ผนึกสอบ‘ม่านฟ้ากรุ๊ป’ หวั่นซ้ำรอยแชร์ ‘แม่ชะม้อย’ผิดเจอโทษแพ่ง-อาญา

16 ส.ค. 2559 | 12:00 น.
คลัง-ก.ล.ต.สอบเชิงลึก “ม่านฟ้า กรุ๊ป” ชี้ระดมทุนจากประชาชนเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ ผิดพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ หวั่นซํ้ารอยแชร์แม่ชะม้อย ขู่หากทำผิดจริงเจอโทษแพ่ง-อาญา สรรพากรพร้อมสอบเส้นทางเงินการเสียภาษี ประสานงานปปง. ดีเอสไอ ก.ล.ต.ลงพื้นที่ตรวจสอบบูธจัดงาน

จากกรณีบริษัท ม่านฟ้า กรุ๊ป จำกัด ของ ไฮโซม่านฟ้า หรือ น.ส.อรปภัตร์ จันทรสาขา ประกาศผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจชี้ชวนประชาชนมาฝากเงินลงทุนที่ไร้ความเสี่ยงและผลตอบแทนสูงนั้น ทำให้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าตรวจสอบ

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังเตรียมที่จะเข้าตรวจสอบการลงทุนของบริษัท ม่านฟ้า กรุ๊ป จำกัด ของ "ไฮโซม่านฟ้า" ว่าอาจเข้าข่ายกรณีแชร์ลูกโซ่หรือไม่ โดยต้องพิจารณาหลายด้านประกอบเข้าด้วยกันทั้งจำนวนผู้มาลงทุนเกิน 50 ราย อัตราดอกเบี้ยสูงผิดปกติ โดยชักชวนให้เข้ามาลงทุนโดยจูงใจว่า จะได้ผลตอบแทนภายใน 1- 3 เดือน รวมถึงการชักชวนนำเงินมาลงทุนต่อกัน หากผิดจริงจะส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้กระทรวงการคลัง มีกฎหมายที่เข้าไปดูแลผ่านสำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน ส่วนการชักชวนให้ลงทุนทั้งผ่านนายหน้า บุคคลทั่วไปหรือบริษัทหลักทรัพย์ ต้องได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และพ.ร.บ.สัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ.2546 เสียก่อน

[caption id="attachment_85639" align="aligncenter" width="335"] ประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร[/caption]

สอดคล้องกับนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวถึงกรณีไฮโซ "ม่านฟ้า" ที่มีข่าวว่าออกมาระดมทุนเพื่อใช้ลงทุนในธุรกิจสบู่นั้น ข้อมูลเบื้องต้นพบว่ามีความเป็นไปได้ว่าอาจเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ เนื่องจากใช้รูปแบบเป็นการระดมทุนจากประชาชนทั่วไป ที่สำคัญการการันตีผลตอบแทนว่าหากสนใจร่วมฝากเงินในหุ้น (ลงทุน) แล้ว จะได้รับผลตอบแทนตามวงเงินหรือแพ็คเกจที่เลือกลงทุน สูงสุดถึง 15%

โดยแพ็กเกจกำหนดไว้ในลักษณะขั้นบันได ตั้งแต่ 1 แสนบาท - 1 ล้านบาท ได้รับปันผลตั้งแต่ 1.5 หมื่นบาท - 1.5 แสนบาท อาทิ ฝากเงินในหุ้น วงเงิน 1 แสนบาท จะได้ผลตอบแทนเมื่อครบระยะเวลา 1 ปีที่ 1.5 หมื่นบาท สูงสุดที่แพ็คเกจ 1 ล้านบาท จะได้ผลตอบแทนเมื่อฝากครบ 1 ปีที่ 1.5 แสนบาท
"ในอดีตก็เคยเกิดเหตุการณ์ที่มีรูปแบบเหมือนกัน คือ แชร์แม่ชะม้อย หรือการทำพิชเช่อ (ฟิชชิ่ง) ซึ่งเป็นการหลอกลวงผ่านอินเตอร์เน็ตอีกรูปแบบหนึ่ง หรือแม้แต่การขายทัวร์-ที่พัก "สุขสันต์วันหยุด"ที่เป็นข่าวคึกโครมเมื่อหลายปีก่อน" นายประสงค์กล่าวและว่า

