ลดแลกแจกแถมภาษีทำจัดเก็บรายได้ปี 60 สะเทือน!

07 ก.ย. 2559 | 01:00 น.
ที่ผ่านมาจะเห็นนายกรัฐมนตรี กำชับให้ทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายการเมืองและข้าราชการร่วมมือหาทางให้การจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2559 ที่จะจบลงในไม่กี่วัน ( 1 ต.ค.58- 30ก.ย. 59 ) ต้องให้ได้ตามเป้าหมาย 2.3 ล้านล้านบาท และหากจะดูจากตัวเลขจัดเก็บตามที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) รายงานในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 ( 1ต.ค.58-31ก.ค.59 ) ก็ดูจะไม่มีปัญหาเพราะยังสูงกว่าประมาณการด้วยซ้ำ

[caption id="attachment_94521" align="aligncenter" width="700"] มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ[/caption]

โดยรัฐสามารถจัดเก็บรายได้รวม 1.96 ล้านล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 9.16 หมื่นล้านบาท หรือ 4.9% และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 11.1% เพราะมีรายได้จากการประมูลใบอนุญาตในคลื่นความถี่ย่าน 900 และ 1800 MHz (4G) เข้ามาในปีนี้ถึง 5.62 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ดีเมื่อแยกเป็นรายกรม กรมสรรพากรจัดเก็บได้ 1.378 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 1.02 แสนล้านบาท หรือต่ำกว่า 6.9% แต่เทียบช่วงเดียวกันของปีแล้วยังสูงกว่า 1.2%,กรมศุลกากร จัดเก็บต่ำกว่าเป้าหมาย 6,018 ล้านบาท มีเพียงกรมสรรพสามิตสูงกว่าเป้าหมาย 1.8 หมื่นล้านบาท

แต่ที่เป็นห่วง น่าจะเป็นการจัดเก็บรายได้ปีงบประมาณ 2560 ( 1 ต.ค.59-30 ก.ย.60 ) มากกว่า

 มาตรการภาษีดันจีดีพีครึ่งแรกโต3.4%"

เพราะการเข้ามารับไม้ต่อจากชุดของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล มาเป็นดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เมื่อปลายเดือนสิงหาคม2558 อันเป็นจังหวะที่เศรษฐกิจไทยตกท้องช้าง ทั้งในเรื่องความเชื่อมั่น การบริโภค การลงทุนภาคเอกชน จนรัฐบาล "บิ๊กตู่" ต้องเดินนโยบายการคลังหรือคือมาตรการภาษี เป็นตัวกระตุ้นสำคัญ ทำให้เศรษฐกิจไทยโค้งท้ายปี2558 เติบโตได้ 2.8 % และในไตรมาส 1/20559,ไตรมาส 2/2559 ขยายตัว 3.2% และ3.5% ตามลำดับ หรือในครึ่งแรกของปีนี้ เศรษฐกิจไทยเติบโต3.4% ...

และนับตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้วถึงปัจจุบัน มาตรการภาษีคาดถูกนำมาใช้ เป็นเม็ดเงินน่าจะไม่น้อยกว่าแสนล้านบาท เป้าหมายเพื่อเป็นการลดภาระรายจ่ายให้ผู้บริโภค/ผู้ประกอบการ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างความเป็นธรรม (ข้อมูลสภาพัฒน์ รายงานอีกว่าเฉพาะช่วงก.ย.58 - เม.ย.59 รัฐบาลได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แล้ว 11 มาตรการ เป็นวงเงินรวม 6.71 แสนล้านบาท ( จำนวนนี้ไม่รวมมาตรการด้านภาษี ))

 เปิดมาตรการภาษีชุด "สมคิด"

มาตรการภาษีที่ได้ดำเนินการ อาทิ การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีกำไรสุทธิตั้งแต่ 300,001 บาทขึ้นไป จากที่เสียภาษีในอัตรา 15 และ 20 %ของกำไรสุทธิ เหลือ 10% เป็นเวลา 2 รอบระยะเวลาบัญชี (1 ม.ค.58ถึงรอบระยะเวลาบัญชี 31 ธ.ค.59 )รัฐเสียรายได้ภาษี 5,000 ล้านบาท และยังใช้มาตรการเดียวกันนี้จูงใจให้ SMEs จดแจ้งทำภาษีบัญชีเดียว

มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ รัฐยอมเสียรายได้ภาษี 16,000 ล้านบาท โดยให้ผู้ซื้อนำมูลค่าบ้านที่ซื้อ20 %ไปยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลฯ (เฉลี่ยเป็นเวลา 5ปี) แต่ทั้งนี้ต้องเป็นการซื้อและโอนกรรมสิทธ์ก่อนวันที่31 ธันวาคม 2559 นอกเหนือจากการลดค่าโอนและค่าจดจำนองเหลือ 0.01% เป็นระยะเวลา 6 เดือนและหมดไปเมื่อวันที่ 19 เมษายน ที่ผ่านมา มาตรการเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว/กระตุ้นการใช้จ่ายและบริโภคในช่วงเทศกาลต่างๆ เช่นช่วงสงกรานต์ที่ตีเป็นเม็ดเงินที่รัฐสูญเสียรายได้ 1,500 ล้านบาท

