คาดส่งออกไทยไป CLMV ครึ่งปีหลัง’59 ฟื้นตัว

10 ส.ค. 2559 | 09:34 น.
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์เรื่อง คาดส่งออกไทยไป CLMV ครึ่งปีหลัง’59 ฟื้นตัว..... เร่งพัฒนาหนองคายเป็นจุดยุทธศาตร์สนับสนุนการส่งออกผ่านชายแดนไปยังสปป.ลาว  

ประเด็นสำคัญ

•ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2559 มูลค่าการส่งออกไปยังตลาด CLMV ติดลบร้อยละ 3.75 (YoY) นับเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 8 ปี  โดยสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังคงไม่ฟื้นตัว อย่างไรก็ดี คาดว่า ทิศทางการส่งออกไปยัง CLMV ในครึ่งหลังของปี 2559 จะกระเตื้องขึ้น จากราคาพลังงานที่น่าจะค่อยๆ ปรับตัวขึ้น ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกไปยัง CLMV ในปี 2559 น่าจะหดตัวราวร้อยละ 2.5 (YoY)

•สำหรับในระยะต่อไป ยังคงต้องจับตาการย้ายฐานการผลิตสินค้าไปยังกลุ่มประเทศ CLMV อาจส่งผลกระทบเชิงโครงสร้างการส่งออกของไทยไปยังกลุ่มประเทศดังกล่าวในระยะยาว ซึ่งเดิม CLMV พึ่งพิงสินค้าที่ผลิตและส่งออกจากไทยเป็นหลัก โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคและวัสดุก่อสร้าง

•อย่างไรก็ดี ด้วยเงื่อนไขขนาดของตลาดภายในประเทศที่เล็ก อันเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาภาคการผลิตภายในประเทศ ทำให้สปป.ลาว จะยังคงเป็นตลาดส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคและวัสดุก่อสร้างที่สำคัญของไทย โดยมีจังหวัดหนองคายเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์ ที่จะสนับสนุนให้การส่งออกไปยัง สปป.ลาว เติบโตขึ้นในระยะข้างหน้า ผ่านการเป็นศูนย์กลางหน้าด่านการกระจายสินค้าจากฝั่งไทยไปยังนครหลวงเวียงจันทน์และจังหวัดใกล้เคียง

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 สถานการณ์การส่งออกของไทยในภาพรวมยังคงหดตัวที่ร้อยละ 1.6 (YoY) ต่อเนื่องจากปี 2558 ที่ติดลบร้อยละ 5.8 (YoY) ทั้งนี้ หากพิจารณาโครงสร้างตลาดส่งออก พบว่า ขณะที่การส่งออกของไทยไปยังตลาดหลัก ยังไม่ส่งสัญญาณการฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพ ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกไปจีน อาเซียน-5 สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ที่ยังคงหดตัวที่ร้อยละ 8.4 3.3 1.3 0.9 และ 0.6 (YoY) ตามลำดับ ภาคการส่งออกของไทยก็ต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ นั่นคือการส่งออกของไทยไปยังตลาดศักยภาพอย่าง CLMV  ในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 ที่หดตัวลงอย่างมีนัยสำคัญที่ร้อยละ 3.8 (YoY) สวนทางที่ขยายตัวถึงร้อยละ 7.7 (YoY) ในปีที่ผ่านมา และนับเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 8 ปี จึงเกิดเป็นประเด็นกังวลว่า ท่ามกลางกระแสการรวมกลุ่มทางภูมิภาคและพัฒนาการทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง ไทยจะได้รับประโยชน์ในมิติเชิงการค้าภายในภูมิภาคตามที่คาดหวังไว้หรือไม่ อย่างไร

