จี้รัฐแก้ไขพ.ร.บ.โรงแรม ตัดตอนหนทางหากินธุรกิจผิดกฎหมาย

09 ก.ย. 2559 | 09:00 น.
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังการผลักดันให้ภาครัฐ มองเห็นความสำคัญในการแก้ไขปัญหาในธุรกิจโรงแรมไทย คือ อดีตนายกสมาคมโรงแรมไทย(ทีเอชเอ) อย่าง สุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร ที่เขาไม่เพียงใช้เวลากว่า 4-5 ปี ผลักดันจนไม่นานมานี้มีการออกกฎกระทรวงมหาดไทย กำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ.2559 เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่นำอาคารประเภทอื่นมาให้บริการที่พักแก่ประชาชนเป็นการทั่วไป สามารถปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้ประกอบกิจการโรงแรมได้อย่างถูกต้องกฏหมายเท่านั้น ยังมีเรื่องใหญ่และสำคัญที่รอการแก้ไข คือ การผลักดันการแก้ไข พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ.2547 เพื่อหวังตัดตอนการดำเนินธุรกิจของโรงแรมผิดกฎหมาย อ่านได้จากสัมภาษณ์นายสุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมโรงแรมไทย(ทีเอชเอ)

ชู 2 ประเด็นหลักแก้ไขพ.ร.บ.โรงแรม

ปัญหาของธุรกิจโรงแรมที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ไม่เพียงจะกระทบในเรื่องของความปลอดภัยเท่านั้น ยังส่งผลในแง่ที่ทำให้ประเทศชาติไม่ได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะไม่เพียงแต่จะเป็นการหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดปัญหาการตัดราคาค่าห้องพัก ทำให้ธุรกิจโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายได้รับผลกระทบในการดำเนินธุรกิจ

ดังนั้นเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหากล่าว จึงมีความจำเป็นที่ต้องสนับสนุนให้เกิดการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)โรงแรม พ.ศ.2547 ที่เขายังคงเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนผ่านทั้งทีเอชเอ และคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวและไมซ์ และเสนอเรื่องไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อสนับสนุนการแก้ไขพ.ร.บ.ดังกล่าว โดยการเสนอแก้ไขมีสาระสำคัญใน 2 เรื่อง

เรื่องแรก คือ การขอเพิ่มบทลงโทษ ในมาตรา 59 ของ พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ.2547 จากเดิมที่มีการ กำหนดบทลงโทษสำหรับโรงแรมที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องไว้ว่าต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ ขอแก้ไขโดยเพิ่มเบทลงโทษ ให้รุนแรงขึ้น โดยเป็นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1-5 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท-1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนโทษปรับรายวันยังคงไว้เท่าเดิม

ส่วนเรื่องที่ 2 คือ ขอให้มีการเพิ่มเติมสาระในกฎหมาย เรื่องของการกำหนดบทลงโทษ สำหรับผู้ที่ประสัมพันธ์การขายโรงแรม โดยไม่มีใบอนุญาตในการดำเนินธุรกิจ โดยกำหนดโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท ซึ่งต่อไปหากที่พัก ซึ่งไม่ถูกกฎหมายมีการโฆษณาและประชาสัมพันธ์การขาย ผ่านการจัดงานทราเวล เทรดต่างๆ หรือเว็บไซด์ต่างๆ ก็ต้องระวังโทษปรับที่จะเกิดขึ้นทันที ไม่ต้องรอจนครบองค์ประกอบการขายและรับเงินแล้ว จึงจะสามารถดำเนินคดีได้ ซึ่งที่ผ่านมาในกฎหมายของโรงแรมไม่ได้มีการระบุเรื่องเหล่านี้ไว้ ต่างจากการดำเนินธุรกิจทัวร์ ที่จะมีกำหนดไว้ในกม.การดำเนินธุรกิจนำเที่ยวว่า หากบริษัทไม่มีใบอนุญาตมาดำเนินการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์การขาย ก็จะมีโทษปรับเช่นกัน

อย่างไรก็ตามแก้ไขพ.ร.บ.ดังกล่าว ก็จะเป็นไปตามกระบวนการแก้ไขกฎหมายที่ต้องผ่านการพิจารณาจากสนช.ใน 3 วาระ ซึ่งในขณะนี้ทีเอชเอและคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ในส่วนของคณะทำงานด้านการปรับแก้ไขกฎหมายและกลไกภาครัฐ ก็สนับสนุนให้เกิดการแก้ไขพ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งก็เป็นกลไกที่ต้องขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การดำเนินการต่อไป

ขอสรรพากรขยายประกาศฉบับ266

นอกจากการผลักดันการแก้ไขพ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ. 2547 แล้ว เรื่องของการผลักดันให้รัฐบาลออกมาตรการจูงใจทางภาษี ให้ธุรกิจโรงแรมในประเทศไทยที่จดทะเบียนดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฏหมาย สามารถนำค่าใช้จ่ายในกรณีที่มีการปรับปรุงโรงแรม(รีโนเวท)มาใช้หักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจโรงแรม ที่มีแผนจะรีโนเวทโรงแรมอยู่แล้วในอีก 1 ปีหรือ 1 ปีครึ่งจากนี้ ร่นระยะเวลาการรีโนเวทมาให้เร็วขึ้นกว่าเดิมที่วางไว้ เพื่อให้สามารถนำค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มาหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า

