บีโออีอัดฉีดหนักหลังเบร็กซิท ปรับลดดอกเบี้ยพร้อมกลับเข้าซื้อพันธบัตรและหุ้นกู้

09 ส.ค. 2559 | 05:00 น.
ธนาคารกลางอังกฤษกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจหลังประชามติ ตัดสินใจออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่กว่าความคาดหมาย ด้วยการลดดอกเบี้ยลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ พร้อมนำมาตรการคิวอีกลับมาใช้อีกครั้ง

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่หลังการประชุมในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (4 สิงหาคม) โดยบีโออีตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยจากระดับ 0.5% เหลือ 0.25% ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ พร้อมกับกล่าวว่ามีโอกาสจะปรับลดลงสู่ระดับใกล้เคียง 0% ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า นอกจากนี้บีโออียังนำมาตรการซื้อพันบัตร หรือคิวอี กลับมาใช้อีกครั้ง หลังจากยุติมาตรการดังกล่าวที่ใช้มาตั้งแต่ช่วงเกิดวิกฤติเศรษฐกิจไปเมื่อปี 2555 ขณะเดียวกันยังมีแผนการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับธนาคารพาณิชย์อีกด้วย

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบล่าสุดจากบีโออี ซึ่งมีมากกว่าความคาดหมายของผู้เชี่ยวชาญ แสดงให้เห็นถึงความกังวลของธนาคารกลางต่อเศรษฐกิจของประเทศ ภายหลังการทำประชามติเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน

คณะกรรมการนโยบายการเงินของบีโออีไม่ได้รับรองมาตรการทั้งหมดอย่างเป็นเอกฉันท์ โดยในขณะที่กรรมการทั้ง 9 รายเห็นชอบการลดดอกเบี้ย แต่มี 3 รายที่ไม่สนับสนุนการซื้อพันธบัตร สะท้อนให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ของบีโออีบางรายยังเชื่อว่าข้อมูลเศรษฐกิจที่มีออกมาในช่วงที่ผ่านมายังไม่อ่อนแอถึงกับต้องใช้มาตรการขนานใหญ่เช่นนี้

[caption id="attachment_80408" align="aligncenter" width="342"] มาร์ค คาร์นีย์ มาร์ค คาร์นีย์[/caption]

อย่างไรก็ตาม นายมาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการบีโออี เชื่อว่าผลสำรวจซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่ลดลงอย่างมากในกลุ่มผู้บริโภคและภาคธุรกิจ เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจ อีกทั้งความไม่ชัดเจนของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างอังกฤษและต่างชาติ ซึ่งรวมถึงสหภาพยุโรป (อียู) นับจากนี้ มีโอกาสชะลอการลงทุนและส่งผลต่อเนื่องมายังภาคการผลิตของประเทศ

ทั้งนี้ บีโออีคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลงกว่าเดิมที่คาดไว้ แม้จะเชื่อว่าเศรษฐกิจอังกฤษจะไม่ถึงกับเผชิญภาวะถดถอย โดยในเวลานี้บีโออีคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2560 ไว้ที่ 0.8% ลดลงจาก 2.3% ที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนพฤษภาคม และลดคาดการณ์ปี 2561 ลงเหลือ 1.8% จากเดิม 2.3% ขณะที่เศรษฐกิจในปีนี้คาดว่าจะเติบโตได้ 2% ไม่เปลี่ยนแปลงจากคาดการณ์เดือนพฤษภาคม

เจ้าหน้าที่ของบีโออีมองผลกระทบจากเบร็กซิทต่อเศรษฐกิจในหลายส่วน โดยมองแนวโน้มการใช้จ่ายของผู้บริโภคและตลาดอสังหาริมทรัพย์ไม่สดใส ขณะที่การส่งออกแม้จะได้อานิสงส์จากการอ่อนค่าของเงินปอนด์ในช่วงสั้น แต่ในระยะยาวจะชะลอตัวลงเนื่องจากสถานะความสัมพันธ์ทางการค้าไม่มีความชัดเจน ส่วนอัตราว่างงานคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 5.5-5.6% ภายในปี 2561 จากระดับ 4.9% ในปัจจุบัน

บีโออีเชื่อว่า การอ่อนค่าลงอย่างมากของเงินปอนด์และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เพิ่งประกาศออกมาจะช่วยดันอัตราเงินเฟ้อขึ้นสู่เป้าหมาย 2% ภายในปีหน้า คาดการณ์ของบีโออีแสดงให้เห็นว่าเงินเฟ้อมีโอกาสเพิ่มขึ้นสูงกว่าเป้าหมายถึงระดับ 2.4% ในปี 2561 แต่บีโออีมองว่าเป็นผลกระทบที่คุ้มค่ากับการพยุงเศรษฐกิจเอาไว้ไม่ให้ทรุดลง

คาร์นีย์กล่าวว่า บีโออีทำได้เพียงพยุงเศรษฐกิจเอาไว้ แต่ไม่สามารถหักล้างผลกระทบที่เกิดจากเบร็กซิทได้ทั้งหมด ขณะเดียวกันนายฟิลิป แฮมมอนด์ รัฐมนตรีคลังของอังกฤษ กล่าวยืนยันว่า พร้อมที่จะดำเนินมาตรการต่างๆ ที่จำเป็นเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจและเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา

ทั้งนี้ บีโออีกล่าวว่าจะซื้อพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษเป็นมูลค่า 6 หมื่นล้านปอนด์ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า โดยมีเป้าหมายเพื่อลดอัตราดอกเบี้ยระยะยาวและลดต้นทุนกู้ยืมให้กับผู้บริโภคและบริษัทต่างๆ และซื้อหุ้นกู้เป็นมูลค่า 1 หมื่นล้านปอนด์ในช่วง 18 เดือนข้างหน้า เริ่มตั้งแต่เดือนกันยายนนี้เป็นต้นไป เพื่อหวังกระตุ้นการลงทุนของภาคธุรกิจ

คาร์นีย์กล่าวด้วยว่า บีโออีจะไม่เดินตามรอยธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางญี่ปุ่นในการใช้มาตรการดอกเบี้ยติดลบ หรือนำมาตรการที่เรียกว่า "เฮลิคอปเตอร์มันนี" หรือการที่ธนาคารกลางเข้าไปอุดหนุนงบประมาณให้รัฐบาลหรือแจกจ่ายเงินสดให้กับผู้บริโภค

ด้านนักเศรษฐศาสตร์แสดงความแปลกใจต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ ที่เสริมออกมา แม้ว่าส่วนใหญ่จะคาดการณ์การลดดอกเบี้ยเอาไว้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์บางรายตั้งข้อสังเกตว่ามาตรการเหล่านี้จะได้ผลเพียงใด ในเวลาที่ความสัมพันธ์ทางการค้าของอังกฤษยังไม่ชัดเจน "แพ็กเกจของบีโออีเป็นนโยบายตอบโต้ผลประชามติในเชิงรุก แต่มันเป็นเพียงมาตรการรับมือมากกว่าการหักล้างผลที่เกิดขึ้นต่อการเติบโตของอังกฤษจากเบร็กซิท" ฟิทช์เรตติ้งส์ ให้ความเห็น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,181 วันที่ 7 - 10 สิงหาคม พ.ศ. 2559