เชียงใหม่ซึมเศรษฐกิจครึ่งแรกชะลอ ภัยแล้ง - ลงทุน - นักท่องเที่ยวตัวฉุด

19 ส.ค. 2559 | 06:00 น.
คลังจังหวัดเชียงใหม่ ชี้เศรษฐกิจภาพรวม ในช่วงครึ่งปีแรก 2559 ขยายตัวในอัตราชะลอลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับครึ่งปีหลังของปี 2558 เผยตัวแปรนักท่องเที่ยวจีนเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่ลดลง-เอกชนลงทุนลดลง-ภัยแล้งยาวฉุดภาคเกษตรหดตัว

นางสัญญา ไชยเชียงของ คลังจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เศรษฐกิจการคลังโดยรวมของจังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงครึ่งปีแรก (มกราคม-มิถุนายน 2559) ขยายตัวในอัตราชะลอลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับครึ่งปีหลังของปี 2558 พบว่าด้านอุปทานขยายตัวแต่ชะลอลงจากภาคบริการ ตามจำนวนของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในอัตราชะลอลง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวแต่ เป็นทิศทางที่ขยับไม่มาก ซึ่งเป็นโรงงานประเภทสินค้าเกษตรแปรรูป เนื่องภาคเกษตรกรรม หดตัว จากสถานการณ์ภัยแล้ง

รวมทั้งมีการใช้จ่ายในหมวดการค้าส่งค้าปลีกเพิ่มขึ้น ส่วนด้านการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว ตามพื้นที่อนุญาตก่อสร้างและยอดขายวัสดุก่อสร้างทั้งการค้าส่งและค้าปลีก ภาคการเงิน ปริมาณเงินฝากรวมและปริมาณสินเชื่อรวมขยายตัวเล็กน้อย ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี

อย่างไรก็ดีภาคท่องเที่ยว ยังคงมีบทบาทสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่ขยายตัวในอัตราชะลอลง ส่วนสำคัญมากจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศจีนปรับนโยบายเศรษฐกิจ ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวน้อยลงดูจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทโรงแรมและภัตตาคาร จำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานและยอดขายธุรกิจค้าส่งค้าปลีก อย่างไรก็ดีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยยังคงเพิ่มขึ้น เนื่องจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเพิ่มวันหยุดยาวในเทศกาลต่างๆ ประกอบกับจังหวัดได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง

ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวแต่ไม่มาก สะท้อนจากเครื่องชี้สำคัญ คือ ปริมาณการใช้ไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรมและจำนวนโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนจำนวนทุนจดทะเบียนของอุตสาหกรรม หดตัว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าเกษตรแปรรูปที่ลดลงเนื่องจากขาดแคลนผลผลิตซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะแห้งแล้ง

ภาคเกษตร เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางจากสภาวะฝนทิ้งช่วงในทุกพื้นที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อการเพาะปลูกพืช โดยดัชนีปริมาณผลผลิตทางการเกษตรหดตัวตามปริมาณผลผลิตที่ลดลงของข้าว พริก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หอมแดงและกระเทียม ส่วนปริมาณผลผลิตของลำไยและมะม่วงเพิ่มขึ้น จากการปลูกนอกฤดูกาล สำหรับราคาสินค้าเกษตรทุกชนิดปรับตัวลง ส่วนรายได้เกษตรกร ยังคงหดตัว-49.3%

ขณะที่ภาครัฐ เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 13.2%จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ อาทิ มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ตำบลละ 5 ล้านบาท) มาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็ก(งบลงทุน โครงการละ 1 ล้านบาท) โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ จึงได้ดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ส่วนการลงทุนภาคเอกชน หดตัวดูจากพื้นที่อนุญาตก่อสร้างรวมและยอดขายวัสดุก่อสร้างทั้งการค้าส่งและค้าปลีก

เนื่องจากผู้ประกอบการชะลอการลงทุนในโครงการใหม่และถึงแม้ภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์แต่ยังไม่มากพออุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 11.5% จากจำนวนรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,183 วันที่ 14 - 17 สิงหาคม พ.ศ. 2559