ปัจจัยด้านราคาน้ำมันกดดันการส่งออกของไทยไปยัง CLMV ช่วงครึ่งแรกของปี 2559

นับตั้งแต่ปี 2553 ที่กลุ่มประเทศ CLMV ทยอยเปิดเสรีทางการค้าภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) บทบาทของประเทศเหล่านี้ในฐานะจุดหมายปลายทางของสินค้าส่งออกของไทย ก็ทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมูลค่าการส่งออกของไทยไปยังตลาด CLMV ช่วงตั้งแต่ปี 2553-2558 ขยายตัวโดยเฉลี่ยร้อยละ 10.3 ต่อปี ขณะที่ สัดส่วนการส่งออกของไทยไปยังกลุ่ม CLMV เติบโตขึ้นจากร้อยละ 6.4 ในปี 2553 เป็นร้อยละ 10.4 ในปี 2558 เช่นเดียวกัน ตอกย้ำถึงความสำคัญของตลาดดังกล่าวต่อภาพรวมการส่งออกของไทยที่เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้ ด้วยความเชื่อมโยงทางกายภาพและวัฒนธรรม อันทำให้สินค้าส่งออกจากไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นที่นิยมของผู้บริโภคในกลุ่มประเทศเหล่านี้อย่างรวดเร็ว ขณะที่ พัฒนาการทางเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างรวดเร็วของกลุ่ม CLMV และการเป็นฐานการผลิตร่วมกันภายในภูมิภาค ก็ส่งผลให้สินค้าประเภทวัสดุก่อสร้างและสินค้าอุตสาหกรรมขั้นกลาง กลายเป็นสินค้าออกที่สำคัญของไทยไปยังภูมิภาคนี้ เช่นเดียวกัน โดยหากพิจารณาจากโครงสร้างสินค้าออกของไทย จะพบว่า น้ำมันสำเร็จรูปเป็นสินค้าออกที่มีสัดส่วนสูงที่สุด รองลงมาจะเป็นรถยนต์และชิ้นส่วน เครื่องดื่ม เหล็ก และเคมีภัณฑ์ ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทยไปยังตลาด CLMV ที่หดตัวลงถึงร้อยละ 3.8 (YoY) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 ก่อให้เกิดคำถามถึงศักยภาพของตลาด CLMV ในการจะช่วยผลักดันให้การส่งออกของไทยเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต สอดล้อไปกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในภูมิภาค ซึ่งในประเด็นดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การหดตัวของการส่งออกนี้สะท้อนปัจจัยหลักอยู่ 2 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยเชิงวัฏจักรราคาสินค้าโภคภัณฑ์และปัจจัยเชิงโครงสร้าง กล่าวคือ การปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วของราคาน้ำมันตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 ต่อเนื่องมาจนถึงกลางปี 2559 นั้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าประเภทน้ำมันสำเร็จรูป รวมถึงสินค้าเกี่ยวเนื่อง เช่น เคมีภัณฑ์และเม็ดพลาสติก ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 16 ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปยัง CLMV โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันสำเร็จรูปที่มูลค่าการส่งออกหดตัวถึงร้อยละ 38.2 (YoY) แม้ปริมาณการส่งออกยังคงสามารถเติบโตได้ และเป็นสาเหตุหลักที่ฉุดการส่งออกของไทยไป CLMV ติดลบในภาพรวม โดยหากไม่รวมสินค้าประเภทน้ำมันสำเร็จรูป การส่งออกของไทยไปยัง CLMV ในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 จะยังสามารถขยายตัวได้ที่ร้อยละ 1.6 (YoY)

สำหรับปัจจัยเชิงโครงสร้างนั้น เกิดจากพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมของกลุ่ม CLMV ที่ทำให้ตลาดภายในประเทศเติบโตขึ้น และดึงดูดให้มีการพัฒนาของภาคการผลิตขึ้นในประเทศ โดยเฉพาะในสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้แรงงานเข้มข้นและกระบวนการผลิตไม่ซับซ้อน หลักๆ เป็นสินค้าประเภทเครื่องดื่ม และวัสดุก่อสร้างที่มีน้ำหนักมาก (Bulky products) เช่น ปูนซีเมนต์ ซึ่งส่วนหนึ่งคือการย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการไทยเพื่อเข้าไปเจาะตลาดดังกล่าว ทำให้การส่งออกของไทยในสินค้าเหล่านี้มีทิศทางที่ชะลอลงอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นมูลค่าการส่งออกเครื่องดื่มของไทย ที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 4.0 (YoY) ในช่วงหกเดือนแรกของปี 2559 ชะลอลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่ร้อยละ 22.7 ต่อปี อันเป็นผลจากความต้องการนำเข้าที่ลดลงของเมียนมาและเวียดนาม และการส่งออกปูนซีเมนต์ที่หดตัวลงกว่าร้อยละ 18.7 (YoY) แ ละ 16.3 (YoY) ในกรณีของเมียนมาและกัมพูชาตามลำดับ

ทั้งนี้ สำหรับผลกระทบจากปัจจัยทางด้านวัฏจักรราคาสินค้าโภคภัณฑ์อันเป็นสาเหตุหลักของการหดตัวของมูลค่าการส่งออกโดยรวมของไทยไปยังตลาด CLMV ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา น่าจะคลี่คลายขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ผนวกกับการส่งออกรถยนต์และเครื่องปรับอากาศของไทยไปยังตลาดเวียดนามที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ก็น่าจะทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยไปยัง CLMV ในครึ่งหลังของปี 2559 ปรับตัวดีขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกไปยัง CLMV ในปี 2559 จะหดตัวร้อยละ 2.5 (YoY) คิดเป็นมูลค่า 21,730 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และจะกลับมาเติบโตอยู่ในแดนบวกในปีต่อๆ ไปราวร้อยละ 2.2-3.0 ต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า ตอกย้ำให้เห็นว่าตลาด CLMV ยังคงเป็นตลาดส่งออกที่มีศักยภาพของไทยในระยะปานกลาง

