ดึง ปตท.พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ท่าอากาศยาน ประเดิมสนามบินอุดรฯธ.ค.นี้

13 ส.ค. 2559 | 09:00 น.
ทย. ผนึก ปตท. ชิมรางพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี พร้อมเปิดตัวธันวาคมนี้ เน้นคุมราคาขายไม่ให้แพงกว่าราคาตลาด 10% ชี้หากไปได้ดี จะยกเป็นโมเดลวางทีโออาร์ เล็งนำท่าอากาศยานอื่นๆในเครือมาเปิดประมูลเชิงพาณิชย์ต่อไป

นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมท่าอากาศยานหรือทย. เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ในขณะนี้ทย.และทางบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกันลงนามสัญญาโครงการความร่วมมือในการพัฒนา และบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี โดยจะให้ปตท.บริหารพื้นที่ 810 ตารางเมตร ในบริเวณอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี โดยนำร้านค้าพันธมิตรของ ปตท. กว่า 12 ร้าน มาให้บริการผู้โดยสาร

นอกจากนี้ยังได้บริหารจัดการพื้นที่ลานจอดรถ เพื่อความสะดวกสบายในการใช้บริการสำหรับผู้โดยสาร แบ่งเป็น 2 ระยะ คือระยะแรกพื้นที่ประมาณ 2.3 หมื่นตารางเมตร และระยะที่สองพื้นที่ประมาณ1.3 หมื่นตารางเมตร ซึ่งรวมแล้วเสร็จทั้งโครงการจะมีพื้นที่ลานจอดรถกว่า 3.6 หมื่นตารางเมตร เพื่อรองรับผู้โดยสารที่มาใช้บริการสนามบินกว่า 2 ล้านคนต่อปี ซึ่งโครงการพัฒนาและบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ฯนี้ มีกำหนดดำเนินการแล้วเสร็จและพร้อมเปิดให้บริการระยะแรกในเดือนธันวาคม2559 และทย.มีการคุมราคาขายสินค้าว่าไม่ให้แพงกว่าราคาตลาด 10%

"ผมได้ดึงทางปตท.เข้ามาร่วมบริหารพื้นที่ดังกล่าว เพราะเห็นว่าเป็นรัฐวิสาหกิจ และเห็นว่ามีประสบการณ์ในการบริหารพื้นที่ร้านค้าในปั๊มน้ำมันอยู่แล้ว ก็เลยลองทำร่วมกันดู ซึ่งปตท.จะเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด คาดว่าเบื้องต้นอยู่ที่ราว 50 ล้านบาท และจ่ายค่าเช่าให้ทย. โดยรายได้จากค่าเช่าก็จะส่งให้ทางกรมธนารักษ์ สัญญา 3 ปี สามารถต่อเพิ่มได้อีกครั้งละ 3 ปี ต่อเพิ่มได้อีก 2 ครั้ง"

โดยทย.และปตท. จะร่วมกันพัฒนารูปแบบใหม่ในการดำเนินธุรกิจ (New Business Platform) โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน ชุมชนในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องเป็นหลัก ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ คือ จัดให้มีการจำหน่ายสินค้าและของที่ระลึก การจำหน่ายอาหาร และเครื่องดื่ม การให้บริการจอดรถยนต์และรถยนต์โดยสาร และอื่นๆที่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้โดยสาร รวมถึงจะมีผลต่อภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาของนักท่องเที่ยว และยังจะส่งผลในเรื่องของรายได้ทางภาคเศรษฐกิจ ทั้งการส่งเสริมรายได้แก่ประชาชนในพื้นที่ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัดรวมถึงระดับประเทศด้วย

ทั้งนี้หากการดำเนินการในลักษณะนี้ไปได้ดี ทย.จะมีทีโออาร์ เพื่อต่อไปก็มีแผนพัฒนารูปแบบการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ในท่าอากาศยานอื่นๆของทย. โดยการเปิดประมูลดึงเอกชนที่สนใจมาร่วมกันพัฒนาพื้นที่ได้ เพื่อปรับปรุงการให้บริการแก่ผู้โดยสารให้เกิดความสะดวกสบายและเกิดความพึงพอใจต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,182 วันที่ 11 - 13 สิงหาคม พ.ศ. 2559