ปตท.ดิ้นปรับตัวรับธุรกิจแอลพีจี ชี้ยอดใช้ลด/ยังไม่เปิดนำเข้าเสรี

06 ส.ค. 2559 | 10:00 น.
ปตท.ดิ้นปรับตัวธุรกิจแอลพีจีหลังปริมาณนำเข้าทรุดหนัก ล่าสุดเดือนสิงหาคมนี้นำเข้าแค่ 2.2 หมื่นตัน ส่วนที่เหลือต้องเร่ขายตลาดประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่กระทรวงพลังงานชี้ยอดใช้ในประเทศลดลง ไม่จำเป็นต้องรีบเปิดนำเข้าเสรีแอลพีจีภายในปีนี้

นายสรัญ รังคสิริ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ปริมาณการนำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี) ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ที่มีแนวโน้มลดลงอย่างมาก ล่าสุดทางกรมธุรกิจพลังงาน(ธพ.) ให้ ปตท. นำเข้าแอลพีจีเพียง 2.2 หมื่นตันเท่านั้น และแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปีนี้ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะมีปริมาณนำเข้าต่อเดือนเท่าใด ซึ่งทาง ปตท.ก็ปรับตัว โดยนำเข้ามา 1 ลำเรือ (4.4 หมื่นตัน) แต่มาลงคลังที่เขาบ่อยา จ.ชลบุรี 2.2 หมื่นตัน ส่วนที่เหลือทางฝ่ายเทรดดิ้งต้องหาตลาดจำหน่ายยังประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เวียดนาม สิงคโปร์ เมียนมา แทน

ขณะเดียวกันคลังแอลพีจีส่วนขยายที่เขาบ่อยา 2.5 แสนตัน ยังรอความชัดเจนค่าเช่าคลังจากทางกระทรวงพลังงาน คาดว่าจะมีความชัดเจนภายใน 1-2 เดือนนี้ จากนั้น ปตท.จะขออนุญาต ธพ.นำเข้าแอลพีจีเพื่อจำหน่ายให้กับประเทศเพื่อนบ้านต่อไป เนื่องจากปริมาณการนำเข้าในในประเทศค่อนข้างต่ำมาก ทำให้การบริหารคลังและท่าเรือไม่คุ้มกับเงินลงทุน ทำให้ต้องนำเข้าและไปจำหน่ายเพื่อนบ้านแทน ซึ่งพบว่าความต้องการใช้แอลพีจีในประเทศเพื่อนบ้านยังคงเติบโตขึ้น และอยู่ระหว่างให้ทีมเทรดดิ้งเข้าไปศึกษาตลาดในประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มเติม ซึ่งนับว่าเป็นการปรับตัวทางธุรกิจอีกทางหนึ่ง หลังจากความต้องการใช้แอลพีจีในประเทศลดลงอย่างมาก

"แม้ว่าแอลพีจีในประเทศจะลดลง แต่การนำเข้าแอลพีจีครึ่งลำเรือในเดือนสิงหาคมนี้ สามารถนำแอลพีจีส่วนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งไปขายให้กับประเทศเพื่อนบ้านได้ ต้นทุนจึงไม่เพิ่มขึ้น และในอนาคตจะมีการนำเข้าเพื่อขายตลาดในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น" นายสรัญ กล่าว

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สนพ.ได้รายงานความคืบหน้านโยบายส่งเสริมการนำเข้าแอลพีจีเสรีต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา พบว่าปัจจุบันความต้องการใช้แอลพีจีในประเทศปรับลดลง และประเมินว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ อาจไม่จำเป็นต้องนำเข้าแอลพีจี แต่ล่าสุดทางกรมธุรกิจพลังงาน(ธพ.) แจ้งว่ามีโรงกลั่นน้ำมันปิดซ่อมบำรุง 1 แห่ง ทำให้กำลังการผลิตแอลพีจีหายไปประมาณ 1 หมื่นตัน ดังนั้น จึงให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นำเข้าแอลพีจีจำนวน 2.2 หมื่นตันในเดือนสิงหาคมนี้ ขณะที่ราคานำเข้าแอลพีจีเสรี ปัจจุบันยังใช้ราคาตลาดโลก(CP) บวก 85 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน

ขณะเดียวกัน กบง.มีมติตึงราคาแอลพีจีเดือนสิงหาคมนี้ ไว้ที่ 20.29 บาทต่อกิโลกรัม แม้สถานการณ์ราคาแอลพีจีตลาดโลกจะลดลงจากเดือนก่อน 14 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน อยู่ที่ระดับ 287 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ส่งผลให้ราคาต้นทุนเฉลี่ยการจัดหาแอลพีจีลดลง แต่เห็นว่ายังเป็นอัตราที่ไม่มากนัก จึงมีมติเก็บเงินเข้ากองทุนแอลพีจีก่อน โดยอัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯ เพิ่มขึ้นเป็น 39 สตางค์ต่อกิโลกรัม จากเดิมอยู่ที่ 6 สตางค์ต่อกิโลกรัม ทำให้มีเงินไหลเข้า 133 ล้านบาทต่อเดือน จากเดิมอยู่ที่ 22 ล้านบาทต่อเดือน โดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2559 อยู่ที่ 4.4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นกองทุนก๊าซแอลพีจีอยู่ที่ 7.1 พันล้านบาท และกองทุนน้ำมันฯ 3.7 หมื่นล้านบาท

นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน(ธพ.) เปิดเผยว่า จากความต้องการใช้แอลพีจีในประเทศที่ลดลงอย่างต่อเนื่องนี้ ได้มอบหมายให้ปตท.ไปจัดทำแผนการนำเข้าในส่วนของระยะเวลาที่เหลืออีก 5 เดือนของปีนี้แล้ว ซึ่งไม่น่าจะเกิน 2 ลำเรือ (ขนาดลำละ 4.4 หมื่นตัน) และนโยบายการเปิดนำเข้าเสรีโดยผ่านการประมูลนั้น คงจะไม่สามารถดำเนินการได้ภายในปีนี้ เนื่องจากความต้องการใช้ไม่ได้ขยายตัว และอาจต่อเนื่องไปถึงปีหน้า ทำให้กระทรวงพลังงานจะต้องทบทวนโรดแมปในการเปิดเสรีธุรกิจนำเข้าแอลพีจีใหม่อีกครั้ง จากแผนเดิมที่คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในปีนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,180 วันที่ 4 - 6 สิงหาคม พ.ศ. 2559