ศรีสวัสดิ์ฯรุกบริหารหนี้เสียตลาดอาเซียน

05 ส.ค. 2559 | 12:00 น.
ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ สำรองเงินทุนหมื่นล้าน ขยายธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลใน-นอกประเทศ ตั้งเป้าปี 2559 ผุดครบ2,000 สาขา คาดพอร์ตสินเชื่อโตไม่ตํ่ากว่า 20% ต่อปี ส่วนตลาดอาเซียนหลังประเดิมเมียนมา ปล่อยกู้รถจักรกลเกษตร อัพเป้าสินเชื่อปีแรกเท่าตัวเป็นพันล้านบาท ก่อนปักหมุดที่เวียดนามพร้อมแตกไลน์สู่ธุรกิจบริหารหนี้เสียเงินลงทุนพร้อม 4 พันล้าน

นางสาวธิดา แก้วบุตตา กรรมการ บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 จำกัด(มหาชน)(บมจ.)(SAWAD) ประกอบธุรกิจหลักให้บริการสินเชื่อในรูปแบบสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ สินเชื่อประเภทที่อยู่อาศัย ภายใต้สโลแกน "มีบ้าน มีรถ เงินสดทันใจ"ให้สัมภาษณ์ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงแผนธุรกิจว่า บริษัทได้สำรองเงินทุนสำหรับการขยายธุรกิจด้วยการขออนุมัติผู้ถือหุ้นออกหุ้นกู้วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท โดยจะทยอยระดมทุนต่อเนื่อง ขณะที่ล่าสุดได้ออกหุ้นกู้ไปแล้ว 1,000-2,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 3-4 % ต่อปี

ทั้งนี้บริษัทมีแผนขยายธุรกิจให้ครอบคลุม 3 ด้าน คือ 1.ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลในประเทศ ตั้งเป้าปี 2559 ขยายสาขาให้ครอบคลุม 2,000 สาขา ทั่วประเทศ โดยมีฐานลูกค้ากว่า 1 ล้านราย

สำหรับการดำเนินธุรกิจใน 3-5 ปีข้างหน้า มีเป้าหมายขยายการให้บริการครอบคลุมทุกตำบลในประเทศไทย จากปัจจุบันมีจำนวน 1,896 สาขา ขณะที่คาดการณ์พอร์ตสินเชื่อปีนี้โต 20-30 % จากสิ้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 1.4 หมื่นล้านบาท

ด้านนโยบายปล่อยสินเชื่อ จะอยู่ที่สัดส่วน 50 % ของหลักประกัน อัตราดอกเบี้ย 15 % ต่อปี โดยรถยนต์ 4 ล้อ ปล่อยกู้ 2-3 แสนบาท ต่อราย ระยะเวลาผ่อนชำระ 18 เดือน รถจักรยานยนต์ ปล่อยกู้ 7,000-10,000 บาท ต่อราย ระยะเวลาการผ่อนชำระ 12 เดือน ขณะที่มีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล เฉลี่ย 3 % ของสินเชื่อ

2.ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลในต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายตลาดอาเซียน ประเดิมเมียนมาเป็นประเทศแรก เริ่มทำธุรกิจไตรมาสแรกของปีนี้ ขณะที่ตั้งเป้าเวียดนามเป็นประเทศต่อไป มีรูปแบบการทำธุรกิจที่คล้ายคลึงกับเมียนมา นอกจากนี้ยังสนใจประเทศอินโดนีเซีย โดยบริษัทได้ส่งพนักงานไปศึกษาและสำรวจลู่ทางการทำธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับในเมียนมา SAWAD เป็นผู้ให้คำปรึกษาการทำธุรกิจและเป็นผู้สนับสนุนสินเชื่อแก่พันธมิตรในท้องถิ่น รายได้จะมาในรูปของส่วนแบ่งอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืม ซึ่งในเมียนมา มีอัตราดอกเบี้ย 20-40 % ต่อปี (SAWAD ได้ส่วนแบ่ง 20-25 % )

นอกจากนี้จะมีรายได้จากค่าธรรมเนียมการเป็นที่ปรึกษา 5-10 % ต่อปี โดยครึ่งปีแรกคาดว่ามีรายได้จากธุรกิจในประเทศดังกล่าว 70-100 ล้านบาท คาดการณ์เติบโต 100 % ต่อปี ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า

