คาดกนง. คงดอกเบี้ยที่ 1.50% ในการประชุม 3 ส.ค. 59 หลังเศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวขึ้น

29 ก.ค. 2559 | 09:38 น.
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์เรื่อง คาดกนง. คงดอกเบี้ยที่ 1.50% ในการประชุม 3 ส.ค. 59 หลังเศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวขึ้น

ประเด็นสำคัญ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีมติ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ไว้ตามเดิม ในการประชุมวันที่ 3 สิงหาคม 2559 หลังจากทิศทางการใช้จ่ายภายในประเทศยังสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายของภาครัฐ

สำหรับปัจจัยอื่นที่ต้องติดตาม คงได้แก่ ประเด็นความเสี่ยงจาก BREXIT สถานะทางการเงินของภาคธนาคารอิตาลี พัฒนาการของเศรษฐกิจจีนและญี่ปุ่น ตลอดจนจังหวะในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ

ผลต่อเศรษฐกิจไทย การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในระดับปัจจุบัน น่าจะเหมาะสมกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจ แต่ก็ต้องระวังพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูง (Search for Yield) ของนักลงทุนบางส่วนต่อไป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองประเด็นสำคัญทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจมีผลต่อการประชุมนโยบายการเงินของ กนง. ในวันที่ 3 สิงหาคม 2559 ดังนี้

กนง.น่าจะตัดสินใจ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ เพื่อติดตามพัฒนาการการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และสถานการณ์ความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกที่อยู่ในระดับสูง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาพการฟื้นตัวของการบริโภค รวมทั้ง แรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ คงเป็นเหตุผลที่สนับสนุนให้ กนง. มีมติ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ในช่วงนี้ทั้งนี้ เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนหลายรายการ มีสัญญาณขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ยอดขายรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ โดยส่วนหนึ่งคงได้รับอานิสงส์จากรายได้เกษตรกรที่เริ่มปรับดีขึ้น (หลังจากราคาสินค้าเกษตรเริ่มขยับสูงขึ้น) ขณะที่ แรงสนับสนุนจากการลงทุนของภาครัฐ และมาตรการในการดูแลช่วยเหลือเกษตรกรในระยะข้างหน้า ก็น่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนให้การฟื้นตัวของบริโภคสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อรวมกับการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ และภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวในเกณฑ์ดี ก็น่าจะเป็นภาพที่ทำให้เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยอาจเติบโตได้ในระดับที่ไม่ต่ำกว่า 3.0% ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมองว่า กนง. น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% เพื่อเป็นการสงวนช่องว่างในการดำเนินนโยบายการเงิน เพื่อใช้ในยามที่จำเป็น/เพื่อรับมือกับความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีอยู่มาก

สำหรับปัจจัยอื่นที่ต้องติดตามที่อาจมีผลต่อทิศทางการดำเนินนโยบายของไทย คงได้แก่ ประเด็นความเสี่ยงจาก BREXIT ความเปราะบางของภาคธนาคารอิตาลี พัฒนาการของเศรษฐกิจจีน ตลอดจนจังหวะในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้แก่

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจมีแนวโน้มคุกคามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมากขึ้นในระยะข้างหน้า อาจส่งผลให้ธนาคารกลางหลายๆ แห่งมีโอกาสที่จะออกมาตการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม จากการที่เศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญกับความเสี่ยงในระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นประเด็นความเสี่ยงจาก BREXIT ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ของธนาคารอิตาลี ตลอดจนความเสี่ยงต่อปัญหาหนี้ภาคธุรกิจของจีน และการชะงักงันรอบใหม่ของเศรษฐกิจญี่ปุ่น อาจส่งผลต่อเนื่องให้ธนาคารกลางของประเทศที่เป็นแกนหลักของโลก จำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นทางการเงินเพิ่มเติม แม้ว่าข้อจำกัดและประสิทธิผลของเครื่องมือนโยบายการเงิน จะยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ดังเช่นมติล่าสุดในการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 28-29 ก.ค. 2559 ที่ได้ส่งสัญญาณผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมผ่านการเพิ่มการซื้อกองทุน ETF ซึ่งเป็นมาตรการที่เบากว่าที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ ท่าทีพร้อมผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางแกนหลักของโลก คงเป็นปัจจัยที่ทำให้ธนาคารกลางของประเทศอื่นๆ ซึ่งรวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย สามารถดำเนินนโยบายการเงินไปในเชิงผ่อนคลายได้ต่อเนื่อง เพื่อช่วยหนุนเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังมีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงปลายปีนี้ ทั้งนี้ จากผลการประชุมของเฟดในเดือนก.ค. 2559 ที่ผ่านมา เฟดยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน และภาคอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯ ซึ่งหากภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า อาจจะเป็นปัจจัยหนุนให้เฟดมีโอกาสที่จะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ในช่วงปลายปีนี้ โดย ณ ขณะนี้ ตลาดการเงินคาดการณ์ถึงโอกาสประมาณ 45% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบวันที่ 13-14 ธ.ค. 2559 หากไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามากระทบกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ ในกรณีที่เฟดเริ่มกระบวนการในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง อาจส่งผลให้ธนาคารกลางต่างๆ รวมทั้ง ธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องกลับมาทบทวนความเหมาะสมของจุดยืนเชิงนโยบาย กับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และความเสี่ยงต่อกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายที่อาจจะมีความผันผวนมากขึ้นในช่วงเวลานั้นด้วยเช่นกัน

ผลต่อเศรษฐกิจไทย การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในระดับปัจจุบัน น่าจะเหมาะสมกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจ และต้นทุนในการระดมทุนของภาคธุรกิจที่ยังทรงตัวในระดับต่ำ ก็น่าจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่า พฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (Search for Yield) ของนักลงทุนบางส่วน ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ต่อไป

โดยสรุป พัฒนาการของเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสัญญาณบวกต่อเนื่องจากเครื่องชี้การบริโภค และแรงสนับสนุนจากแผนการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ คงจะเอื้อให้ กนง. สามารถที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ไว้ตามเดิมในการประชุมนโยบายการเงินวันที่ 3 ส.ค. นี้ เพื่อ “เก็บกระสุนในการดำเนินนโยบายการเงิน หรือ Policy Space” ไว้ใช้ในยามที่จำเป็น เพื่อรับมือกับปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีอยู่ตลอดช่วงครึ่งหลังของปี อาทิ ความเสี่ยงจาก BREXIT ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ของธนาคารอิตาลี ปัญหาหนี้ภาคธุรกิจและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ตลอดจนการชะงักงันรอบใหม่ของเศรษฐกิจญี่ปุ่น

อย่างไรก็ดี ด้วยพัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ปรับดีขึ้น อาจจะส่งผลให้มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) กลับเข้าสู่จังหวะในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในช่วงปลายปี ซึ่งอาจทำให้ธนาคารกลางหลายๆ ประเทศ รวมถึงไทย ต้องชั่งน้ำหนักให้กับหลายๆ ปัจจัยมากขึ้นในการกำหนดจุดยืนของนโยบายการเงินให้มีความเหมาะสมกับเศรษฐกิจ และภาพเงินทุนเคลื่อนย้ายในช่วงเวลานั้น