จีเอสเค และ เวอริลี เปิดตัวบริษัทใหม่ ‘แกลวานี ไบโออิเล็กทรอนิกส์’

02 ส.ค. 2559 | 05:09 น.
จีเอสเค และ เวอริลี เปิดตัวบริษัทใหม่ ‘แกลวานี ไบโออิเล็กทรอนิกส์’ รุกพัฒนาการรักษาแบบไบโออิเล็กทรอนิกส์ 2 บริษัทชั้นนำอุตสาหกรรมยาและเทคโนโลยีระดับโลก ร่วมผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้ากระตุ้นประสาท สำหรับใส่ในร่างกายเพื่อการรักษาโรคเรื้อรัง

จีเอสเค (GSK) ประกาศความร่วมมือกับ เวอริลี ไลฟ์ไซแอ๊นซ์ (ชื่อเดิม กูเกิล ไลฟ์ไซแอ๊นซ์) บริษัทในเครือของ Alphabet จัดตั้ง “บริษัท แกลวานี ไบโออิเล็กทรอนิกส์ จำกัด” โดย จีเอสเค ถือหุ้น 55% และ เวอริลี ถือหุ้น 45% เพื่อการวิจัย พัฒนา และ การตลาด การรักษาแบบไบโออิเล็กทรอนิกส์แกลวานี ไบโออิเล็กทรอนิกส์ มีสำนักงานในสหราชอาณาจักร และได้รับการสนับสนุนจากบริษัทแม่ ทั้งด้านสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และเงินลงทุนรวม 540 ล้านปอนด์ (ประมาณ 25,920 ล้านบาท) ตลอดระยะเวลา 7 ปี เพื่อดำเนินการศึกษาและพัฒนาตามเป้าหมาย

ทั้งนี้ การรักษาแบบไบโออิเล็กทรอนิกส์ เป็นการรักษาทางวิทยาศาสตร์แนวใหม่ที่มุ่งแก้ปัญหาโรคเรื้อรังโดยใช้อุปกรณ์ขนาดจิ๋วใส่ในร่างกาย โดยอุปกรณ์จะปล่อยสัญญาณไฟฟ้าไปยังระบบประสาทภายในร่างกาย เพื่อรักษาการเปลี่ยนแปลงแบบผิดปกติของร่างกายอันเกิดจากโรคต่าง ๆ ซึ่ง จีเอสเค ได้มีการศึกษาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 และเชื่อว่า อุปกรณ์ดังกล่าวจะสามารถรักษาโรคเรื้อรัง เช่น โรคไขข้อ โรคเบาหวาน โรคหอบหืดได้

สำหรับข้อตกลงในการจัดตั้งบริษัท แกลวานี ไบโออิเล็กทรอนิกส์ ตอกย้ำถึงความก้าวหน้าที่สำคัญของการวิจัยด้านไบโออิเล็กทรอนิกส์ของจีเอสเค โดยการจัดตั้ง แกลวานี ไบโออิเล็กทรอนิกส์ เป็นการผนวกความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนายาระดับโลกและความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในด้านชีววิทยาของโรคของจีเอสเค ร่วมกับเวอริลี ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญชั้นนำของโลกในด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กำลังไฟฟ้าต่ำ การพัฒนาอุปกรณ์ การวิเคราะห์ข้อมูล และการพัฒนาซอฟท์แวร์ สำหรับแอปพลิเคชันทางการแพทย์ โดยแกลวานี ไบโออิเล็กทรอนิกส์ จะเริ่มต้นในการศึกษาเกี่ยวกับภาวะการอักเสบ ความผิดปกติทางการเผาผลาญ และต่อมไร้ท่อ รวมทั้ง โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งมีหลักฐานบ่งชี้ที่สำคัญในการศึกษาจากสัตว์ทดลองและการพัฒนาอุปกรณ์ขนาดจิ๋ว

