เอกชนเฮ!ครม.ผ่าน 4 ร่าง กฎหมายเอื้อลงทุน

26 ส.ค. 2559 | 11:30 น.
นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี( ครม.) (23 ส.ค.59 )ได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) 4 ฉบับรวด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ประกอบด้วย

[caption id="attachment_89839" align="aligncenter" width="335"] หิรัญญา สุจินัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) หิรัญญา สุจินัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)[/caption]

ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน แก้ไขเพิ่มเติมจากปี 2520 สาระคือ เพื่อเพิ่ม ส่งเสริมการลงทุนใหม่ให้กับบีโอไอ ทั้งยังกำหนดให้สามารถยกเว้นภาษีเงินได้เป็นเวลา 13 ปี สำหรับกิจการที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง การวิจัยและพัฒนา ส่วนกิจการใดที่คิดว่าอยากให้การส่งเสริม แต่ไม่สามารถยกเว้นภาษีได้ก็ให้ลดหย่อนภาษีแทน โดยจะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้ไม่เกิน 50% เป็นเวลาไม่เกิน 10 ปี หรือหากไม่ได้รับการยกเว้นและลดหย่อน อาจหักเงินลงทุนได้ไม่เกิน 70% ของเงินที่ลงทุนแล้วจากกำไรสุทธิ ภายใน 10 ปีนับแต่วันที่มีรายได้ นอกจากนี้กำหนดให้ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับของนำเข้ามาเพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการทดสอบที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

ส่วนร่างพ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ การจัดการกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย สาระสำคัญ เป็นการต่อยอดจากร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฯข้างต้น โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีหน้าที่กำหนดกรอบ แนวทางการเจรจาและสิทธิประโยชน์ที่จะให้ มีอนุกรรมการสรรหาและเจรจา รองนายกฯที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน บีโอไอเป็นฝ่ายเลขาฯ เป็นต้น มีกองทุนประเดิม 1หมื่นล้านบาท ให้สิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นจากบีโอไอ อาทิ สามารถยกเว้นภาษีนิติบุคคลได้เป็นเวลา 15 ปี และให้เงินสนับสนุนจากกองทุนสำหรับค่าใช้จ่ายของบริษัทที่ใช้ในการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา การส่งเสริมนวัตกรรมและบุคลากร เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการในพื้นที่มีประสิทธิภาพ เกิดการบูรณการ ให้บริการแบบจุดเดียวแบบเบ็ดเสร็จ โดยสาระสำคัญ คือ กำหนดนิยามของคำว่า “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” หมายถึงเขตพื้นที่เฉพาะที่ครม.ประกาศกำหนดเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคอันจำเป็น และการให้บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จใจเขตพื้นที่นั้น รวมทั้งให้สิทธิประโยชน์ในเขตพื้นที่นั้น เป็นต้น รวมใน 10 จังหวัด อาทิ ตาก สระแก้ว สงขลา นราธิวาส กาญจนบุรี เป็นต้น

พร้อมกำหนดให้มีองค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีหน้าที่เสนอแนะ ครม.ในการกำหนดนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยนายกฯเป็นประธาน เลขาฯสภาพัฒน์ เป็นเลขาธิการ กำหนดให้ ผู้ว่าราชการจังหวัด มีหน้าที่จัดตั้งศูนย์วันสต็อปเซอร์วิสในเขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดนั้นๆ รวมถึงสามารถอนุมัติอนุญาตตามกฎหมาย 9 ฉบับ อาทิ กฎหมายควบคุมอาคาร โรงงาน ผังเมือง กฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดิน เป็นต้น ขณะที่ครม.จะพิจารณาเรื่องของสิทธิประโยชน์

รวมถึงร่างพ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมจากปี 2522 สาระสำคัญ คือ กำหนดให้ผู้ว่าการการนิคมฯ มีอำนาจในกฎหมาย 9 ฉบับภายในการนิคมนั้นๆเพื่อให้สอดคล้องกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ต่อเรื่องนี้นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นนโยบายที่ภาครัฐและบีโอไอพูดกันมาระยะหนึ่งแล้วโดยเฉพาะการยกเว้นภาษีเงินได้เป็นเวลา13 ปี สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีเรื่องนวัตกรรมและการวิจัยและพัฒนามาเกี่ยวข้อง ซึ่ง 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้น่าจะได้ประโยชน์ รวมถึงการจัดการกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งเรื่องนี้ในแง่ภาคเอกชนมองว่า เป็นเรื่องดีที่จะช่วยจูงใจให้นักลงทุนไทยและต่างชาติสนใจลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น และอุตสาหกรรมก็ก้าวไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ที่ไฮเทค ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่จะเดินไปสู่อุตสาหกรรม 4.0ได้เร็วขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,186 วันที่ 25 - 27 สิงหาคม พ.ศ. 2559