นักเศรษฐศาสตร์ตั้งข้อกังขา ความคุ้มค่าการจัดโอลิมปิก

14 ส.ค. 2559 | 10:00 น.
การประท้วงคัดค้านการจัดมหกรรมแข่งขันกีฬาโอลิมปิกของชาวบราซิลบางส่วน เป็นการตอกย้ำถึงคำถามที่เกิดขึ้นมาว่า การที่ประเทศต่างๆ ยอมลงทุนเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาขนาดใหญ่มีความคุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายทางการเงินมูลค่ามหาศาลหรือไม่

"รัฐบาลเอาเงินจากโครงการด้านสุขภาพ การศึกษา และสังคมไปใช้กับการแข่งขันโอลิมปิก แต่อีก 30 วันต่อจากนี้ อาคารขนาดใหญ่และสนามแข่งขันต่างๆ ที่สร้างขึ้นมาก็จะไร้ประโยชน์" เปโดร โรซา ชาวบราซิลผู้เข้าร่วมการประท้วงคัดค้านการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่เมืองไนเตโรอิ กล่าวแสดงความเห็น

สถานการณ์ของบราซิลในปัจจุบันแตกต่างจากเมื่อเดือนตุลาคม 2552 ซึ่งริโอ เดอ จาเนโร สามารถเอาชนะคู่แข่งอย่างโตเกียว มาดริด และชิคาโก คว้าตำแหน่งเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนประจำปี 2559 มาครอบครอง

บราซิลยื่นข้อเสนอที่น่าสนใจในการแสดงตัวของเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันโอลิมปิกขึ้นเป็นครั้งแรกในทวีปอเมริกาใต้ ขณะเดียวกันเศรษฐกิจของบราซิลในเวลานั้นก็มีแนวโน้มที่สดใสอย่างมาก โดยบราซิลสามารถก้าวพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย และมีอัตราการเติบโตที่ทำสถิติสูงสุดถึง 7.5% ในปี 2553 เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ และค่าเงินเรียลแข็งค่า ช่วยให้ดัชนีโบเวสปากลายมาเป็นหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ที่ทำผลงานได้ดีที่สุดในปี 2552

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ในปัจจุบันกลับเปลี่ยนแปลงไปอย่างพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ โดยเศรษฐกิจบราซิลกำลังเผชิญกับภาวะถดถอยรุนแรงที่สุดในรอบกว่า 80 ปี เงินเฟ้อพุ่งสูง และอันดับความน่าเชื่อถือของหนี้สาธารณะถูกปรับลดลงสู่ระดับขยะ นอกจากนี้บราซิลยังเผชิญกับวิกฤติการณ์ทางการเมือง หลังจากนางดิลมา รุสเซฟฟ์ อดีตประธานาธิบดีถูกไต่สวนเพื่อถอดถอนออกจากตำแหน่งด้วยข้อหาคอร์รัปชัน ขณะที่รัฐบาลใหม่ซึ่งนักลงทุนหวังว่าจะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ ก็ยังไม่มีผลงานที่ชัดเจน

"สถานการณ์ของริโอในเวลานี้เป็นเรื่องน่าเศร้าและน่าหดหู่อย่างยิ่ง บราซิลเป็นประเทศที่ไม่ควรพยายามที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิก" แอนดรูว์ ซิมบาลิสต์ นักเศรษฐศาสตร์การกีฬา ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซี โดยซิมบาลิสต์ให้เหตุผลว่า บราซิลไม่มีความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม ด้านสุขาภิบาล ด้านกีฬา และด้านโทรคมนาคมที่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากในการลงทุนในเมืองริโอ

การลงทุนกับมหกรรมกีฬาโอลิมปิกต้องอาศัยงบประมาณเป็นจำนวนมาก จนเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลกลางของบราซิลต้องอนุมัติเงินกู้มูลค่า 850 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับรัฐบาลของริโอ เพื่อนำมาใช้จ่ายในการก่อสร้างและการรักษาความปลอดภัยเพื่อเตรียมการแข่งขันโอลิมปิก

อย่างไรก็ตาม หลักฐานในอดีตที่ผ่านมาบ่งชี้ว่า การลงทุนมหาศาลดังกล่าวอาจจะไม่ได้ผลตอบแทนอย่างคุ้มค่า ซิมบาลิสต์กล่าวว่ามีผลวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าเมืองเจ้าภาพการแข่งขันไม่ได้รับประโยชน์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เมื่อพิจารณาทั้งด้านจำนวนนักท่องเที่ยวและเงินลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามา
เดวิด โกลด์แบลตต์ ผู้เขียนหนังสือ "The Games: A Global History of the Olympics" กล่าวเมื่อไม่นานมานี้ว่า จากการคำนวณของตนพบว่าต้นทุนการจัดการแข่งขันเพิ่มขึ้นมาถึง 200,000% นับตั้งแต่การแข่งขันครั้งแรกเมื่อปี 2439

โกลด์แบลตต์กล่าวว่า การแข่งขันที่เมืองบาร์เซโลนาในปี 2535 ใช้เงินลงทุนไปราว 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โอลิมปิกที่เอเธนส์ปี 2547 ใช้เงินไป 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ลอนดอนปี 2555 ใช้เงินไป 1.48 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนการแข่งขันในครั้งนี้น่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นกับอัตราแลกเปลี่ยน

นอกจากนี้ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดยังมีทำการวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า การจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาขนาดใหญ่มักจะมีการใช้จ่ายที่เกินงบประมาณ อย่างการแข่งขันโอลิมปิกนั้นมีการใช้จ่ายเกินงบประมาณมาตลอดทุกครั้งตั้งแต่ปี 2503 ด้วยอัตราเฉลี่ย 156%

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่การจัดการแข่งขันโอลิมปิกจะมีแต่ข้อเสีย "ปกติแล้วก็จะมีความรู้สึกภาคภูมิใจ ความรู้สึกของความสามัคคีในสังคม" ซิมบาลิสต์กล่าว เช่นเดียวกับคนในท้องถิ่นอย่างยูนิส ดาส เนเวส ที่กล่าวว่า "โอลิมปิกเป็นสิ่งที่สวยงาม และบราซิลได้นำงานเฉลิมฉลองที่สวยงามที่เราต้องการได้เห็นมาพร้อมกับโอลิมปิก"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,182 วันที่ 11 - 13 สิงหาคม พ.ศ. 2559