ชง‘บิ๊กตู่’ยกเครื่องโลจิสติกส์ ดึงเอกชนร่วมตั้งสนง.ดูแล/หลังไทยมีปัญหา 9 เรื่องใหญ่

02 ส.ค. 2559 | 04:00 น.
สปท.เสนอ “ประยุทธ์” ใช้มาตรา 44 ตั้งสำนักงานโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์แห่งชาติ ดึงเอกชนภาคโลจิสติกส์ร่วม 40% ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านโลจิสติกส์ของประเทศให้เป็นหนึ่ง ชี้ที่ผ่านมาไทยมีปัญหาใหญ่ด้านโลจิสติกส์ถึง 9 เรื่อง ทำขีดแข่งขันประเทศวูบ ขาดการเชื่อมโยงที่ดี เสียเงินมากแต่ใช้ประโยชน์น้อย

[caption id="attachment_77054" align="aligncenter" width="382"] สายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์ คณะทำงานปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์ ในคณะอนุกรรมาธิการอุตสาหกรรม และบริการ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) สายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์ คณะทำงานปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์ ในคณะอนุกรรมาธิการอุตสาหกรรม และบริการ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.)[/caption]

นายสายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์ คณะทำงานปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์ ในคณะอนุกรรมาธิการอุตสาหกรรม และบริการ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ทางสปท.ขอเสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ในการจัดตั้ง สำนักงานโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์แห่งชาติ เพื่อกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านโลจิสติกส์ของประเทศ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีองค์ประกอบคณะกรรมการมาจากตัวแทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับภาคโลจิสติกส์สัดส่วน 60 : 40

สำหรับเหตุผลในการเสนอตั้งสำนักงานฯในครั้งนี้เป็นผลจากที่ประเทศไทยมีปัญหาด้านโลจิสติกส์ใน 9 เรื่องใหญ่ ได้แก่ 1.ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของไทยต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)ยังสูงถึง 14.1% เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการค้า 2. อันดับความสามารถในการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ของไทยตามข้อมูลของธนาคารโลกในปี 2557 อยู่ที่อันดับที่ 35 แต่ในปีนี้ไทยหล่นไปอยู่อันดับที่ 45 หรือลดลงไป 10 อันดับ 3.ไม่มีองค์กรหลักในการบริหาร ควบคุม และประเมินระบบโลจิสติกส์ ที่ผ่านมามี 16 หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ แต่ทำงานในลักษณะต่างคนต่างทำ ขาดเอกภาพในการขับเคลื่อน

4.ไทยไม่มีศูนย์จัดเก็บและกระจายสินค้าเกษตร ทำให้ต้นทุนสินค้าเกษตรสูง ต่างชาติมีอิทธิพลในการกำหนดราคารับซื้อและการขนส่ง 5. ไม่มีระบบไอทีในการจัดเก็บเชื่อมโยงข้อมูลด้านโลจิสติกส์ของแต่ละองค์กรทั้งในภาครัฐและเอกชน 6.ไม่มีระบบติดตามยานพาหนะและสินค้าเข้า-ออก ณ ด้านชายแดน เสี่ยงต่อความมั่นคงของประเทศ 7.การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบทั้งทางถนน รถไฟ เรือ เครื่องบิน และท่อขาดความต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เน้นการขนส่งทางถนนมากถึง 82% ทำให้ต้นทุนสูง 8.ท่าเรือขนส่งสินค้านำเข้า-ส่งออกหลายแห่งเสียงบประมาณการสร้างสูงเป็นพันล้าน แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่เต็มประสิทธิภาพ เช่น ท่าเรือนครสวรรค์ ท่าเรือระนอง เป็นต้น และ 9.ไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากเป็นอันดันดับ 2 ของโลก(ข้อมูลปี 2557)

“ที่ผ่านมารัฐบาลชุดปัจจุบันได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศไทย หรือ กบส.ไปแล้ว โดยมี 16 หน่วยงานของรัฐอยู่ในนี้ และมีเอกชนจากสภาอุตสาหกรรมฯ สภาหอการค้าฯ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ และสมาคมธนาคารไทยร่วมเป็นคณะกรรมการ แต่หน้าที่หลักของคณะกรรมการฯคือให้ข้อเสนอแนะ ไม่มีหน้าที่กำหนดนโยบาย และยุทธศาสตร์ด้านโลจิสติกส์ในภาพรวมของประเทศ ถามว่าหน่วยงานไหนที่เข้าไปเป็นกรรมการมีความรู้เรื่องโลจิสติกส์อย่างจริงๆ จังๆ บ้างคำตอบคือมีน้อย ที่ผ่านมา กบส.ตั้งมาตั้งแต่ปี 57 มีประชุมไปเพียง 3 ครั้งเท่านั้น”

ดังนั้นอยากเสนอให้ตั้งสำนักงานโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์แห่งชาติ คล้ายเป็น 1 กระทรวงขึ้นมาเพื่อวางนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านโลจิสติกส์ของประเทศ โดยเหตุผลที่ต้องมีเอกชนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสัดส่วน 40% เพราะเอกชนจะทราบปัญหาและรู้จุดอ่อนด้านโลจิสติกส์ของประเทศดีและสามารถให้ข้อเสนอแนะ ในการดำเนินโครงการต่าง ๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นการสร้างสนามบิน ท่าเรือ ถนน จะเชื่อมต่อกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแต่ละพื้นที่อย่างไรจึงจะคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้เมื่อมีการกำหนดโยบายและยุทธศาสตร์แล้วก็ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยใช้งบปกติของแต่ละหน่วยงาน โดยคณะกรรมการฯมีอำนาจในการควบคุม ติดตามตรวจสอบและประเมินผล

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,179
วันที่ 31 กรกฎาคม - 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559