นางสาวธิดา กล่าวว่า การทำธุรกิจในเมียนมา ได้รับการตอบรับที่ดี และ SAWAD เป็นผู้ประกอบการไทยรายแรกที่ไปทำธุรกิจให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรกลเพื่อการเกษตร โดยร่วมกับคูโบต้า รถไถนา ครอบคลุม 2 พื้นที่ คือ เมือง มัณฑะเลย์ และย่างกุ้ง ล่าสุดมีลูกหนี้กว่า 200 ล้านบาท ขณะที่บริษัทได้ปรับเพิ่มเป้าสินเชื่อปีแรกขึ้นเท่าตัวจาก 500 ล้านบาท เป็น 1,000 ล้านบาท หลังได้รับการตอบรับที่ดีมาก

"การทำธุรกิจในเมียนมา เราเริ่มต้นที่รถเพื่อการเกษตร เป้าต่อไป จะปล่อยสินเชื่อรถจักรยานยนต์ และสินเชื่อจำนำป้ายทะเบียนรถด้วย " นาวสาวธิดา กล่าวและว่า

ส่วนธุรกิจที่ 3 ที่ SAWAD กำลังรุกคืบ คือ ธุรกิจให้บริการเร่งรัดติดตามหนี้สิน และซื้อหนี้ด้อยคุณภาพมาบริหาร ดำเนินการผ่านบริษัทบริหารสินทรัพย์ เอสดับบลิวพี ตั้งงบลงทุนปีนี้ 4 พันล้านบาทสำหรับการซื้อลูกหนี้ โดยล่าสุดได้ซื้อลูกหนี้ด้อยคุณภาพของบมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ มาบริหาร มีมูลหนี้ 6,000-7,000 ล้านบาท เป็นลูกหนี้ที่อยู่อาศัยและที่ดิน

ขณะที่ตั้งเป้า 3-5 ปี รายได้จากธุรกิจบริหารหนี้มีสัดส่วน 15-20 % ของรายได้รวม หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งธุรกิจหลักของบริษัท

นางสาวธิดา กล่าวว่า แผนในระยะ 4 ปี จากนี้ บริษัทได้ตั้งเป้านำบริษัทบริหารสินทรัพย์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯอีกด้วย

นักวิเคราะห์บมจ.หลักทรัพย์(บล.)บัวหลวง คาดการณ์SAWAD จะทำกำไรสูงสุดใหม่ หรือนิวไฮ 2 ปีต่อเนื่อง (2559-2560 ) โดยคาดว่าปี 2559 จะมีกำไรสุทธิ 1,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37 % จากปี 2558 และปี 2560 จะมีกำไรสุทธิ 2,200 ล้านบาท ขณะที่คาดการณ์พอร์ตสินเชื่อปีนี้แตะ 2 หมื่นล้านบาท และปี 2560 จะเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 หมื่นล้านบาท

นายวรุฒม์ ศิวศริยานนท์ กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.เอเชีย เวลท์ฯ คาดการณ์ปี 2559 พอร์ตสินเชื่อของบริษัทดังกล่าวจะเติบโต 40 % จากปีก่อน ซึ่งจะเติบโตไตรมาสละ 10 % โดยไตรมาส 2/2559 เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ และราคาสินค้าเกษตรปรับเพิ่มขึ้นด้วยหลังปัญหาภัยแล้งคลี่คลายและเป็นช่วงเปิดเทอมทำให้มีความต้องการใช้เงินมากขึ้น

บทวิเคราะห์บล.เคทีบี(ประเทศไทย)ฯ คาดการณ์ไตรมาส 2/2559 SAWAD มีกำไรสุทธิ 437 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4 % จากไตรมาสแรก และเพิ่มขึ้นถึง 50 % เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนจากสินเชื่อที่คาดว่าเติบโต 12 % จากไตรมาสแรก ขณะที่คาดว่าเอ็นพีแอล ลดลงราว 0.43 % จากสินเชื่อที่เติบโตมากและมีการตัดหนี้สูญ ที่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 4

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,180 วันที่ 4 - 6 สิงหาคม พ.ศ. 2559