‘จีพีเอสซี’ โหมลงทุนไฟฟ้า จับตลาดเพื่อนบ้านขยายกำลังผลิต

01 ก.ย. 2559 | 03:00 น.
จากความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ นับวันเพิ่มสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลให้ธุรกิจไฟฟ้ายังเป็นที่สนใจของนักลงทุน ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่วันนี้ได้แตกไลน์ลุยธุรกิจไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น โดยมีบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือจีพีเอสซี เป็นหัวหอกในการดำเนินธุรกิจไฟฟ้าและสาธารณูปโภค จากเดิมที่จีพีเอสซีเน้นการขยายธุรกิจไฟฟ้าภายใต้การขยายงานของกลุ่ม ปตท. ควบคู่กันไป แต่ปัจจุบันพบว่ามีการขยายลงทุนนอกกลุ่ม ปตท. มากขึ้น

แต่ท่ามกลางการแข่งขันในธุรกิจไฟฟ้าที่มีค่อนข้างสูง ประกอบกับภาครัฐยังไม่มีนโยบายเปิดรับซื้อไฟฟ้าในโครงการใหญ่ จะมีเพียงการเปิดรับซื้อเฉพาะในส่วนพลังงานทดแทนเท่านั้น ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มุ่งที่จะขยายงานออกไปต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งความท้าทายที่เกิดขึ้นนี้ นายเติมชัย บุนนาค กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ จีพีเอสซีได้ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงการดำเนินธุรกิจไฟฟ้าหลังจากนี้ไปอย่างน่าสนใจ

มองทิศทางการเติบโตทั้งใน/ตปท.

โดยนายเติมชัย ชี้ให้เห็นว่า นโยบายการเติบโตของบริษัท แบ่งเป็นควิกวิน (Quick Win) คือหาโอกาสการลงทุนในโรงไฟฟ้าที่สามารถสร้างรายได้ หรือรับรู้ผลกำไรได้ทันที อาทิ การพัฒนาธุรกิจพลังงานทดแทนในประเทศ ปัจจุบันได้มีการพัฒนาธุรกิจโรงแยกขยะ รวมถึงไบโอแมสและโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มทั้งในไทยและญี่ปุ่น หรือการเข้าทำ M&A ในธุรกิจไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่นโยบายบิ๊กวิน(Big Win) คือหาโอกาสพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ (Develop Green Filed Project) ในกลุ่มประเทศเป้าหมาย เช่น สปป.ลาว เมียนมา และอินโดนีเซีย เพื่อให้จีพีเอสซีสามารถเติบโตอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า การขยายธุรกิจไฟฟ้าในประเทศถือว่าค่อนข้างอิ่มตัว เพราะรัฐบาลไม่ได้เปิดรับซื้อไฟฟ้าสำหรับโครงการใหญ่หรือไอพีพีในช่วง 5-10 ปีนี้ มีเพียงเฉพาะการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน และรับซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กหรือเอสพีพีเท่านั้น ทำให้ผู้ประกอบการทุกรายที่อยู่ในธุรกิจนี้ ต่างหันมาลงทุนด้านนี้มากขึ้น และส่วนหนึ่งต้องออกไปแสวงหาการลงทุนในต่างประเทศแทน

โดยที่ผ่านมาบริษัท ได้เข้าไปลงทุนไว้ 7 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตตามสัดส่วนถือหุ้นอยู่ที่500 เมกะวัตต์ จะทยอยแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2559-2562 ส่งผลให้บริษัทจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 1.92 พันเมกะวัตต์ในปี 2562 จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.4 พันเมกะวัตต์

ใช้8พันล้านลงทุนช่วง4ปี

สำหรับความคืบหน้า 7 โครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ได้แก่ 1.โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์ฟาร์ม) ที่ร่วมกับสหกรณ์เลี้ยงกุ้งจันทบุรี จำกัด ซึ่งเป็นโครงการโซลาร์ฟาร์มสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร กำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ (บริษัทถือหุ้น 100%) 2.โครงการโรงไฟฟ้าของบริษัท บางปะอิน โครเจนเนอเรชั่น จำกัด (BIG2 SPP) เฟส 2 กำลังการผลิตไฟฟ้า 117 เมกะวัตต์ และผลิตไอน้ำ 20 ตันต่อชั่วโมง (บริษัทถือหุ้น 25%) ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง คาดว่าจะจ่ายไฟเข้าระบบกลางปี 2560

3.โครงการโรงไฟฟ้าไออาร์พีซี คลีนพาวเวอร์ เฟส 2 กำลังการผลิตไฟฟ้า 240 เมกะวัตต์และไอน้ำ 180-300 ตันต่อชั่วโมง (บริษัทถือหุ้น 51%) กำลังผลิตถือครองตามสัดส่วนการถือหุ้น 122 เมกกะวัตต์ คาดจ่ายไฟเข้าระบบปี 2560 ,4.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Ichinoseki Solar Power 1 GK (ISP1) ประเทศญี่ปุ่น (บริษัทถือหุ้นอยู่ 99%) คาดว่าจะจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ไตรมาส 4 ปี 2560 ซึ่งมีขนาดกำลังการผลิต 20.8 เมกะวัตต์

