เผยแนวโน้มส่งออกเริ่มปรับตัวดีขึ้น เดือนมิ.ย.หดตัวร้อยละ 0.1

27 ก.ค. 2559 | 06:16 น.
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ รายงานภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย ประจำเดือนมิถุนายน และครึ่งแรกของปี 2559

การส่งออกของไทยเริ่มมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและหดตัวต่ำสุดในรอบ 3 เดือน แต่ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังเป็นไปอย่างเปราะบางและมีความไม่แน่นอนสูง รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรและน้ำมันยังอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของไทยในเดือนมิถุนายนยังคงหดตัวที่ร้อยละ 0.1 รวม 6 เดือนแรกของปี 2559 หดตัวร้อยละ 1.6  อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในตลาดส่งออกสำคัญเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และประเทศสำคัญในเอเชียใต้ การนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์และวัตถุดิบอุตสาหกรรมสำคัญที่มีแนวโน้มดีขึ้น รวมทั้ง ราคาสินค้าเกษตรที่คาดว่าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นตามการปรับตัวของราคาน้ำมันเมื่อเทียบกับปีก่อน ทำให้คาดว่า การส่งออกของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี จะปรับตัวดีขึ้น นอกจากนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์การส่งออกของโลกแล้ว ถือว่าไทยยังอยู่ในระดับที่ดีเมื่อเทียบกับหลายประเทศ โดยมีอัตราการส่งออกอยู่ในกลุ่มที่หดตัวต่ำที่สุดของโลก อีกทั้งยังมีส่วนแบ่งตลาดสูงขึ้นในเกือบทุกตลาด

มูลค่าการค้ารวม

มูลค่าการค้าในรูปของเงินบาท เดือนมิถุนายน การส่งออกมีมูลค่า 642,388 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 579,661 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) ส่งผลให้การค้าเกินดุล 62,727 ล้านบาท รวม 6 เดือนแรก การส่งออกมีมูลค่า 3,717,692 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9) การนำเข้ามีมูลค่า 3,316,034 ล้านบาท (หดตัวร้อยละ 2.5) และการค้าเกินดุล 401,658 ล้านบาท

มูลค่าการค้าในรูปของเงินเหรียญสหรัฐฯ  เดือนมิถุนายน การส่งออกมีมูลค่า 18,146 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งเป็นอัตราการหดตัวที่ต่ำที่สุดในรอบ 3 เดือน  โดยปรับตัวดีขึ้นจากการหดตัวร้อยละ 8.0 และร้อยละ 4.4 ในเดือนเมษายนและพฤษภาคม ตามลำดับ ในขณะที่ การนำเข้า มีมูลค่า 16,181 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หดตัวร้อยละ 10.1) ส่งผลให้การค้าเกินดุล1,965 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการเกินดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 ติดต่อกัน รวม 6 เดือนแรก การส่งออกมีมูลค่า 105,137 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หดตัวร้อยละ 1.6) การนำเข้ามีมูลค่า 92,724 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หดตัวร้อยละ 10.2) และการค้าเกินดุล 12,413 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร

มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ตามการลดลงของทั้งปริมาณการส่งออกและราคาสินค้าเกษตรสำคัญ เนื่องจากภาวะภัยแล้ง ผลผลิตเหลือมฤดูกาล การชะลอตัวของอุปสงค์โลก และราคาสินค้าเกษตรที่ลดลงตามราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยภาพรวมเดือนมิถุนายน 2559 มูลค่าการส่งออกสินค้าในกลุ่มนี้ ลดลงร้อยละ 7.9 (YoY) สินค้าสำคัญที่ลดลง ได้แก่ ข้าว ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และน้ำตาล (ลดลงร้อยละ 0.2  23.2  36.3  และร้อยละ 8.7 ตามลำดับ) อย่างไรก็ตาม การส่งออกกลุ่มสินค้าอาหารยังขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง อาทิ อาหารทะเลแช่แข็ง โดยเฉพาะกุ้ง ที่ฟื้นตัวต่อเนื่องจากปัญหา EMS (ส่งออกไปสหรัฐอเมริกา เวียดนาม และญี่ปุ่น) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป (ส่งออกไปสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น) และเครื่องดื่ม (ส่งออกไป CLMV) รวม 6 เดือนแรก การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 4.0

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม

มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 3 เดือน โดยเฉพาะการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในขณะที่สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันยังหดตัวอย่างต่อเนื่องตามราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยภาพรวมเดือนมิถุนายน 2559 มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 3.1 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 26.6 (ส่งออกไปตลาดออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และจีน) แผงวงจรไฟฟ้า ขยายตัวร้อยละ 6.2 (ส่งออกไปตลาดฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และจีน) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 13.4 (ส่งออกไปตลาดเวียดนาม ออสเตรเลีย และอินเดีย) และฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ ขยายตัวร้อยละ 0.2 (ส่งออกไปตลาดฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และมาเลเซีย) ในขณะที่ สินค้าสำคัญที่หดตัวต่อเนื่อง ได้แก่ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ

เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง และอัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำ (หดตัวร้อยละ 24.8  26.3  9.9  1.2 และร้อยละ 2.2 ตามลำดับ) รวม 6 เดือนแรก การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 0.3

ตลาดส่งออกสำคัญ

ตลาดส่งออกสำคัญที่ขยายตัวต่อเนื่อง ได้แก่ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และเอเชียใต้ โดยขยายตัวร้อยละ  56.1  4.7  และร้อยละ 3.1 ตามลำดับ ในขณะที่สหภาพยุโรป (15) กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ที่ร้อยละ 0.9 เป็นผลจากสถานการณ์และมาตรการทางเศรษฐกิจที่มีส่วนกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ

ในขณะที่ ตลาดอาเซียน (9) จีน และญี่ปุ่น ยังหดตัวต่อเนื่อง ตามภาวะชะลอตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน รวมทั้งความไม่ชัดเจนของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยหดตัวร้อยละ 16.9  11.9 และร้อยละ 3.8 ตามลำดับ รวม 6 เดือนแรก ตลาดที่ขยายตัว ได้แก่ ออสเตรเลีย (ร้อยละ 8.9) ในขณะที่ตลาดอื่นๆ ยังหดตัว

การค้าชายแดนและผ่านแดน

การค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนเดือนมิถุนายน 2559 ปรับตัวลดลงเล็กน้อย โดยการค้าชายแดน (ระหว่างไทยกับมาเลเซีย เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา) มีมูลค่า 81,240 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 1.9) ในขณะที่การค้าผ่านแดน (สิงคโปร์ จีนตอนใต้ เวียดนาม) มีมูลค่า 11,772 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 2.5) รวมการค้าชายแดนและผ่านแดนมีมูลค่าทั้งสิ้น 93,011 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 1.9)  รวม 6 เดือนแรก การค้าชายแดนมีมูลค่า 502,226 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6) ได้ดุลการค้าชายแดน 99,257 ล้านบาท การค้าผ่านแดนมีมูลค่า 73,830 ล้านบาท (ขยายตัวร้อยละ 10.7) ขาดดุลการค้า 3,745 ล้านบาท รวมการค้าชายแดนและผ่านแดนมีมูลค่าทั้งสิ้น 576,056 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6)