สำหรับตัวที่จะส่งฉุดการจัดเก็บรายได้ในงบประมาณปีหน้ามากพอ ก็คือการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคล ที่จะมีผลในปี 2560 ที่จะยื่นเสียภาษีกันในเดือนมีนาคม 2564 โดยให้เริ่มเสียภาษีเมื่อมีรายได้ 2.6 หมื่นบาทต่อเดือนขึ้นไป รัฐประเมินว่าจะสูญเสียรายได้ ในปีแรกถึง 3.2 หมื่นล้านบาท ( ตารางประกอบ )

 สร้างฐานลงทุนในปท.ระยะยาว

นอกจากนี้เพื่อเป็นการลดภาระรายจ่าย กระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการภาษีสำคัญในชุด ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ยังเพื่อสร้างฐานการลงทุนให้กับประเทศระยะยาว โดยการดึงดูดให้นักลงทุนไทยและต่างชาติเข้ามาลงทุน

เช่น การปรับอัตราภาษีเงินได้บุคคลลงเหลือ .20% เป็นการถาวร (เริ่ม 1ม.ค. 59 ) ,การยกเว้นภาษีใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ( S-curve) ,การปรับปรุงโครงสร้างอัตราอากรขาเข้าระยะที่ 1 และปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตเพื่อส่งเสริมกิจการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล มาตรภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ ( IHQ) และบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (ITC) ,มาตรการภาษีเพื่อรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ตลอดจนการแก้ไขพ.ร.บ.แก้ไจเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 39) พ.ศ. 2557 โดยให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินส่วนแบ่งกำไรจากห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลบางกรณี เป็นต้น

อย่างไรก็ดีมาตรการภาษีส่วนใหญ่จะไปสิ้นสุดเดือนธันวาคม 2559 ดังนั้นแน่นอนผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้จะเห็นชัดในปีงบประมาณ 2560 ขณะที่แหล่งรายได้ นอกเหนือจากความพยายามของกรมสรรพากรที่จะขยายฐานภาษี จากแรงงานทั้งระบบกว่า 30 ล้านคน แต่ปัจจุบันมีผู้ยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10.9 ล้านคน และเสียภาษีเพียง 3-4 ล้านคน หรือภาษีนิติบุคคลมีผู้ยื่นเสียภาษีเพียง4 แสนราย จากนิติบุคคลที่ยื่นแบบ 6 แสนราย

 สรรพากรคาดจัดเป็นปี60ที่ 1.8 ล้านล้าน

ส่วนรายได้ภาษีใหม่ที่จัดเก็บบนฐานทรัพย์สิน อาทิ ภาษีมรดกที่บังคับใช้ไปแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 คลังประเมินจะจัดเก็บได้เพียง 0.001 % ของจัดเก็บภาษีรวมหรือเพียง 2,000 ล้านบาท เช่นเดียวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่จะบังคับใช้ปี 2560 รัฐคาดสร้างรายได้เพิ่ม 38,300 ล้านบาท เป็น 64,000 ล้านบาท ขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี2560 ที่พอจะเป็นความหวังหนุนให้การจัดเก็บรายได้ปีหน้าขยับตามนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประมาณว่าจีดีพีปี 2560 จะขยายตัว 3.2 % ใกล้เคียงกับปีนี้ที่คาดว่าจะโต 3.1%

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงแนวทางการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านเครื่องมือทางการคลัง หรือที่เรียกกันว่า มาตรการทางภาษี โดยเน้นไปที่การปรับลดอัตราทางภาษีเพื่อจูงใจนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงการปรับลดภาษีตามการค้าโลก เหลือ 0% แน่นอนย่อมส่งผลให้กระทบต่อประสิทธิการจัดเก็บรายได้ ซึ่งมีการประเมินว่า รายได้หายไปจากระบบไม่ต่ำกว่า 3-5 หมื่นล้านบาท มีผลครอบคลุมในช่วง 3-5 ปีของปีภาษี

สอดคล้องนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวกับ"ฐานเศรษฐกิจ "ว่ามาตรการภาษี ย่อมส่งผลต่อรายได้จัดเก็บของรัฐไม่มากก็น้อย โดยประมาณว่าสิ้นปีงบ 2559 กรมสรรพากรจะจัดเก็บภาษีได้ประมาณ 1.75 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1.4 แสนล้านบาท (เป้าหมายที่ 1.89 ล้านล้านบาท ) และประมาณว่าในปีงบประมาณ 2560 กรมสรรพากรจะจัดเก็บรายได้ 1.8 ล้านล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,187 วันที่ 4 - 7 กันยายน พ.ศ. 2559