แนะนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยก้าวทันเทคโนฯใหม่

28 ส.ค. 2559 | 03:00 น.
นักวิชาการไอที แนะซอฟต์แวร์ไทยปรับตัว สร้างนวัตกรรมรองรับเทคโนโลยีใหม่ หลังแนวโน้มเติบโตชะลอตัว ล่าสุดซิป้าเผยตัวเลขสำรวจปี 58 พบโตเพียง 1.2% มูลค่ารวม 52,561 ล้านบาท ขณะที่ปี 59 คาดโต 4.4%

[caption id="attachment_90395" align="aligncenter" width="700"] มูลค่าและอัตราการเติบโตของซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ มูลค่าและอัตราการเติบโตของซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์[/caption]

รศ.ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการสถาบันไอเอ็มซี เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าแนวโน้มธุรกิจซอฟต์แวร์ และซอฟต์แวร์สำเร็จรูปมีการชะลอการเติบโต เนื่องจากการมาของเทคโนโลยีใหม่ ทั้งการนำซอฟต์แวร์ไปใช้บริการอื่นๆ ผ่านระบบคลาวด์ (SaaS :Software as a Service) ทำให้กลุ่มผู้บริโภคและองค์กรขนาดกลางและเล็กหรือเอสเอ็มอี หันไปใช้บริการดังกล่าวมากขึ้นนอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากการมาของเทคโนโลยี คลาวด์คอมพิวติ้ง บิ๊กดาต้า และ อินเตอร์เน็ตออฟธิงก์

ทั้งนี้มองว่าผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทย ต้องเร่งปรับตัวสร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้นมาให้บริการบนซอฟต์แวร์ ส่วนปัญหาของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย ยังอยู่ที่ภาคการศึกษาที่ถาบันการศึกษาผลิตบุคลากรไม่ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา ต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่ภาคอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เรียกร้องมาตลอด คือเรื่องของการนำการแปลงสินทรัพย์ซอฟต์แวร์เป็นทุน

นางสุวิมล เทวะศิลชัยกุล รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือซิป้า กล่าวว่าล่าสุดซิป้าได้ร่วมกับสถาบันไอเอ็มซีสำรวจมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ปี 2558 พบว่ามีมูลค่ารวม52,561 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปี 2557เพียง 1.2% เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจทำให้การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ทั้งในภาครัฐและเอกชนชะลอตัวตามแต่ทั้งนี้ในกลุ่มธุรกิจขนาดกลาง ซึ่งมีรายได้ระหว่าง 100-500 ล้านบาทกลับมีอัตราการเติบโตทางธุรกิจเนื่องจากกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้พึ่งพิงกับโครงการขนาดใหญ่อย่างไรก็ตามคาดว่าในปี 2559 มูลค่าการผลิตซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ จะมีการเติบโต 4.4% โดยมีมูลค่ากว่า 54,893ล้านบาท ขณะที่ปี 2560 คาดว่ามีมูลค่ากว่า 57,257 ล้านบาท เติบโต 4.3%

นอกจากนี้ผลการสำรวจด้านซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัวประจำปี 2558 มีมูลค่ารวม 6,039 ล้านบาท เติบโตขึ้น 3.5% จากปีก่อน อย่างไรก็ตามคาดการณ์ว่ามูลค่าการผลิตซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัวจะเติบโต กว่า 5% ในปี 2559 และ 6.9% ในปี 2560 ส่วนมูลค่าการส่งออกซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ ปี 2558 ของไทยมีมูลค่า 3,330 ล้านบาท เติบโตขึ้น 0.3% ขณะที่การนำเข้าซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์จากต่างประเทศมีมูลค่า 32,944 ล้านบาท และซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์เพื่อการพัฒนาในองค์กร (In-House) มีมูลค่า 14,903 ล้านบาท

ทั้งนี้การดำเนินการปีนี้ได้ทำการสำรวจกลุ่มสถาบันการศึกษาที่ผลิตบัณฑิตด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์และสารสนเทศเป็นปีแรกพบว่า บัณฑิตสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ ประจำปี 2556 มีจำนวน 12,619 คน ซึ่งมีแนวโน้มลดลง นอกจากนี้ยังได้ทำการรวบรวมข้อมูลกลุ่มผู้ประกอบการรายใหม่ด้านเทคโนโลยี (Tech Startup) พบว่ามีจำนวน 348 รายในประเทศไทย และมีมูลค่าการระดมทุนที่เปิดเผยได้กว่า 1,188 ล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,187 วันที่ 28 - 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559