ออมสินปล่อยกู้คนจนเมือง

07 ส.ค. 2559 | 05:00 น.
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 2 สิงหาคมนี้ ว่า ครม.เห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเมือง ตามแนวทางประชารัฐ ที่ประชาชนจำนวนมากมีปัญหาในการชำระหนี้ในการดำรงชีพ ในการเข้าถึงแหล่งทุน ในเรื่องของเงินออมต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเมือง ที่ปัจจุบันมีเกือบ 9 ล้านคน จึงได้หารือกับธนาคารออมสิน จัดทำมาตรการช่วยเหลือ 3 ด้าน ประกอบด้วย

1.มาตรการสินเชื่อประชารัฐเพื่อประชาชน อาทิ ผู้ประกอบการอิสระรายย่อย เช่นพ่อค้า แม่ค้า แม่บ้าน ผู้ขับขี่รถจักรยานรับจ้าง เป็นต้น มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป มีอายุเวลาการชำระเงินไม่เกิน 65 ปี มีถิ่นที่อยู่แน่นอนสามารถติดตามได้ สามารถกู้ยืมจากธนาคารออมสินได้ตามความจำเป็น ไม่เกินรายละ 5 หมื่นบาท เมื่อรวมวงเงินกู้เดิมจากธนาคารประชาชน ต้องไม่เกิน 2 แสนบาทต่อราย ระยะเวลากู้ยืม 5 ปี ดอกเบี้ยปีละ 0% ปี 2-5 คิดดอกเบี้ย 1% ต่อเดือน สามารถค้ำประกันโดยประชาชน ใช้หลักทรัพย์ สามารถยื่นเรื่องได้ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อให้เข้าถึงแหล่งทุนบรรเทาความเดือดร้อน ลดการกู้นอกระบบ

2.มาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนภายใต้นโยบายรัฐบาล ซึ่งเป็นการดูแลลูกค้าของธนาคารออมสินเอง ซึ่งได้รับบริการสินเชื่อและอยู่ระหว่างการผ่อนชำระคืน โดยลูกค้ากลุ่มดังกล่าวขอพักชำระหนี้ชั่วคราว หรือขอขยายเวลาพักชำระหนี้เพื่อลดภาระรายจ่าย สามารถดำเนินการได้ โดยขอพักชำระเงินต้นได้นานสูงสุด 3 ปี ขึ้นอยู่กับประเภทสินเชื่อ แต่ต้องชำระดอกเบี้ย พร้อมกันนี้ขอขยายเวลาชำระหนี้เพิ่มได้เท่ากับระยะเวลาพักชำระหนี้เงินต้น ขณะที่สินเชื่อประเภทอื่น ๆ อาทิ สินเชื่อเอสเอ็มอี ที่สามารถชำระหนี้ได้ประมาณ 2 เท่าของระยะเวลาคงเหลือของสัญญาเงินกู้ โดยขยายระยะเวลาได้ไม่เกิน 20 ปี ที่เกิน 20 ปีหากมีระยะเวลาคงเหลือเกิน 20 ปี สามารถใช้ระยะเวลาที่เหลือปรับปรุงหนี้ได้ สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้ภายในวันที่ 31สิงหาคม 2559

และ3.มาตรการเพื่อฝึกอบรมและพัฒนาอาชีพ สร้างความรู้ทางการเงินแก่ผู้ประกอบอาชีพเพื่อปรับปรุงการดำเนินอาชีพนั้นๆ อาทิ โครงการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการออม การเงิน ส่งเสริมการออม การบริหารการเงินและการเรียนรู้และประกอบอาชีพ ตั้งเป้าหมาย 1.5 แสนครอบครัว ครอบครัวละ 1 คนทุกจังหวัดทั่วประเทศ ที่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย มีหลักสูตร 2ประเภท คือ หลักสูตรการบริหารการเงินฉบับครอบครัวเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีมีสุข และหลักสูตรเทคนิคการขายและบริการ โดยจัดสรรงบประมาณทั้งหมดจำนวน 163.9 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินของออมสินจำนวน 13.9 ล้านบาท และรัฐสนับสนุนค่าอาหารและค่าเดินทาง ที่ไม่ใช่ลูกค้าเดิมของธนาคารออมสินอีกจำนวน 150 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถเริ่มอบรมตั้งแต่เดือนสิงหาคม -กันยายน 2559 เพื่อช่วยสร้างอาชีพ สร้างความรู้ทางการเงิน และตอบโจทย์ผู้มีรายได้น้อยชุมชนเมืองของไทย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,180 วันที่ 4 - 6 สิงหาคม พ.ศ. 2559