เร่งแก้‘รถติด’เป็นวาระแห่งชาติ ลุ้นความจริงใจรัฐบาล ‘บิ๊กตู่’

10 ก.ย. 2559 | 02:00 น.
ที่ผ่านมา แม้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่กรุงเทพมหานครจะพยายามใช้มาตรการต่างๆออกมาบังคับใช้ แต่ดูเหมือนว่าวันนี้ปัญหารถติดในพื้นที่กรุงเทพฯจะทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องในที่สุดเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯก็ได้รับการขยับอันดับเมืองหลวงที่มีสภาพการจราจรติดขัดเป็นอันดับ 1 ของโลกโดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วนไปเรียบร้อยแล้ว ส่งผลให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องออกมาสั่งการให้เร่งแก้ไขปัญหานี้โดยเร็ว หวั่นว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศและยังมีผลต่ออีกหลายด้านที่จะเกิดตามมา อาทิ มลพิษสิ่งแวดล้อมต่างๆ

[caption id="attachment_95775" align="aligncenter" width="500"] รถไฟฟ้า รถไฟฟ้า[/caption]

แม้ว่าช่วงที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมจะได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานครและ WBCSD (WBCSD Sustainable Mobility Project 2.0) ซึ่งเป็นรูปแบบการแก้ไขปัญหาจราจรโดยใช้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่มีประเทศญี่ปุ่นโดยมูลนิธิโตโยต้าโมบิลิตี้เข้ามาร่วมสนับสนุนโครงการสาทรโมเดลจะดำเนินโครงการไปแล้วก็ตามแต่ก็ยังไม่บรรลุผลสำเร็จเนื่องจากเป็นการบริหารจัดการเฉพาะพื้นที่เท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายจุดที่ยังเป็นปัญหาให้ต้องเร่งแก้ไขต่อไป

ล่าสุดนั้นกระทรวงคมนาคมโดยนายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคมได้เรียกประชุมคณะอนุกรรมการประสานการแก้ไขปัญหาจราจรและขนส่งระยะเร่งด่วนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ครั้งที่ 2/2559 เมื่อวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมารับลูกคำสั่งนายกรัฐมนตรีได้ทันท่วงที แต่ยังมีลุ้นว่าจะทำได้สำเร็จจริงหรือ???

สร้างที่จอดรถ 3 พื้นที่

นอกเหนือจากแนวคิดของนายกรัฐมนตรีที่จะให้ก่อสร้างที่จอดรถใต้ดินของถนนราชดำเนินเป็นระยะๆ ตั้งแต่สนามหลวงไปจนถึงพระบรมรูปทรงม้าแล้วนายชาติชายยังได้เปิดเผยถึงแนวทางการดำเนินการในพื้นที่ช่วงเกาะรัตนโกสินทร์ว่า จุดแรกคือ กำหนดแผนโครงการพัฒนาที่จอดรถใต้ดินบริเวณสวนนาคราภิรมย์และสโมสรข้าราชบริพาร ถนนมหาราชติดกับท่าเตียน พื้นที่รวม 7.5 ไร่ จำนวน 4 ชั้น สามารถรองรับได้ 700 คัน

นอกจากนั้นยังมีแผนก่อสร้างที่จอดรถใต้ดินบริเวณสวนรมณีนาถ ของกรุงเทพมหานคร พื้นที่ประมาณ 29 ไร่ อีกทั้งยังมีพื้นที่ใกล้กันคือบริเวณแนวถนนศิริพงษ์ช่วงด้านหน้าสวนรมณีนาถ พื้นที่ประมาณ 5 ไร่ นอกจากนั้นยังมีพื้นที่ที่จอดรถราชนาวีสโมสรอีกประมาณ 8 ไร่ ติดกับท่าเรือท่าช้างจะเสนอปรับปรุงให้เป็นที่จอดรถใต้ดิน 2 ชั้น

ประการสำคัญเนื่องจากถนนราชดำเนินที่มีแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วง เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ผ่านในพื้นที่ใกล้ป้อมมหากาฬ ใกล้อาคารเทเวศร์ประกันภัย และสายสีส้ม ตะวันตก ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ศูนย์ออกแบบการพัฒนาเมืองและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังได้เสนอแนวคิดการดัดแปลงอาคารหอภาพยนตร์เพื่อเป็นทางขึ้น-ลงสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินและอาคารจอดรถใต้ดินรองรับรถไฟฟ้าได้อย่างไร้รอยต่อ

[caption id="attachment_95774" align="aligncenter" width="500"] เรือโดยสาร เรือโดยสาร[/caption]

เร่งแก้ปัญหาช่วงถนนพระราม 9

โดยกองบัญชาการตำรวจนครบาลได้ขอรับการสนับสนุนตามที่สถานีตำรวจนครบาลมักกะสันเสนอขอเพิ่มผิวจราจรบนถนนคู่ขนานถนนพระราม 9 ช่วงหน้าสวนพรรณภิรมณ์ ซึ่งเป็นเส้นทางบริเวณแยกพระราม 9 ไปยังถนนประดิษฐ์มนูธรรมเพื่ออำนวยการจราจรให้รถที่มาจากถนนเอกมัยให้เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพระราม 9 ไปตัดกระแสรถทางตรงจึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเร่งจัดทำถนนตัดผ่านสวนพรรณภิรมณ์เพื่ออำนวยความสะดวกโดยเร็วต่อไป

ในอีกหนึ่งจุดที่ดูเหมือนว่าจะเป็นปัญหาด้วยเช่นกันคือแยกผ่านพิภพลีลาซึ่งกองบัญชาการตำรวจนครบาลได้เสนอปรับปรุงกายภาพบริเวณเกาะกลางบนสะพานผ่านภิภพลีลาด้วยการร่นหัวเกาะกลางถนนเพื่อรองรับรถที่ลงมาจากสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าให้สามารถเลี้ยวขวาได้โดยสะดวก

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงโครงการแก้ไขปัญหาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเท่านั้น แต่ใช่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนตราบใดที่ปริมาณรถในพื้นที่ยังไม่ถูกจำกัด และชาวกรุงเทพฯยังไม่หันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนอย่างรถเมล์และรถไฟฟ้าให้มากขึ้น ยังคงนิยมขับรถยนต์ส่วนตัวออกมาประกอบภารกิจประจำวันกรุงเทพก็คงจะยังมีปัญหาจราจรรุมเร้าอย่างนี้ต่อเนื่องไปอีกหลายปี ส่วนการจะให้รถทะเบียนเลขคู่ วิ่งวันคู่ และทะเบียนเลขคี่ วิ่งวันคี่ แนวคิดนี้ตกไปแล้ว เพราะคิดว่าคนทั่วไปคงไม่เอาด้วย

คงต้องติดตามกันต่อไปว่าท้ายที่สุดแล้วรัฐบาลจะงัดมาตรการใดออกมาประกาศใช้อีกและปัญหาจราจรจะสามารถคลี่คลายได้ในรัฐบาลนี้หรือไม่ สิ่งสำคัญทุกคนทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันปัญหาถึงจะแก้ไขลุล่วงไปได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,190 วันที่ 8 - 10 กันยายน พ.ศ. 2559