ชง‘บิ๊กตู่’รื้อสัญญาด่วนศรีรัช-วงแหวน

26 ก.ค. 2559 | 07:00 น.
การทางพิเศษฯถือฤกษ์ 22 สิงหาคม เปิดให้บริการด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอก กทม. ด้านตะวันตก สหภาพกทพ.กัดไม่ปล่อย เตรียมยื่นหนังสือนายกฯ ประยุทธ์ ให้ใช้มาตรา 44 รื้อสัญญาสัมปทานใหม่ เผย 2 ปมใหญ่ซุกซ่อน เก็บค่าผ่านทางแบบขั้นบันไดไม่เป็นธรรมผู้ใช้รถ กับผลประโยชน์ที่แบ่งให้รัฐ “อาคม” ออกตัวยังไม่ได้รับข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

[caption id="attachment_74779" align="aligncenter" width="700"] อัตราค่าผ่านทางด่วนสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ อัตราค่าผ่านทางด่วนสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ[/caption]

โครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินการเมื่อปี 2554 ตามที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เสนอ และเป็นโครงการให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินการ ในรูปแบบ Build-Transfer-Operate โดยรัฐบาลรับภาระค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินของโครงการ เอกชนคือบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม รับภาระค่าออกแบบก่อสร้าง ค่าควบคุมงาน และค่าบริหารจัดการ ให้บริการ และบำรุงรักษา ปัจจุบันการก่อสร้างคืบหน้ากว่า 99%

ต่อเรื่องนี้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมความพร้อมก่อนเปิดให้บริการว่า ทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอก กรุงเทพมหานคร จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาปริมาณการจราจรในเส้นทางกาญจนาภิเษกด้านตะวันตกให้คล่องตัวขึ้น โดยเฉพาะบริเวณด่านบางพลี-สุขสวัสดิ์ ซึ่งเส้นทางดังกล่าวจะเป็นการแก้ไขปัญหาการจราจรของกรุงเทพมหานครได้อีกทาง โดยทางบริษัทผู้ที่ได้รับสัมปทานได้เร่งรัดก่อสร้างให้เสร็จเร็วกว่าแผนงาน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบระบบและเส้นทาง คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในสัปดาห์ที่ 3-4 ของเดือนสิงหาคมหรือหลังวันที่ 20 สิงหาคม 2559 ขณะที่ราคาอัตราค่าผ่านทางจะเริ่มต้นที่ 50 บาท, 80 บาท และ 115 บาท สำหรับรถ 4 ล้อ, รถ 6-10 ล้อ และรถมากกว่า 10 ล้อ ตามลำดับ

ยันยังไม่ได้ข้อมูลจากกทพ.

เมื่อถามถึงกรณีที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจกทพ. ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการปรับค่าผ่านทางในสัญญาที่ฝ่ายเอกชนกำหนดตลอดระยะเวลาดำเนินการ โดยปรับเพิ่มแบบขั้นบันไดทุกๆ 5 ปีจากราคาเริ่มต้นที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขสัญญาสัมปทาน ซึ่งมองว่าส่งผลให้ภาครัฐเสียเปรียบเอกชนและไม่เป็นธรรมกับผู้ใช้รถใช้ทางด่วน ที่ต้องรับภาระจ่ายค่าทางด่วนที่ปรับเพิ่มขึ้นตลอดอายุสัมปทาน 30 ปีนั้น นายอาคม ตอบสั้นๆ ว่ายังไม่ได้รับข้อมูลจากกทพ.

สหภาพฯเผยสัญญาเอื้อเอกชน

ด้านนายลาภดี กลยนีย์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจกทพ. เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า สหภาพฯเคยทำหนังสือร้องเรียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงความไม่เป็นธรรมของสัญญาสัมปทาน โดยเฉพาะการปรับค่าผ่านทางเพิ่มแบบขั้นบันไดทุกระยะเวลา 5 ปี ในอัตรา 15 บาท 25 บาท และ 35 บาท สำหรับรถ 4 ล้อ รถ 6-10 ล้อ และรถมากกว่า 10 ล้อตามลำดับ ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกเอกชนร่วมงานหรือดำเนินโครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพ และคณะอนุกรรมฯได้มีการเจรจากับบริษัทให้ปรับลดอัตราการเพิ่มค่าผ่านทางในปีที่ 6-10 หลังเปิดให้บริการ จากที่จะปรับ 15 บาท ให้ลดเหลือ 10 บาท (จาก 50 บาทเป็น 60 บาท) แต่ทางเอกชนไม่ยินยอม

