รฟม.เล็งจัดรูปที่ดินแทนเวนคืน เตรียมชงอาคมนำร่องสายสีส้มแก้ปมต้านก่อสร้าง

17 ส.ค. 2559 | 02:00 น.
รฟม.ปรับกลยุทธ์เล็งเสนอจัดรูปที่ดินแทนการเวนคืน เคลียร์ปมคัดค้านก่อสร้างรถไฟฟ้า หวังเดินหน้าโครงการตามแผนแม่บทที่คมนาคมกำหนด นำร่องสายสีส้มตะวันออกก่อนทยอยสู่สายอื่น คาดเสนอบอร์ดกันยายนนี้ เพื่อให้ทันใช้ในสายสีส้มตะวันออก

แหล่งข่าวระดับสูง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าจากการที่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินเพื่อนำไปก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าเส้นทางต่างๆประท้วงไม่ให้มีการนำที่ดินไปใช้ดำเนินโครงการ จนส่งผลกระทบให้โครงการล่าช้า นับต่อนี้ไปรฟม.เตรียมนำเสนอแนวคิดการจัดรูปที่ดินไปดำเนินการแทนกรณีการเวนคืน เนื่องจากเล็งเห็นว่าจะกระทบต่อเจ้าของที่ดินน้อยที่สุด อีกทั้งยังช่วยให้เจ้าของที่ดินได้รับสิ่งที่ดีในโอกาสที่ให้การสนับสนุนโครงการต่างๆของรัฐบาล ซึ่งถือได้ว่าเป็นความเสียสละต่อประเทศชาติและประชาชนส่วนรวมอีกทางหนึ่งด้วย

[caption id="attachment_85896" align="aligncenter" width="335"] นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม[/caption]

"รฟม.มีประสบการณ์ต่อกรณีการเวนคืนที่ผ่านมาเนื่องจากเกิดการประท้วงและไม่ได้รับความร่วมมือจากเจ้าของที่ดิน ประการสำคัญผู้ที่โดนเวนคืนต้องพลัดพรากจากที่อยู่ของถิ่นเดิมออกไปอยู่ที่ใหม่อย่างไม่เต็มใจ ความเป็นธรรมไม่มีต่อผู้ได้รับผลกระทบแต่ผลดีกลับจะส่งไปถึงผู้ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืน รฟม.จึงมีแนวคิดเสนอคณะกรรมการรฟม. ในเดือนกันยายนนี้ และเสนอนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเห็นชอบให้มีการจัดรูปที่ดินไปดำเนินการ"

โดยเบื้องต้นผลดีที่เจ้าของที่ดินจะได้รับคือ 1.มูลค่าที่ดินเพิ่มขึ้น จากการพัฒนาโครงการของรัฐบาล ซึ่งกรณีนี้รฟม.ได้ปรึกษาหารือกับผู้บริหารของกรุงเทพมหานคร กรมโยธาธิการและผังเมือง และแม้กระทั่งไปศึกษาดูงานที่ญี่ปุ่นที่ใช้รูปแบบดำเนินการตามที่รฟม.จะเสนอให้รัฐบาลเร่งผลักดันต่อไป 2. จะได้อยู่ที่เดิมแต่ขนาดอาจจะเล็กลงบ้าง 3.เจ้าของที่ดินยังได้ดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องโดยจะระบุไว้ในเงื่อนไขและเจรจากับเจ้าของที่ดินแต่ละรายต่อไป

แนวความคิดดังกล่าวนี้จะเริ่มใช้กับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตะวันออกช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี สายสีส้มตะวันตก ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และสายอื่นๆที่อยู่ระหว่างการเร่งผลักไม่ว่าจะเป็นสายสีม่วงใต้ สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย เป็นต้น

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) กล่าวว่ากรณีรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม ส่วนต่อขยาย(สายสีม่วงใต้) ที่รฟม.รอการพิจารณาผลการศึกษาด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)นั้น มีความเห็นว่าหลังจากที่มีนโยบายปรับลดงบประมาณโครงการดังกล่าวโดยเฉพาะกรณีปรับลดศูนย์ซ่อมบำรุง(เดโป)ที่ย่านราษฎร์บูรณะไปเป็นที่จอดพักรถเท่านั้นจึงเห็นว่าน่าจะตัดระยะ 5 กิโลเมตรนั้นออกไปเพื่อให้ไปใช้ที่บางไผ่ให้เต็มประสิทธิภาพมากกว่า

"จะได้ไม่ต้องใช้งบประมาณเพิ่มมากขึ้น ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมลงไปได้อย่างมาก ร่นระยะเวลาดำเนินโครงการที่ล่าช้ามานานให้สามารถเร่งผลักดันได้เร็วยิ่งขึ้น ช่วยประหยัดงบประมาณและให้มาใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเต็มประสิทธิภาพจริงๆ"

สำหรับ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดินและยกระดับ (สถานีใต้ดิน 10 สถานี/ยกระดับ 7 สถานี รวม 17 สถานี) มีระยะทางประมาณ 23 กิโลเมตร เริ่มต้นจากสถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย แล้วเบี่ยงเข้าแนวเข้าถนนพระราม 9 ตัดผ่านถนนประดิษฐ์มนูธรรม เลี้ยวซ้ายเข้ารามคำแหง ผ่านแยกลำสาลี ตัดผ่านถนนกาญจนาภิเษก สิ้นสุดที่จุดตัดกับถนนสุวินทวงศ์บริเวณมีนบุรี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,183 วันที่ 14 - 17 สิงหาคม พ.ศ. 2559