รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-พิษณุโลก เชื่อมโยงกรุงเทพฯสู่สี่แยกอินโดจีน

12 ก.ย. 2559 | 06:00 น.
จัดเป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่ฝ่ายไทยและฝ่ายญี่ปุ่นตลอดจนอีกหลายคนคาดหวังว่าจะสามารถเร่งดำเนินการให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ทั้งเพื่อการขนส่งสินค้าที่ไม่มีขนาดใหญ่มากเกินไปและการโดยสารจากกรุงเทพฯไปสิ้นสุดที่เชียงใหม่ โดยเฉพาะเส้นทางเพื่อเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวของไทยผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สุโขไทย นครสวรรค์ พิษณุโลก ลำปาง ไปสิ้นสุดที่เชียงใหม่

[caption id="attachment_96075" align="aligncenter" width="700"] แนวเส้นทางการพัฒนารถไฟฟ้าความเร็วสูงสายกรุงเทพ - เชียงใหม่ แนวเส้นทางการพัฒนารถไฟฟ้าความเร็วสูงสายกรุงเทพ - เชียงใหม่[/caption]

โดยรถไฟความเร็วสูงเส้นทางดังกล่าวนี้จัดอยู่ในเส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ แต่จะก่อสร้างจากช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลกในระยะแรกนี้ก่อน ระยะทางประมาณ 384 กิโลเมตร มีจำนวน 7 สถานี แนวเส้นทางเริ่มต้นจากสถานีบางซื่อ ไปสิ้นสุดที่สถานีพิษณุโลก มีสถานียกระดับ 6 แห่ง ได้แก่ สถานีบางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา นครสวรรค์ พิจิตร และพิษณุโลก และสถานีระดับพื้นดิน 1 สถานี ได้แก่ สถานีลพบุรี

รูปแบบของแต่ละสถานีมี 2 รูปแบบคือ สถานีในเมืองและสถานีนอกเมือง โดยสถานีอยู่นอกเมือง คือสถานีลพบุรี ห่างจากตัวเมืองประมาณ 5 กิโลเมตร และสถานีพิจิตร ห่างจากตัวเมืองประมาณ 2 กิโลเมตร นอกนั้นเป็นสถานีในเมืองซึ่งใช้พื้นที่สถานีรถไฟเดิม

ทางด้านงบประมาณค่าก่อสร้างนั้นเฉพาะในช่วงที่ 1 (กรุงเทพฯ-พิษณุโลก) ประมาณ 2.12 แสนล้านบาท จำแนกเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ค่างานโยธา ค่าก่อสร้างโรงซ่อมบำรุง(งานโยธา) ค่าก่อสร้างโรงซ่อมบำรุง(งานระบบ)ค่างานราง ค่างานระบบไฟฟ้ากำลัง ค่างานเครื่องกลและไฟฟ้า(ระบบเดินรถ) ค่าขบวนรถ(ระยะแรก 15 ขบวน) และค่าควบคุมงาน

โดยแนวเส้นทางมีทั้งระดับดิน ยกระดับและลอดอุโมงค์ ช่วงจากกรุงเทพฯ-อยุธยาจะเป็นทางยกระดับตลอดแนวประมาณ 67 กิโลเมตร ช่วงผ่านตัวเมืองจังหวัดลพบุรีจะเป็นแนวอุโมงค์ยาวประมาณ 5 กิโลเมตร หลังจากนั้นจะเป็นแนวเส้นทางระดับดินและทางยกระดับตามความเหมาะสมในบางจุด คาดว่าจะใช้ระยะเวลาเดินทางประมาณ 1.50 ชั่วโมง ค่าโดยสารระหว่าง 640-1,700 บาท ทั้งนี้ค่าโดยสารจะแตกต่างตามประเภทชั้นโดยสาร

สำหรับผลการวิเคราะห์ความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ มูลค่าปัจจุบันสุทธิ(Net Present Value : NPV) 25,340 ล้านบาท มีอัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน (Benefit/Cost Ratio :B/C Ratio) 1.15 มีอัตราส่วนผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (Economic Internal Rate of Return :EIRR) 13.39% โดยโครงการดังกล่าวนี้เริ่มเปิดรับฟังความเห็นของประชาชนมาตั้งแต่ปี 2555

ล่าสุดนั้นโครงการดังกล่าวจัดอยู่ในเส้นทางการพัฒนาระบบรางภายใต้ความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่นซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นกำลังศึกษาความเป็นไปได้และคาดว่าจะนำไปสู่การออกแบบรายละเอียดก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติให้ดำเนินการในปลายปีนี้ และนำไปสู่การก่อสร้างในปี 2560 ต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,191 วันที่ 11 - 14 กันยายน พ.ศ. 2559