นายมนเซฟ สลาอุย ประธาน GSK Global Vaccines และประธานกรรมการของบริษัท แกลวานี ไบโออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มการลงทุนในด้านไบโออิเล็กทรอนิกส์ของ GSK กล่าวว่า “กระบวนการต่าง ๆ ของร่างการมนุษย์ถูกควบคุมโดยกระแสไฟฟ้าที่จะเชื่อมระหว่างระบบประสาทและอวัยวะในร่างกาย ซึ่งอาจจะพบความผิดปกติในโรคเรื้อรังต่าง ๆ ซึ่งเป้าหมายของการรักษาแบบไบโออิเล็กทรอนิกส์ คือ การนำความก้าวหน้าล่าสุดในด้านชีววิทยาและเทคโนโลยีมาตีความเชิงอิเล็กทรอนิกส์เพื่อแก้ไขรูปแบบผิดปกติที่พบในโรคต่าง ๆ โดยการติดอุปกรณ์ขนาดจิ๋วกับเส้นประสาทของแต่ละคน ซึ่งหากการศึกษาและพัฒนาครั้งนี้ประสบความสำเร็จ การรักษาแบบไบโออิเล็กทรอนิกส์จะเป็นแนวทางการรักษาใหม่ควบคู่กับการรักษาโดยยาและวัคซีนแบบเดิม”

“แกลวานี ไบโออิเล็กทรอนิกส์ สะท้อนถึงก้าวสำคัญของเส้นทางด้านไบโออิเล็กทรอนิกส์ของจีเอสเคที่นำความเชี่ยวชาญด้านสุขภาพและเทคโนโลยีมาสร้างสรรค์อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดจิ๋วและพัฒนานวัตกรรมในการรักษา”

นายไบรอัน โอทิส ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของเวอริลี กล่าวว่า “เป็นความร่วมมือที่มีความท้าทายอย่างสูงของจีเอสเคและเวอริลีเพื่อสร้างผลงานครั้งยิ่งใหญ่ การรักษาแบบไบโออิเล็กทรอนิกส์จะเป็นแนวทางใหม่ของการรักษาโรค และเราตระหนักดีว่า ความสำเร็จครั้งนี้ต้องอาศัยความรู้ด้านชีววิทยาเกี่ยวกับโรคอย่างลึกซึ้งและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีขนาดจิ๋วใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง ความร่วมมือนี้จะสร้างโอกาสในการเติบโตให้กับเวอริลี เรานำความเชี่ยวชาญของเรามาปรับใช้ในการผลิตอุปกรณ์ขนาดจิ๋วที่มีกำลังไฟฟ้าต่ำและมีระบบการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างแม่นยำเพื่อการรักษาโรค”

สำหรับ บริษัท แกลวานี ไบโออิเล็กทรอนิกส์ จะมีสำนักงานใหญ่ ตั้งอยู่ในศูนย์วิจัยและพัฒนาระดับโลกของจีเอสเค ที่เมืองสตีเวนิจ สหราชอาณาจักร และมีศูนย์วิจัยแห่งที่ 2 ตั้งอยู่ในโรงงานของเวอริลี ทางตอนใต้ของเมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ซึ่งจะมีนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร และนักวิจัยทางคลินิกประมาณ 30 คน และมีเงินทุนและความร่วมมือต่าง ๆ ทั้งจากบริษัทแม่ทั้ง 2 แห่ง มหาวิทยาลัย และบริษัทวิจัยอื่น ๆ จีเอสเค และเวอริลี เชื่อว่า การทำงานด้วยความร่วมมือต่างๆ นี้ จะช่วยเร่งพัฒนาการรักษาแบบไบโออิเล็กทรอนิกส์ในครั้งนี้อย่างแน่นอน

บริษัท แกลวานี ไบโออิเล็กทรอนิกส์ จะมีนายคริส แฟม รองประธานด้านการวิจัยไบโออิเล็กทรอนิกส์ ของจีเอสเค เป็นประธานผู้บริหาร และมีกรรมการบริษัทรวม 7 คน โดยมี นายมนเซฟ สลาอุย เป็นประธานกรรมการ และนายแอนดรูว์ คอนราด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ เวอริลี เป็นหนึ่งในกรรมการ สำหรับนายคริส เป็นผู้บุกเบิกในการค้นพบยาโมเลกุลขนาดเล็กและขนาดใหญ่และทำงานด้านการวิจัยและพัฒนามาอย่างยาวนานกว่าทศวรรษ ตามกลยุทธ์ด้านการวิจัยและพัฒนาที่มุ่งเน้นในด้านเทคโนโลยีก่อกำเนิด โดยเขาได้ร่วมออกแบบและเป็นผู้นำในการบุกเบิกด้านไบโออิเล็กทรอนิกส์ของจีเอสเค