“หนองคาย” อีกหนึ่งจังหวัดศักยภาพ...หนุนการส่งออกของไทยไปยังสปป.ลาว

แม้ว่าภาพรวมตลาด CLMV ในระยะข้างหน้า อาจมีแนวโน้มการเติบโตที่ไม่หวือหวาเหมือนในช่วงที่ผ่านมา จากปัจจัยเชิงโครงสร้างอันเกิดจากการย้ายฐานการผลิตดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นนั้น ทว่า หากพิจารณาเป็นรายประเทศ จะพบว่า สปป.ลาว ยังคงเป็นตลาดส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญของไทยในระยะข้างหน้า เนื่องจากการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมการผลิตในสปป.ลาว ยังไม่มีความหลากหลายและยังอยู่ในระยะเริ่มต้น อีกทั้งด้วยขนาดของตลาดที่ค่อนข้างเล็กจากจำนวนประชากรทั้งประเทศเพียง 6.8 ล้านคน  ทำให้การนำเข้าสินค้าจากไทยมีความคุ้มค่ากว่าการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดภายในประเทศ

ทั้งนี้ ตลาด สปป.ลาว นับเป็นอีกหนึ่งตลาดที่มีความสำคัญในการส่งออกของไทย เนื่องจากมีความใกล้ชิดกันทั้งในด้านภูมิศาสตร์ที่มีชายแดนเชื่อมต่อกันมีระยะทางตั้งแต่ภาคเหนือตอนบนจนถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย โดยมีด่านการค้าชายแดนระหว่างกันถึง 11 ด่านใน 8 จังหวัด ประกอบกับความใกล้ชิดกันทางด้านวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ รวมถึงสินค้าไทยยังเป็นที่นิยมเป็นอย่างมากสำหรับผู้บริโภคชาว สปป.ลาว ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าไปยังสปป.ลาวเติบโตอย่างต่อเนื่อง

จังหวัดหนองคาย เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในการส่งสินค้าไปยังสปป.ลาวอย่างโดดเด่น จากส่วนแบ่งมูลค่าการส่งออกผ่านชายแดนไปยังสปป.ลาว สูงสุด คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 40 ของมูลค่าการส่งออกผ่านชายแดนไปยังสปป.ลาวทั้งหมด เหตุเพราะหนองคายอยู่ห่างจากนครหลวงเวียงจันทน์เพียง 25 กิโลเมตร จึงมีโอกาสจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อาศัยอยู่ในเมืองหลวง ซึ่งประชากรที่อาศัยอยู่ในเวียงจันทน์คิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมดของสปป.ลาว ทั้งนี้ การส่งออกไปยังสปป.ลาว ผ่านด่านหนองคายในช่วงหกเดือนแรกของปี 2559 มีมูลค่า 27,875 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.5 (YoY) โดยสินค้าที่มีความโดดเด่นในการส่งออกไปนั้นคือ สินค้าอุปโภคบริโภค เนื่องจากผู้บริโภค สปป.ลาว มีความนิยมในสินค้าไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งนอกจากจะเป็นการบริโภคภายในเวียงจันทน์เองแล้ว สินค้าบางส่วนยังมีการกระจายสินค้าไปยังจังหวัดใกล้เคียงต่างๆ ต่อไป นอกจากนี้ ในปัจจุบันทางการ สปป.ลาวยังเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคมนาคมของประเทศ รวมถึงก่อสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าส่งออกตามยุทธศาสตร์แบตเตอรีแห่งเอเชีย (Battery of Asia) ส่งผลให้วัสดุก่อสร้างยังคงเป็นสินค้าศักยภาพในการส่งออกไปยังลาว

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จังหวัดหนองคายมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กระจายสินค้าไปยัง สปป.ลาว รวมถึงด้วยภูมิประเทศที่ทอดยาวไปกับแม่น้ำโขง สะท้อนถึง “ความเป็นเมืองน่าอยู่” จึงทำให้มีโอกาสในการพัฒนาเป็นเมืองท่องเที่ยวเพื่อรองรับทั้งนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวลาว รวมไปถึงการเป็นศูนย์กลางด้านธุรกิจสุขภาพ อาทิ โรงพยาบาลและธุรกิจ Nursing Home เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยมีปัจจัยสนับสนุน ดังนี้

•เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย

หนองคาย เป็น 1 ในพื้นที่ที่รัฐบาลตั้งเป้าพัฒนาให้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จึงนับเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นที่จะดึงดูดมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ ด้วยสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีในรูปแบบของการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมไปถึงการยกเว้นอากรขาเข้าและค่าใช้จ่ายที่อนุญาตให้หักเพิ่มเติม ให้แก่นักลงทุนที่เข้าไปลงทุนในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากอุตสาหกรรมที่ลงทุนเป็นกิจการเป้าหมาย ก็จะที่ได้รับสิทธิประโชยน์และการส่งเสริมที่เพิ่มมากขึ้น

