‘ออมสิน’เดินหน้าแก้หนี้ครู ตั้งวงเงินพิเศษดอกเบี้ยเหลือ 4%

07 ส.ค. 2559 | 06:00 น.
ธ.ออมสิน เดินหน้าแก้นโยบายหนี้ครู ประเดิมกลุ่มครูไม่เบี้ยวหนี้ก่อน คาดเริ่มภายใน 1-2 สัปดาห์ จับมือเซ็น MOU ตั้งวงเงินพิเศษ-ลดดอกเบี้ยจาก 6% เหลือ 4% ต่อปี มั่นใจย้ายหนี้ครูให้ สกสค. ดูแลหนุน NPL ลดลงเหลือ 2-3 พันราย

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงนโยบายการแก้หนี้ครู ตลอดจนบุคลากรทางการศึกษา นั้น ขณะนี้มีความชัดเจนแล้ว เนื่องจากหากพิจารณาตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ให้ธนาคารออมสิน ร่วมกับทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) และกระทรวงศึกษาธิการ เข้าดูบริหารจัดการหนี้ครูให้เกิดขึ้นเป็นระบบนั้น คาดว่าภายใน 1-2 สัปดาห์จากนี้ ธนาคารออมสินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะออกมาตรการดูแลหนี้ครูผ่านโครงการช่วยเหลือโดยการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้ครู ในรูปแบบของการจัดตั้งวงเงินพิเศษเพื่อนำมาชำระวงเงินเดิม โดยคิดอัตราดอกเบี้ยต่อรายลดลงประมาณ 2% กล่าวคือจาก 6% ลงมาเหลือ 4% ต่อปี

สำหรับโครงการนี้จะเริ่มในกลุ่มครูที่มีวินัยทางการเงินให้สามารถเข้าร่วมโครงการได้ก่อน ส่วนครูที่เป็นหนี้เสีย (NPL) หรือมีภาระค้างจ่ายหนี้กับธนาคารออมสินและค้างกับ สกสค. ขั้นต่อไปจะมีการทำข้อตกลงว่าจะให้ผ่อนชำระกันอย่างไ รหลังจากนั้นจึงให้เข้าร่วมโครงการลดดอกเบี้ยอีกที ซึ่งต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันครูที่เป็นลูกหนี้ชั้นดี ที่เป็นหนี้กับธนาคารออมสินมีประมาณ 4.5 แสนคน ส่วนครูที่เป็นหนี้ตกชั้นหรือเป็น NPL ค่อนข้างจะมีจำนวนน้อย เนื่องจากที่ผ่านมามีการนำเงินโครงการที่หักชำระหนี้ หรือมีค่าใช้จ่ายที่หักชำระหนี้ให้กับครูไปแล้วเป็นวงเงินประมาณ 0.5-1% ซึ่งได้นำมาจ่ายชำระหนี้ครูแทน ดังนั้นเชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะสามารถโอนหนี้ครูจากธนาคารออมสินให้ไปเป็นหนี้กับทาง สกสค. แทน นั้นหมายความว่า ธนาคารออมสิน จะมีหนี้ที่มาจากกลุ่มครูลดลง คงเหลือเพียง 2,000-3,000 ราย หรือคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% จากจำนวนหนี้ครูทั้งหมดและคาดว่าหลังจากที่ลงนามในบันทึก MOU ร่วมกัน ภายใน 1-2 สัปดาห์ จากนี้น่าจะเริ่มโครงการดังกล่าวได้ทันที

"สำหรับนิยามลูกค้าชั้นดี คือ ต้องเป็นครูที่จ่ายหรือชำระหนี้ตรงตามกำหนดเวลา ไม่มีหนี้ค้างชำระ ส่วนกลุ่มที่ 2 ครูที่ยังไม่เป็น NPL โดยมีการค้างชำระแต่ไม่เกิน 90 วัน กลุ่มนี้ก็ยังถือว่าเป็นลูกค้าชั้นดีอยู่ ส่วนกลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่ค้างชำระเกินกว่า 90 วันหรือ3เดือนจะถือว่าเป็น NPL ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 2-3 พันคน"

ทั้งนี้ จากข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการพบว่า ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งระบบ มีหนี้ในระบบสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นหนี้เงินกู้ที่กู้ยืมกับกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูและแหล่งกู้อื่นๆ ราว 7 แสนล้านบาทและเป็นหนี้ที่กู้กับธนาคารออมสิน ผ่านทางโครงการสวัสดิการเงินกู้กองทุนการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ชพค.) รวม 7 โครงการ ของสำนักงาน สกสค. รวม 4.7 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 4.7 แสนราย คาดว่าทั้งระบบอาจมีหนี้ครูรวมกันสูงถึง 1-2 ล้านล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,180 วันที่ 4 - 6 สิงหาคม พ.ศ. 2559