‘ฮันจิน’ล้มละลายทุบส่งออกไทย ข้าว - อาหารสำเร็จรูป - สมาชิกสรท.เต้นสินค้าถูกยึด

08 ก.ย. 2559 | 08:00 น.
“ฮันจินชิปปิ้ง” เบอร์ 1 สายเดินเรือแดนโสมขาวล้มละลาย ฟาดหางส่งออกไทย บริษัทส่งออกข้าวไปยุโรปร้องระงม สินค้าจำนวนมากถูกเจ้าหนี้เรือยึดพร้อมเรือเพื่อเป็นหลักประกัน ด้านสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปเร่งรวบรวมข้อมูลความเดือดร้อนสมาชิกหาทางช่วย พร้อมแนะแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หวังรัฐบาลเกาหลีเข้าเทคโอเวอร์บริษัท เร่งเคลียร์ปัญหา ขณะสภาผู้ส่งออกฯชี้เดือดร้อนมากน้อย แล้วแต่กรณี

กรณีบริษัทฮันจินชิปปิ้ง ผู้ให้บริการเดินเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศรายใหญ่สุดของเกาหลีใต้ และอันดับ 7 ของโลก ได้ประสบกับภาวะการขาดทุนต่อเนื่องในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา และล่าสุด (31 ส.ค.59) คณะกรรมการบริหารของบริษัทได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์ต่อศาลนั้น

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า เรื่องดังกล่าว ขณะนี้ได้ส่งผลกระทบต่อส่งออกข้าวของไทยหลายบริษัทที่ใช้บริการของสายเดินเรือนี้เพื่อส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าที่ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าในยุโรป เพราะสินค้ายังไปไม่ถึงลูกค้าจากบริษัทเรือของเกาหลีใต้ประสบภาวะล้มละลาย และธนาคารเจ้าหนี้ได้ตามยึดเรือและสินค้าบนเรือเพื่อเป็นหลักประกันการใช้หนี้เอาไว้ก่อน

“เรื่องนี้เป็นคดีความ แบงก์เจ้าหนี้ต้องยึดเรือและสินค้าเอาไว้ก่อน ความเสียหายเกิดขึ้นแน่ เพราะข้าวที่เราส่งไปส่วนใหญ่ไม่เปิดแอล/ซี ปกติของไปถึงปลายทางแล้วคู่ค้าถึงจะจ่ายเงิน แต่ขณะนี้สินค้าหลายตู้ยังไปไม่ถึงลูกค้า และยังไม่ได้จ่ายเงิน ขณะที่บางรายจ่ายเงินแล้วแต่ยังไม่ได้ของ เรื่องนี้จะเจรจาต่อรองกันอย่างไร ผู้ส่งออกข้าวหลายรายกระทบแน่ เบื้องต้นทราบข้อมูลว่าบางรายส่งออกไปเป็นสิบตู้ บางราย 2-3 ตู้ก็มี ยังไม่ทราบว่าสุดท้ายแล้วจะออกรูปแบบไหน”

สอดคล้องกับนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ที่กล่าวว่า กำลังตรวจสอบและรวบรวมผลกระทบจากเรื่องดังกล่าวที่เกิดขึ้นกับสมาชิกของสมาคมว่าได้รับความเดือดร้อน หรือประสบปัญหาอย่างไรบ้าง เช่น เมื่อเรือไปถึงท่าเรือปลายทางในยุโรป จีน หรือฮ่องกงแล้วสามารถนำสินค้าขึ้นท่าได้หรือไม่ และผู้ซื้อและผู้ขายใครจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายค่าภาระหน้าท่า หรือค่าพิธีการขาเข้า จากปกติค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะรวมอยู่ในค่าระวางเรือ และสายเดินเรือจะเป็นผู้จ่าย ขณะที่หากเรือแม่ยังไปไม่ถึงประเทศปลายทาง เรือและสินค้าก็คงถูกยึดจะทำอย่างไรกันต่อไป

“ถือเป็นเรื่องที่ไม่คาดคิด ทางสมาคมกำลังรวบรวมข้อมูลผลกระทบและความเดือดร้อนของสมาชิกสำหรับปัญหาการขาดสภาพคล่องของฮันจินชิปปิ้งในครั้งนี้ ยังไม่ชัดเจนว่าทางการเกาหลีใต้จะเข้าไปเทกโอเวอร์กิจการหรือไม่ และใช้เวลาอีกเท่าไร หากไม่เทกโอเวอร์จะยุ่งยากมาก เพราะไม่มีใครรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ และเรือกับตู้สินค้าอาจต้องถูกเจ้าหนี้ยึดทั้งหมด ทำให้สินค้าในตู้ต้องมีการพิสูจน์ว่าใครเป็นเจ้าของ จะเสียเวลาและค่าใช้จ่ายมาก หากเป็นสินค้าที่เน่าเสียง่าย ทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของผู้ประกอบการในขณะนี้คือ ยกเลิกการส่งสินค้าผ่านช่องทางนี้ไปก่อน ส่วนสินค้าที่เตรียมส่งอยู่ที่ท่าเรือแล้วควรรับกลับมาก่อนเพื่อหาสายเรือใหม่”

ขณะที่นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) กล่าวว่า เรื่องนี้ทาง สรท.ได้ให้สมาชิกที่ได้รับความเดือดร้อนแจ้งเข้ามา เพื่อหาทางช่วยเหลือ เพราะมีหลายกรณีแตกต่างกันไป เช่น กรณีที่ซื้อขายเป็นราคาซีไอเอฟ(รวมค่าขนส่งถึงปลายทาง) โดยที่ผู้ส่งออกของไทยเป็นผู้รับผิดชอบค่าขนส่ง หากเรือเล็กอยู่ระหว่างการขนถ่ายจากไทยไปขึ้นเรือใหญ่ที่ท่าเรือในสิงคโปร์เพื่อใช้บริการของสายเดินเรือฮันจินต้องรีบเปลี่ยนเรือทันที แต่หากลูกค้าเป็นผู้รับภาระค่าขนส่ง และเรือออกไปแล้วก็ต้องบอกให้เอเยนต์จัดหาเรือประสานกับผู้ซื้อปลายทางว่าใครจะเป็นผู้รับภาระหากมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น

อนึ่ง บริษัทฮันจินชิปปิ้งฯ มีเรือบรรทุกตู้สินค้า และเรือขนส่งสินค้าทั้งหมด 150 ลำ มีเส้นทางเดินเรือประจำ 60 เส้นทางทั่วโลก บริษัทมีภาระหนี้สินถึงสิ้นปี 2558 ราว 5.6 ล้านล้านวอน หรือราว 1.73 แสนล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,190 วันที่ 8 - 10 กันยายน พ.ศ. 2559