"มาตรการทางภาษี ในเรื่องของรีโนเวทโรงแรม เดิมเคยคิดว่าจะนำเสนอผ่านไปยังคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ แต่ติดขัดเรื่องกฎหมายของบีโอไอ ที่ให้อำนาจการให้สิทธิประโยชน์ไว้เฉพาะโรงแรมที่ยื่นขอก่อสร้างใหม่ ไม่มีเรื่องของการรีโนเวทโรงแรม ซึ่งหากจะผ่านบีโอไอ ต้องมีการผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฏหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่วุ่นวายและต้องใช้เวลา แต่หากใช้ประกาศอำนาจของกระทรวงการคลัง หากได้รับการสนับสนุนก็จะสามารถดำเนินการได้ทันทีผ่านทางกรมสรรพากร"

โดยแนวคิดในเรื่องนี้ก็ได้รับการสนับสนุนจากกรมสรรพกร ในการออกประกาศกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ ฉบับที่ 266 เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้จ่าย เพื่อการลงทุนหรือต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้น ซึ่งทรัพย์สินแต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฏากร แต่เป็นการออกมารวมๆในเรื่องของทรัพย์สิน 4 รายการ ที่เข้าข่ายหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการยกเว้นภาษี ซึ่งธุรกิจโรงแรม ก็เป็น 1 ใน 4 รายการ คืออาคารถาวร แต่ไม่รวมถึงที่ดินและอาคารถาวรที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัย แต่ปัญหาคือ ช่วงเวลาที่กำหนดไว้ว่าต้องเกิดการลงทุนหรือการต่อเติม ในช่วง 3 พฤศจิกายน 2558-31 ธันวาคม 2559 ทั้งๆ ที่ประกาศดังกล่าวออกมาในช่วงเดือนพฤษภาคม 2559

ทำให้โรงแรมไม่สามารถดำเนินการรีโนเวทได้ทัน เพราะการวางแผนก็ใช้เวลากว่า 2-3 เดือน และอีกไม่นานก็สิ้นปีแล้ว ดังนั้นหากกรมสรรพากร สามารถขยายเวลาออกไปอีก 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ประกาศมีผลบังคับใช้ ก็จะช่วยให้โรงแรมตัดสินใจรีโนเวทโรงแรม ซึ่งที่ทีเอชเอ เสนอกม.ในเรื่องนี้ขึ้น ไม่ได้เป็นการช่วยโรงแรม เพียงแต่เป็นการใช้เรื่องของภาษีเพื่อจูงใจให้เกิดการรีโนเวทโรงแรม แต่คนที่ได้ประโยชน์คือเรื่องของการจ้างแรงงานที่จะเกิดขึ้น และจากการซื้อสินค้าต่างๆไม่ว่าจะเป็นพรม วอลเปเปอร์ อุปกรณ์ต่างๆในโรงแรม ที่รัฐบาลก็ยังได้ในเรื่องของการจัดเก็บภาษีได้ด้วย เพราะภาคโรงแรม ปัจจุบันถือว่ามีศักยภาพในการลงทุน

โดยผม ในสมัยที่เป็นอดีตนายกทีเอชเอ ก็ได้ประมาณการณ์ว่า จากสถิติของกระทรวงมหาดไทย พบว่าปัจจุบันมีโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฏหมาย อยู่ที่ราว 5 แสนห้อง ดังนั้นถ้ามาตรการทางภาษีดังกล่าวได้ความเห็นชอบจากรัฐบาล คิดเพียง 10% ของห้องพักที่มีการรีโนเวท ก็จะมีห้องพักที่จะรีโนเวท 5 หมื่นห้อง การลงทุนอยู่ที่ประมาณ 1 แสนบาทต่อห้อง นั่นหมายถึงจะทำให้เกิดการลงทุนในส่วนนี้ราว 5 พันล้านบาท

ให้โอกาส 5ปีดัดแปลงอาคารทำรร.

สำหรับในส่วนของการออกกฎกระทรวง กำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ.2559 ก็จะเป็นการให้โอกาสให้ผู้ประกอบการที่นำอาคารประเภทอื่นมาให้บริการที่พักแก่ประชาชนเป็นการทั่วไป ซึ่งลักษณะและโครงสร้างของอาคารที่มีอยู่เดิมไม่สอดคล้องกับอาคารที่จะนำมาประกอบธุรกิจโรงแรมตามที่กฏหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารกำหนด จึงทำให้อาคารดังกล่าวไม่สามารถขอรับใบอนุญาต เพื่อประกอบธุรกิจโรงแรมได้ ดังนั้นเพื่อให้อาคารที่มีอยู่แล้วสามารถขออนุญาตเปลี่ยนการใช้อาคารเพื่อประกอบธุรกิจโรงแรมได้ ทางกระทรวงมหาดไทยจึงได้ออกกฎกระทรวงนี้ขึ้นมา

โดยลดสเปกบางอย่างลงเพื่อให้อาคารต่างๆได้ปรับปรุงแก้ไขให้มีมาตรฐานความปลอดภัย สาระสำคัญ จะเป็นเรื่องช่องทางเดินในอาคาร สเปกเครื่องดับเพลิง บันไดหนีไฟ ซึ่งกฎหมายนี้กำหนดให้มีผลบังคับใช้ 5 ปีเท่านั้น เพื่อเกิดการจัดระเบียบในธุรกิจนี้ให้โอกาสปรับปรุงให้ถูกต้อง จากนั้นก็จะต้องดำเนินการกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในพ.ร.บ. โรงแรม ดังนั้นหลังจาก 5 ปีไปแล้ว ใครที่จะนำตึกแถวมาทำเป็นโรงแรมได้ รวมถึงการนำอาคารใหม่หรืออพาร์ทเม้นท์ มาแอบแฝงขายห้องพักรายวันเหมือนโรงแรม ก็จะถือว่าผิดกฏหมายและเจ้าหน้าที่สามารถดำเนินคดีได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,190 วันที่ 8 - 10 กันยายน พ.ศ. 2559