"การจัดเก็บอัตราค่าผ่านทางดังกล่าวในเส้นทางนี้ทางสหภาพกทพ.เล็งเห็นว่าไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้เส้นทาง อีกทั้งยังไม่ใช้ดัชนีผู้บริโภคเป็นเกณฑ์ในการปรับแต่จะใช้ระยะเวลาในการปรับทุกระยะ 5 ปีจึงส่งผลให้ผู้ใช้เส้นทางมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นทุก 5 ปีอย่างไม่เป็นธรรม"

นอกจากนี้ยังมีการเจรจาเรื่องจัดแบ่งผลประโยชน์ให้แก่รัฐเมื่อมีผลตอบแทนทางการเงิน (Financial Internal Rate of Return :FIRR) ทางบีอีเอ็มจะแบ่งผลประโยชน์ให้แก่ กทพ.เมื่อบีอีเอ็มได้รับผลตอบแทนทางการเงินเกินกว่า 13.5% แต่ไม่เกิน 15.5% จะแบ่งผลประโยชน์ในปีนั้นให้ กทพ.ในสัดส่วน 30% ของกระแสเงินสุทธิ และถ้าปีใด FIRR เกินกว่า 15.5% ทางบีอีเอ็มจะแบ่งผลประโยชน์ให้ กทพ. ในสัดส่วน 50%

เตรียมร้องนายกฯตู่ใช้มาตรา44

ประธานสหภาพกทพ.กล่าวอีกว่าอยากให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการทบทวนสัญญาเพราะเห็นว่าสัญญาดังกล่าวนี้ไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้เส้นทาง อาจมองได้ว่าจะมีการหมกเม็ดสัญญาดังกล่าวก็เป็นไปได้ หรืออาจมองได้ว่าจะเป็นการเขียนเพื่อเอื้อประโยชน์ให้เอกชนมากกว่าที่จะเน้นเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนผู้ใช้เส้นทาง สัญญาดังกล่าวเป็นธรรมกับภาครัฐหรือไม่ รัฐสูญเสียผลประโยชน์ในส่วนนี้หรือไม่ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีควรจะสั่งตรวจสอบเรื่องนี้โดยเร็วเนื่องจากเส้นทางดังกล่าวจะเปิดให้บริการในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งทางสหภาพฯมีแนวคิดจะยื่นหนังสือเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ ใช้มาตรา 44 แก้ไขสัญญาที่ไม่เป็นธรรมในเดือนสิงหาคมนี้

"นายกรัฐมนตรีควรพิจารณาใช้มาตรา 44 สั่งรื้อสัญญาไม่เป็นธรรมต่อภาครัฐในครั้งนี้ทันที ประการสำคัญยังมีประเด็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมซุกซ่อนอยู่อีกหลายข้อสมควรที่จะให้มีการเร่งตรวจสอบโดยเร็วก่อนที่จะสร้างความเสียหายต่อภาครัฐตามมาได้ ประการหนึ่งนั้นในพ.ร.บ.ของกทพ.ก็ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่จัดเก็บรายได้ควรจะเป็นบุคลากรของกทพ. ไม่ใช่ของเอกชน ดังนั้นคนของกทพ.ก็ควรจะได้สิทธิ์ดังกล่าวนั้น"

ประธานสหภาพกทพ. กล่าวอีกว่าในเร็วๆนี้ยังจะเสนอให้มีการตรวจสอบถึงผลกระทบต่อพ.ร.บ.การทางพิเศษแห่งประเทศไทยที่อาจจะไม่สอดคล้องกับปัจจุบัน และมีโครงการใดบ้างที่เลี่ยงกระทำตามที่พ.ร.บ.กทพ.กำหนดไว้

"ภาครัฐหารายได้เข้าคลัง ให้สิทธิ์บริษัทเอกชนมาร่วมลงทุน รูปแบบการนำรายได้เข้าคลังสามารถทำได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยได้มากน้อยแค่ไหน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือรายได้จากทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอก กรุงเทพมหานครด้านตะวันตกที่รัฐบาลลงทุนไปกว่า 9 หมื่นล้านบาท แต่หากปริมาณรถใช้บริการไม่ถึงตามที่ระบุไว้เอกชนก็ไม่ต้องจ่ายผลตอบแทนให้รัฐ ส่งผลให้รัฐต้องเสียรายได้ไปหลายปี ดังนั้นจึงอยากถามว่ารัฐจะเอาเงินเศษกำไรจากเอกชนหรือจะเอาเงินรายได้เข้ารัฐแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยกันแน่"

