การ์เมนต์ชะลอลงทุน CLMV หลังแบกภาระต้นทุนอ่วม/ลุ้นส่งออกทั้งปีขอโตเท่าปีที่แล้ว

10 ส.ค. 2559 | 11:00 น.
การ์เมนต์ไทยลงทุนนอกเริ่มชะลอตัว หลังส่วนต่างต้นทุนไม่ห่างกันมาก จากนายจ้างต้องแบกภาระค่าสวัสดิการด้านต่างๆ อื้อ ขณะผลิตภาพคนงานตํ่า หลายรายเริ่มหันมาขยายการผลิตในไทยเพิ่ม ชูแรงงานมีคุณภาพมากสุด ขณะส่งออกการ์เมนต์ทั้งปีลุ้นแค่เสมอตัวถึงติดลบน้อยสวนทางฐานในต่างประเทศยอดโตวันโตคืน คาดปีนี้ฟัน 2.1 หมื่นล้าน

[caption id="attachment_80727" align="aligncenter" width="700"] ข้อมูลการลงทุนใน CLMVI เปรียบเทียบกับประเทศไทย ข้อมูลการลงทุนใน CLMVI เปรียบเทียบกับประเทศไทย[/caption]

นายวัลลภ วิตนากร ประธานกรรมการ ไฮเทคกรุ๊ป หนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้ากีฬารายใหญ่ มีฐานผลิตในไทย กัมพูชา ลาว และเวียดนาม เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ขณะนี้การขยายฐานการลงทุนอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม(การ์เมนต์) ของผู้ประกอบการไทยในประเทศเพื่อนบ้านเริ่มชะลอตัวลงเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนใน CLMV(กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) อันเนื่องมาจากต้นทุนการผลิตด้านต่างๆ เมื่อเทียบกับฐานผลิตในไทย ณ ปัจจุบันไม่แตกต่างกันมาก

ทั้งนี้ได้ยกตัวอย่างการลงทุนในเวียดนาม แม้จะมีแรงงานในวัยทำงานมาก แต่ค่าจ้างแรงงานก็เริ่มสูงขึ้น ปัจจุบันในเขตฮานอย/โฮจิมินห์ ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำต่อเดือนอยู่ที่ 190 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือน และต่างจังหวัดเฉลี่ยที่ 101-129 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือน(ดูตารางประกอบ) ขณะที่ไทยเฉลี่ยที่ 222 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือน อย่างไรก็ดีการลงทุนในเวียดนามแม้จะประสิทธิภาพการผลิตต่อคนสูง แต่นายจ้างก็มีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องสูงเช่นกัน อาทิ ต้องจ่ายค่าประกันสังคม 18% + ประกันสุขภาพ 3% +ประกันการว่างงาน 1% (รวม22%) ขณะในไทยนายจ้างจ่ายประกันสังคมเพียง 5%

ส่วนในเมียนมากฎหมายการจ่ายค่าล่วงเวลา(โอที) ในวันทำงานนายจ้างต้องจ่าย 2 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง และในวันหยุดก็ต้องจ่าย 2 เท่า และต้องได้รับสิทธิหยุดชดเชยภายใน 2 เดือนปฏิทิน เทียบกับค่าโอทีในไทยในวันทำงานปกติจ่ายไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง ขณะที่ในเมียนมามีวันหยุดราชการถึง 26 วันต่อปี กัมพูชา 24 วันต่อปี (ไทย เฉลี่ย 13 วัน/ปี)ทำให้มีการทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพจากมีวันหยุดมาก และในบางประเทศ เช่นลาว กัมพูชา ประสิทธิภาพการผลิตต่อคนยังต่ำกว่าแรงงานไทยมาก จากมีการเข้าๆ ออกๆ จากงานของคนงาน ทำให้มีการเรียนรู้และพัฒนาทักษะฝีมือได้ช้า

"การลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน แม้ค่าจ้างแรงงานจะถูกกว่าไทย แต่เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าสวัสดิการต่างๆ ดังที่ยกตัวอย่างข้างต้นแล้ว ต้นทุนการผลิตในเวลานี้ก็ไม่ต่างกันมาก ดังนั้นเวลานี้หลายรายได้หันมาขยายการผลิตจากฐานในไทย เพราะคนงานไทยมีประสิทธิภาพและผลิตภาพของงานดีกว่าทุกประเทศ อย่างไรก็ดีในปีที่แล้วการ์เมนต์ไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศ(ประมาณ 25 ราย)คาดจะมียอดส่งออกจากประเทศที่ไปลงทุนรวมกันประมาณ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนในปีนี้คาดจะส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 600 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท"

ด้านนายถาวร กนกวลีวงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เผยว่า การส่งออกสินค้าเครื่องนุ่งห่มของไทยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่า 1,225.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวลดลง 8.09 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลจากคำสั่งซื้อที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ตามโดย ปกติการส่งออกเครื่องนุ่งห่มในช่วงครึ่งหลังของทุกปีจะขยายตัวมากกว่าครึ่งปีแรก 10-15% ดังนั้นหากการส่งออกในปีนี้ทำได้ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว หรือติดลดลบเล็กน้อยก็น่าพอใจแล้ว(ปี 2558 ไทยส่งออกเครื่องนุ่งห่ม 2,649 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,181 วันที่ 7 - 10 สิงหาคม พ.ศ. 2559