สศช.เผยเลิกจ้างงาน Q2พุ่ง 31% หนี้ครัวเรือนลงเหลือ 81%ของจีดีพี

01 ก.ย. 2559 | 05:00 น.
สศช.เผยสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไตรมาส 1/2559 ขยายตัวชะลอ 4.7% ตามการเพิ่มของสินเชื่อเพื่ออุปโภคที่เพิ่มในอัตราชะลอ มีสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีที่ 81.1% ขณะที่ตัวเลขว่างงานในกลุ่มผู้เคยทํางาน ไตรมาส 2/2559 พุ่ง 31.3% สอดคล้องกับข้อมูลผู้ประกันตน พบกรณีเลิกจ้างเพิ่ม 34.8%

[caption id="attachment_92463" align="aligncenter" width="700"] หนี้ครัวเรือน (สินเชื่อจากสถาบันการเงิน) หนี้ครัวเรือน (สินเชื่อจากสถาบันการเงิน)[/caption]

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 2/2559 พบว่าในส่วนของหนี้สินครัวเรือน ณ สิ้นไตรมาส 1/2559 มีมูลค่ารวม 11,077,755 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 4.7% ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจากที่ขยายเพิ่มในอัตรา 11.5% , 6.6% และ 5.2% ในปี 2556 ,2557 และปี2558 ตามลำดับ

โดยหนี้ครัวเรือนคิดเป็นสัดส่วน 81.1% ต่อจีดีพีลดลงจากร้อยละ 81.5% ในปี 2558 ซึ่งสะท้อนจากยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ ที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจาก11.5% ในปี 2556 เป็น 7.4% , 6.3% และ 6.0 % ในปี 2557,ปี 2558 และไตรมาส2/ 2559 ตามลำดับ

ทั้งนี้สัดส่วน 51% ของยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล เป็นสินเชื่อเพื่อการซื้อที่อยู่อาศัย อสังหาริมทรัพย์และที่ดิน เพิ่มขึ้น 9.0% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการลดค่าธรรมเนียมสำหรับการจด ทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ที่มีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 28 เมษายน 2559 ส่วนสินเชื่อเพื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์มีสัดส่วนรวมกัน 23% มียอดหนี้เพิ่มขึ้น 1.6% เป็นผลมาจากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ ที่มีการแข่งขันมากขึ้น ส่วนสินเชื่อเพื่อการบริโภคอื่นๆสัดส่วน 26% มียอดหนี้เพิ่มขึ้น 4.1 %

ในขณะที่การผิดนัดชำระหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคชะลอตัวลง โดยในไตรมาส2/2559 มีมูลค่า 98,200 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 4.0% คิดเป็นสัดส่วน 26.3% ของหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีรวม และคิดเป็นสัดส่วน 2.6% ของสินเชื่อรวม โดยการผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้ การกำกับมีมูลค่า 10,527 ล้านบาท ลดลง 33.1% คิดเป็นสัดส่วน 3.2% ของยอดสินเชื่อคงค้าง ส่วนการผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไป ในส่วนของสินเชื่อบัตรเครดิตมีมูลค่า 9,885 ล้านบาท เพิ่มในอัตราชะลอตัว 3.0% และคิดเป็นสัดส่วน 3.1% ของยอดสินเชื่อคงค้าง

ส่วนสถานการณ์การจ้างงานในไตรมาส 2/ 2559 จากรายงานของสศช. ในภาพรวมมีการจ้างงาน37,393,472 คน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 0.9% โดยภาคเกษตรลดลง 6.2% ซึ่งแม้ว่าภัยแล้งสิ้นสุดลง แต่จากสถานการณ์ภัยแล้งที่สะสมมาตั้งแต่ฤดูกาลเพาะปลูกปี 2557 ทำให้กิจกรรมทางการเกษตรลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 9

ส่วนภาคนอกเกษตรมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 1.4% เป็นการเพิ่มขึ้นในสาขาการก่อสร้าง ,ขนส่ง, โรงแรมและภัตตาคาร และการค้าปลีก 5.4% ,1.4%, 4.0% และ 1.4% ตามลําดับ ขณะที่สาขาการผลิตมีการจ้างงานที่ลดลง 1.7%

ด้านการว่างงานในไตรมาส 2/2559 มีจำนวน 411,124 คน เพิ่มขึ้น 22.3% คิดเป็นอัตราการว่างงานเท่ากับ 1.08% เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2558 ที่ 0.88% โดยผู้ที่ทั้งเคยและไม่เคยทํางานมาก่อนมีการว่างงาน เพิ่มขึ้น 31.3% และ 13.7 %ตามลําดับ สอดคล้อง กับข้อมูลผู้ประกันตน ที่ขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทน กรณีว่างงานที่เพิ่มขึ้น 8.9% ซึ่งเป็นการว่างงานจากกรณีเลิกจ้าง เพิ่มขึ้น 34.8% และจากกรณีลาออกเพิ่มขึ้น 3.4% ขณะที่ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทํางานมาก่อนเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเนื่องจากเป็นผู้จบการศึกษาใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานแต่ตำแหน่งงานไม่ขยายตัว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,187 วันที่ 1 - 3 กันยายน พ.ศ. 2559