อย่างไรก็ดีหากมีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการฟอกเงิน กรมสรรพากรก็พร้อมประสานงานเพื่อขอข้อมูลมาประกอบการตรวจสอบเส้นทางการเงินของสรรพากรต่อไป ซึ่งกรมสรรพากรเองนั้นมีหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีตามประมวลรัษฎากร ดังนั้นเมื่อถึงเวลากรมฯ ก็จะจัดเก็บภาษีไปตามปกติ หรือหากมีการจัดตั้งเป็นบริษัทก็ต้องไปมาดูว่า จัดตั้งในรูปแบบไหน

ขณะที่กรมสรรพากรฝ่ายเดียวคงไม่สามารถทำได้ ซึ่งอาจต้องรอข้อมูลตรวจสอบเบื้องต้นจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่จะเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าประกอบธุรกิจเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่หรือไม่ ซึ่งอาจต้องรวบรวมข้อมูลจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ ) ตลอดจนหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องว่ามีความผิดจริงหรือไม่ ซึ่งในขณะนี้ยังเป็นเพียงการตั้งสมติฐานเท่านั้น ส่วนอำนาจของกรมสรรพากร สามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังได้นับตั้งแต่เริ่มเปิดกิจการ หากตรวจพบว่าเปิดบริษัทขึ้นมาบังหน้าเพื่อกระทำความผิดจริง ก็จะมีความผิดทั้งทางแพ่งและอาญา

นายประสงค์ กล่าวว่า หากก.ล.ต.ส่งข้อมูลมาให้กรมสรรพากรตรวจสอบ ก็สามารถตรวจสอบได้ทันที ที่ชัดเจน คือ การยื่นภาษีนั้นจะมีการยื่นทุกๆ 1 ปีและจัดเก็บภาษีเป็นรอบปีภาษี ถ้าบริษัทเพิ่งเปิดตัวหรือจดทะเบียนโดยที่ไม่ครบรอบปีภาษีแล้ว ตามกฎหมายสรรพากร ก็ยังไม่สามารถทำอะไรได้ อย่างไรก็หากมีข้อเท็จจริงที่พาดพิงถึงธุรกิจอื่นๆ ที่มีมูลกรมสรรพากร ก็พร้อมเข้าไปตรวจสอบทันที

นายปริย เตชะมวลไววิทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายงานเลขาธิการและสื่อสารองค์กร สำนังานก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต. อยู่ระหว่างตรวจสอบการลงทุนของบริษัท ม่านฟ้า กรุ๊ป ในเชิงลึก หลังจากชักชวนให้ประชาชนฝากเงินลงหุ้นเอ็มเอฟซี (MFC) ที่ไร้ความเสี่ยงและผลตอบแทนสูง และการันตีผลตอบแทน 15 % ต่อปี

ซึ่งนอกจากข้อมูลในโซเชียลมีเดียที่เก็บรวบรวมได้แล้ว ก.ล.ต.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบ เนื่องจากมีการเปิดบูธจัดประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ประชาชนมาลงทุนที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า แกรนด์ พระราม 9 เมื่อช่วงวันจันทร์ที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามก.ล.ต.จะต้องใช้เวลาในการตรวจสอบอีกระยะ คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานก.ล.ต.กล่าวเตือนนักลงทุนว่าต้องระมัดระวังเพราะการลงทุนดำเนินการได้หลายรูปแบบ และต้องระวังเรื่องของการให้สัญญาเกี่ยวกับผลตอบแทน นอกจากนี้ผู้ที่จะนำเงินของนักลงทุนไปลงทุนจะต้องได้รับใบอนุญาตจากก.ล.ต. ผู้ลงทุนสามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ของ ก.ล.ต.

สำหรับบทลงโทษของผู้ทำความผิด มีทั้งโทษทางแพ่งและอาญา โทษจำคุกสูงสุด 2 - 5 ปี และปรับตั้งแต่ 2 - 5 แสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาท จนกว่าจะเลิกธุรกิจ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,183 วันที่ 14 - 17 สิงหาคม พ.ศ. 2559