ทั้งนี้ปัจจุบันกทพ.บริหารจัดการทางด่วนโดยกทพ.เองจำนวน 4 เส้นทางหลัก รวมระยะทางกว่า 100 กิโลเมตร และเส้นทางที่บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด(BEM) รับสิทธิ์บริหารจัดการ 3 เส้นทาง ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร

เผยสัญญาทำเมื่อปี 2555

ขณะเดียวกันนายณรงค์ เขียดเดช ผู้ว่าการกทพ. เปิดเผยว่า ทางพิเศษสายศรีรัช- วงแหวนรอบนอกฯ เป็นโครงการต่อขยายโครงข่ายทางพิเศษไปยังฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ มีระยะทางรวม 16.7 กิโลเมตร เริ่มต้นจากถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก บริเวณใกล้โรงกรองน้ำมหาสวัสดิ์) ตามแนวเขตทางรถไฟสายใต้เดิม และข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระราม 7 สิ้นสุดโครงการบริเวณย่านบางซื่อ เชื่อมต่อทางพิเศษศรีรัชบริเวณด้านเหนือของสถานีขนส่งหมอชิต 2 และลงสู่ระดับดินที่บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 มีทางขึ้นลง 6 แห่ง คือ ทางขึ้น-ลงบรมราชชนนี ทางขึ้น-ลงราชพฤกษ์ ทางขึ้น-ลงบางบำหรุ ทางขึ้น-ลงจรัญสนิทวงศ์ ทางขึ้น-ลงพระราม 6 และทางขึ้นลงกำแพงเพชร 2

สำหรับงบประมาณโครงการและระยะเวลาการดำเนินโครงการ โดยรัฐบาลรับภาระเงินอุดหนุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นวงเงิน 9,564 ล้านบาท เอกชนรับภาระค่าออกแบบก่อสร้างและค่าควบคุมงานเป็นเงิน 24,417 ล้านบาท และค่าบริหารจัดการให้บริการและบำรุงรักษาเป็นเงิน 8,399 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 32,816 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี (รวมระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี)

ในส่วนผลการดำเนินงาน การทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้ลงนามสัญญาสัมปทานการลงทุนออกแบบก่อสร้างบริหารจัดการ ให้บริการและบำรุงรักษา โครงการทางพิเศษสายศรีรัช- วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครกับบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BECL เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2555 โดยมีหนังสือแจ้งให้ BECL เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2555 เป็นต้นไป ระยะเวลาสัญญาสัมปทาน 30 ปี ระยะเวลาก่อสร้าง 48 เดือน นับจากวันแจ้งให้เริ่มปฏิบัติงาน สิ้นสุดระยะเวลาก่อสร้างวันที่ 14 ธันวาคม 2559

ต่อมา กทพ.ได้ลงนามในสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาสัมปทานเพื่อการควบรวมกิจการระหว่าง BECL กับบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL โดยเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM

ยันเปิดแน่ 22สิงหาคม

ผู้ว่าการกทพ.กล่าวอีกว่า การก่อสร้างงานโยธามีความคืบหน้ากว่า 99% โดยมีกำหนดเปิดให้บริการในวันที่ 20 เดือนสิงหาคม 2559 นี้ เร็วกว่าแผนที่วางไว้ในช่วงปลายปี 2559 มีด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษขึ้น-ลงจำนวน 10 ด่าน ส่วนอัตราค่าผ่านเป็นระบบแบบเหมาจ่าย รถยนต์ 4 ล้อ 50 บาท รถ 6-10 ล้อ 80 บาท และเกิน 10 ล้อ 115 บาท ทั้งนี้ คาดปีแรกของการเปิดให้บริการจะมีปริมาณการจราจรเฉลี่ย 97,000 เที่ยวต่อวัน ช่วยส่งเสริมศักยภาพด้านคมนาคมและช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯได้ดีมากขึ้น

จากการตรวจเยี่ยมโครงการ ทางพิเศษสายศรีรัช- วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร เป็นการตรวจเช็คความพร้อม ก่อนจะมีการเปิดให้รถวิ่งเพื่อทดสอบความเรียบร้อยทั้งในส่วนของพื้นทาง และระบบจัดเก็บค่าผ่านทางในช่วงระหว่างวันที่ 15 - 17 สิงหาคมนี้ โดยมีกำหนดเปิดให้ประชาชนใช้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 สิงหาคม 2559

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,177 วันที่ 24 - 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559