นอกจากนี้ ความผันผวนของตลาดเงิน-ตลาดทุนก็ได้ปรับลดลงไปมาก เมื่อเทียบกับในช่วงแรกที่ตอบรับเหตุการณ์ Brexit

ประเด็นความเสี่ยงด้านการเมืองจากประเทศในยูโรโซน และการเลือกตั้งสหรัฐฯ ยังไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในตอนนี้ โดยผลบางส่วนจากเหตุการณ์เหล่านี้ คงเกิดขึ้นในช่วงปลาย ต.ค.- ต้น พ.ย. ซึ่งเป็นจังหวะที่อิตาลีจะมีการลงประชามติเกี่ยวกับการปรับแก้รัฐธรรมนูญ และสหรัฐฯจะมีการเลือกตั้ง ในวันที่ 4 พ.ย. นี้ ทั้งนี้ กนง. คงจับตาพัฒนาการของเหตุการณ์เหล่านี้อย่างใกล้ชิดในระยะต่อไปว่าจะมีการส่งผ่านผลกระทบไปยังภูมิภาคอื่นๆ รวมถึงไทยหรือไม่

ธนาคารกลางต่างๆ ยังคงไม่น่าจะมีการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินอย่างมีนัยสำคัญในช่วงนี้ ล่าสุด ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ไม่มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในการประชุมเดือน ก.ย. 59 นี้ ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การประชุมธนาคารญี่ปุ่นและการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯในวันที่ 20-21 ก.ย. 2559 นี้ ก็ไม่น่าที่จะมีการเปลี่ยนแปลงแนวทางในการดำเนินนโยบายการเงินอย่างมีนัยสำคัญ โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจจะยังไม่ขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ในการประชุมรอบนี้ ขณะที่ ธนาคารกลางญี่ปุ่นก็อาจจะยังไม่ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นขนานใหญ่ออกมาเช่นกัน

นัยต่อเศรษฐกิจไทย อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกที่อยู่ในระดับต่ำ อาจย้ำภาพ Search for Yield ในต่างประเทศที่ส่งผลต่อกระแสเงินทุนไหลเข้าไปยังประเทศตลาดเกิดใหม่ เช่นเดียวกับพฤติกรรม Search for Yield ในตลาดการเงินไทย ที่ยังคงเป็นประเด็นที่กนง. ติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ คงต้องยอมรับว่า การดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม รวมทั้งนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบของธนาคารกลางขนาดใหญ่หลายๆ แห่งเป็นปัจจัยที่เอื้อให้เกิดพฤติกรรม Search for Yield ในตลาดการเงินโลก ซึ่งอาจส่งผลทำให้ความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (อาจรวมถึง เงินบาทของไทย) มีความผันผวนไปตามกระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ ส่งผลตามมาให้ภาคธุรกิจคงต้องเตรียมพร้อมรับมือ ซึ่งส่วนหนึ่งสามารถดำเนินการได้ ผ่านการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน  นอกจากนี้ สำหรับในไทยเอง การคงอัตราดอกเบี้ยในประเทศไว้ที่ระดับค่อนข้างต่ำ ก็อาจสร้างประเด็นต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจระยะยาว ทั้งประเด็นด้านหนี้ครัวเรือนและระดับการออมในประเทศ ซึ่งทำให้ยังเป็นประเด็นที่ทางการคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ในขณะที่ โจทย์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะอันใกล้ อาจต้องเน้นแรงกระตุ้นจากฝั่งนโยบายการคลังเป็นแกนนำ ในขณะที่นโยบายการเงิน จะเป็นตัวเสริมในการประคองการฟื้นตัวให้มีความราบรื่นมากขึ้น