ถนนราชพฤกษ์ตอน 3 ขยายเส้นทางโลจิสติกส์กรุงเทพฯโซนตะวันตก

08 ก.ย. 2559 | 01:00 น.
โดยกรมทางหลวงชนบท(ทช.) เป็นเจ้าของโครงการซึ่ง "ถนนราชพฤกษ์" ได้ก่อสร้างและเปิดใช้บริการมาตั้งแต่ปี 2546 ปัจจุบันมีปริมาณการจราจรประมาณ 5.5 หมื่นคันต่อวัน ส่งผลให้ถนนราชพฤกษ์ไม่สามารถรองรับการจราจรที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ ทำให้ประสิทธิภาพของถนนราชพฤกษ์ลดลง ก่อให้เกิดปัญหาด้านความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน และยังพบอีกว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นเป็นประจำ

[caption id="attachment_94729" align="aligncenter" width="700"] โครงการก่อสร้างขยายถนนราชพฤกษ์ ระยะที่ 2 ตอนที่ 3 โครงการก่อสร้างขยายถนนราชพฤกษ์ ระยะที่ 2 ตอนที่ 3[/caption]

ดังนั้น ทช.จึงได้มีการปรับปรุงด้วยการขยายถนนราชพฤกษ์ทั้ง 3 ตอนอย่างต่อเนื่อง ด้วยการก่อสร้างเส้นทางเพื่อแบ่งแยกรถทางหลักและทางบริการออกจากกัน โดยก่อสร้างเส้นทางดังกล่าวนี้ออกเป็น 10 ช่องจราจร โดยตอนที่ 2 ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้งานเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา

ล่าสุด ทช.เตรียมเสนอของบประมาณจำนวน 1,236 ล้านบาทในปี 2560 เพื่อขยายถนนราชพฤกษ์ ตอนที่ 3 ช่วงจากถนนรัตนาธิเบศร์-ทางหลวงหมายเลข 345 รวมระยะทางประมาณ 8.3 กิโลเมตร ประกอบไปด้วย 1.งานก่อสร้างขยายสะพานข้ามคลองบางบัวทอง ขนาด 2 ช่องจราจร สะพานความยามรวม 340 เมตร รวม 2 สะพาน 2.งานก่อสร้างขยายสะพานข้ามคลองข่อย ขนาด 2 ช่องจราจร ความยาว 340 เมตร รวม 2 สะพาน 3.งานก่อสร้างขยายถนนลาดยาง ขนาด 2 ช่องจราจร ขยายจาก 6 ช่องจราจร เป็น 10 ช่องจราจร ความยาว 6.1 กิโลเมตร และ 4.งานก่อสร้างอื่นๆอาทิ เกาะกลาง ทางเท้า ระบบระบายน้ำ ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง เป็นต้น

แต่ด้วยปัจจุบันถนนราชพฤกษ์เป็นถนนสายหลักที่สำคัญของพื้นที่ฝั่งตะวันตกของกรุงเทพมหานคร แนวเส้นทางค่อนข้างตรง และระยะทางยาวจึงสามารถใช้ความเร็วได้ส่งผลให้การก่อสร้างเส้นทางดังกล่าวนี้ต้องระมัดระวังการเชื่อมเข้าไปยังเส้นทางหลักเพื่อลดอันตรายให้มีความปลอดภัยมากขึ้น อีกทั้งยังพบอีกว่ามีร้านค้า อาคารพาณิชย์ จำนวนมากจอดรถริมถนนทำให้เกิดการกีดขวางจราจร

เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จคาดว่าจะสามารถขยายเส้นทางเดินรถจาก 6 ช่องจราจรเป็น 10 ช่องจราจรได้ตลอดแนวเส้นทาง เกิดความต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหาจราจร ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานของถนนราชพฤกษ์มากขึ้น ลดการกีดขวางหรือรบกวนจราจรบนเส้นทางหลัก ทำให้สามารถขับขี่ได้อย่างคล่องตัว ป้องกันอุบัติเหตุ แก้ไขปัญหาน้ำท่วมขับบนถนนราชพฤกษ์ อีกทั้งยังประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาในการซ่อมบำรุงและช่วยเพิ่มอายุการใช้งานของถนนราชพฤกษ์มากยิ่งขึ้น โดยทช.จะเร่งเปิดประกวดราคาหาผู้รับจ้างให้แล้วเสร็จตามแผนต่อไป อดใจรอสักนิดภายใน 1-2 ปีนี้จะได้ทยอยใช้เส้นทางได้อย่างสะดวกสบายและปลอดภัยมากขึ้นกับอีกหนึ่งเส้นทางโลจิสติกส์เชื่อมโยงพื้นที่โซนตะวันตกของกรุงเทพมหานคร

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,187 วันที่ 4 - 7 กันยายน พ.ศ. 2559