5.โครงการศูนย์กลางผลิตระบบสาธารณูปโภค CUP4 เป็นโครงการเอสพีพี โครเจนฯ มีกำลังการผลิต 45 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 70 ตันต่อชั่วโมง (บริษัทถือหุ้นอยู่ 100%) ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง คาดว่าจะจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ไตรมาส 1 ปี 2561 ,6.โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำลิก1 ในสปป.ลาว มีกำลังการผลิตทั้งสิ้น 65 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้าเขื่อนน้ำลิก (บริษัทถือหุ้นอยู่ 40%) คาดว่าจะจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ปี 2561 โดยกำลังผลิตถือครองตามสัดส่วนการถือหุ้น 26 เมกะวัตต์ และ7.โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ในสปป.ลาว (XPCL-IPP) มีกำลังการผลิต 1.28 พันเมกะวัตต์ (บริษัทถือหุ้นอยู่ 25%) คาดว่าจะจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาส 4 ปี 2562 กำลังผลิตถือครองตามสัดส่วนการถือหุ้น 321 เมกกะวัตต์

โดยในปีนี้บริษัทรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าไออาร์พีซี คลีนพาวเวอร์ (IRPC-CP) เต็มปี (บริษัทถือหุ้น 51%) และในปี 2559 จะเริ่มรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้านวนคร (บริษัทถือหุ้น 30%) กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น 38 เมกะวัตต์ ของกำลังการผลิตทั้งสิ้น 125 เมกะวัตต์

มองหาโอกาสลงทุนนอกกลุ่มปตท.

สำหรับเม็ดเงินลงทุนของบริษัทในแต่ละปีนั้นจะไม่เท่ากัน ซึ่งจะขออนุมัติจากบริษัทแม่ก็ต่อเมื่อมีความชัดเจนด้านโครงการลงทุน โดยปัจจุบันบริษัทอยู่ในช่วงศึกษาขยายโครงการโรงไฟฟ้านอกกลุ่ม ปตท. ทั้งในและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น แต่จะเน้นไปต่างประเทศเป็นหลักและมีหลายประเทศที่สนใจศึกษาลงทุนอาทิ เมียนมา สปป.ลาว เวียดนาม และอินโดนีเซีย

ทั้งนี้ การลงทุนในต่างประเทศจำเป็นต้องระมัดระวังเพื่อให้เกิดความเสี่ยงน้อยที่สุด ซึ่งจากประสบการณ์ที่ได้เข้าไปลงทุนในสปป.ลาว ในเขื่อนผลิตไฟฟ้า 2 โครงการ ทำให้บริษัทมีความชำนาญเพิ่มมากขึ้น และมองเห็นโอกาสที่จะขยายการลงทุนได้อีก ขณะที่โครงการลงทุนในเมียนมา ที่ผ่านมาบริษัทมีการบันทึกข้อตกลงร่วมกัน(เอ็มโอยู) ไว้แล้ว 3โครงการ และแม้ว่ารัฐบาลเมียนมาจะเปลี่ยนแปลง แต่โชคดีที่เอ็มโอยูที่ทำร่วมกันไว้ไม่เปลี่ยนแปลงตาม แต่อาจมีรายละเอียดเพิ่มเติมมากขึ้น

โดยเอ็มโอยูที่บริษัททำร่วมกับเมียนมา ได้แก่ โรงไฟฟ้าก๊าซที่เมืองย่างกุ้ง กำลังการผลิต 400 เมกะวัตต์ ,โรงไฟฟ้าก๊าซที่เมืองอิรวดี กำลังการผลิต 500 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าถ่านหิน 1.8-2 พันเมกะวัตต์ นอกจากนี้จากการหารือกับทางรัฐบาลเมียนมา ยังมีการเจรจาโครงการคลังก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) FSRU เพื่อเสริมก๊าซในระบบเมียนมาด้วย

ขณะที่โครงการลงทุนในอินโดนีเซีย ปัจจุบัน ปตท.มีโครงการเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซีย ดังนั้นบริษัทจึงต้องการต่อยอดธุรกิจไฟฟ้า เบื้องต้นอาจเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน 2 แห่ง อาจเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินปากเหมืองก็ได้ แต่คงต้องศึกษากลุ่มลูกค้าก่อน หากลงทุนขนาด 2 พันเมกะวัตต์ คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 1 หมื่นล้านบาท ขณะที่การลงทุนในเวียดนามนั้น ส่วนตัวมองว่า ถ้าเป็นการลงทุนเฉพาะโรงไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวนั้น ยังมีความเสี่ยง เนื่องจากรัฐบาลเวียดนามยังไม่ส่งเสริมการลงทุนดังกล่าวมากนัก

ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการโซลาร์ฟาร์ม ที่เมืองอิชิโนเซกิ จังหวัดอิวาเตะ ทางตอนเหนือของเกาะฮอนชู ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้การลงทุนของบริษัท อิชิโนเซกิ โซล่า พาวเวอร์1จีเคฯ (Ichinoseki Solar Power 1 G.K. หรือ ISP1) ซึ่งบริษัทถือหุ้น 99% ล่าสุดการเตรียมความพร้อมของพื้นที่ก่อสร้างมีความคืบหน้าไปกว่า 56% และพร้อมจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในไตรมาส 4 ปี 2560

โดยบริษัทตั้งเป้าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนทั้งในและต่างประเทศในปี 2562 (ไม่รวมเขื่อน)ประมาณ 10% ของกำลังการผลิตทั้งหมดจากปัจจุบันมีสัดส่วนเพียง 2-3% เท่านั้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,187 วันที่ 1 - 3 กันยายน พ.ศ. 2559