โดยอุตสาหกรรมที่เป็นกิจการเป้าหมายที่ได้รับการส่งเสริมในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจหนองคาย ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตร ประมง และกิจการที่เกี่ยวข้อง กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องหนัง กลุ่มนิคมและเขตอุตสาหกรรม กลุ่มอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ และกลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุนการท่องเที่ยว นอกจากนี้ เพื่อเป็นการรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ภาครัฐจึงได้เร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานบริเวณพื้นที่จังหวัดหนองคาย อาทิ โครงการก่อสร้างถนนและทางเลี่ยงเมืองหนองคาย จึงส่งผลให้หนองคายเป็นจังหวัดที่รอการเติบโตอย่างมีความพร้อม

•โครงการรถไฟทางคู่เส้นทางหนองคาย-แหลมฉบัง

หนองคาย เป็นหนึ่งในจังหวัดที่โครงการรถไฟทางคู่จะพาดผ่านในอนาคต โดยโครงการรถไฟทางคู่เกิดจากภาครัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานรถไฟ โดยก่อสร้างรถไฟทางใหม่คู่ขนานกับเส้นทางรถไฟเดิม มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบจากการขนส่งทางถนนเป็นหลักไปสู่การขนส่งแบบผสมผสานกับการขนส่งทางราง ซึ่งมีต้นทุนขนส่งต่อหน่วยที่ถูกกว่า ทั้งนี้ โครงการรถไฟทางคู่ไปยังจังหวัดหนองคายแบ่งเป็น 4 ช่วง ปัจจุบันเริ่มมีความคืบหน้าในการก่อสร้างแล้ว 2 ช่วง และคาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดในปี 2567 ส่งผลให้หนองคายจะมีเส้นทางรถไฟทางคู่เชื่อมโยงการขนส่งลงมาถึงท่าเรือแหลมฉบัง นอกจากนี้ ยังได้มีโครงการก่อสร้างศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าโลจิสติกส์บริเวณสถานีรถไฟนาทา บนพื้นที่ 219 ไร่ เพื่อรองรับการขนถ่ายสินค้าทางรางที่จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากในอนาคตอีกด้วย

ขณะเดียวกันทางด้าน สปป. ลาว ยังอยู่ระหว่างก่อสร้างศูนย์รวบรวมตู้สินค้า ในพื้นที่ใกล้กับสถานีท่านาแล้งของ สปป.ลาว เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งสทางรางกับหนองคาย คาดว่าจะสามารถเปิดใช้ได้ภายในปี 2560  ซึ่งทั้งหมดนี้จะส่งเสริมให้หนองคายเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าจากภูมิภาคอื่นๆ ของไทยไปยังสปป.ลาว และเป็นศูนย์รวบรวมสินค้าเกษตรในพื้นที่หนองคายและจังหวัดใกล้เคียงในการขนส่งไปยังท่าเรือแหลมฉบัง

โดยสรุป ภาพรวมการส่งออกไทยไปยัง CLMV น่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นในครึ่งปีหลัง จากปัจจัยหนุนด้านราคาน้ำมันที่ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี ในระยะข้างหน้ายังคงต้องจับตาประเด็นการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศกัมพูชา เมียนมา และเวียดนาม เพื่อผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคและวัสดุก่อสร้างทอดแทนการนำเข้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างการส่งออกสินค้าของไทยซึ่งส่วนใหญ่มีการส่งออกสินค้าเหล่านั้นไปยังกลุ่มประเทศดังกล่าว แต่กระนั้น ยังคงมีโอกาสจากอุปสงส์อย่างต่อเนื่องของ สปป.ลาว ซึ่งภาวะเศรษฐกิจยังคงเติบโตได้อีกมาก ประกอบกับอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศหลายด้าน ซึ่งนับเป็นโอกาสในการส่งออกสินค้าของผู้ประกอบการไทย

ทั้งนี้ คาดว่า หนองคายยังคงเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในการส่งออกไปยัง สปป.ลาวในระยะข้างหน้าด้วยจุดเด่นด้านภูมิศาสตร์ที่ตั้งอยู่ใกล้เมืองหลวงของสปป.ลาวซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุน ประกอบกับมีปัจจัยสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่กำลังเร่งดำเนินนโยบายในอนาคต อย่างไรก็ตาม ยังคงมีประเด็นด้านการดำเนินงานของภาครัฐที่ต้องอาศัยระยะเวลา อีกทั้ง ยังคงต้องมีการหารือเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและผู้ประกอบการในพื้นที่ เพื่อผลักดันให้หนองคายมีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าไปยังสปป.ลาวต่อไป