ฮอตมันนี่ดันหุ้น ‘กระทิง’ ประชามติ 7 ส.ค. ความเสี่ยงระยะสั้น

26 ก.ค. 2559 | 02:00 น.
ตลาดเกิดใหม่ในเอเชียกลายเป็นหลุมหลบภัยของเงินร้อนหรือฮอตมันนี่จากความเสี่ยงของโลกที่เพิ่มขึ้นหลังเบร็กซิท หรือการทำประชามติของอังกฤษออกจากกลุ่มสหภาพยุโรป หรืออียู ซึ่งนักวิเคราะห์ทั่วโลกคาดการณ์ว่าจะทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกใช้นโยบายดอกเบี้ยตํ่าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป ซึ่งในที่นี้รวมธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือเฟดด้วย

เช่นเดียวกับประเทศในกลุ่มทิป (TIP )ซึ่งประกอบด้วยไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ที่กลายเป็นดาวเด่นในเอเชีย เงินลงทุนจากต่างชาติหรือฟันด์โฟลว์ไหลบ่าเข้าลงทุนต่อเนื่องหลังเบร็กซิท

ข้อมูลตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) พบว่าในช่วง 9 วันติดกัน (สิ้นสุด 21ก.ค.59 ) นักลงทุนต่างชาติโชว์ยอดซื้อสุทธิหุ้นไทยถึง 2.6 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ในรอบกว่า 6 เดือน นักลงทุนต่างชาติซื้อสะสมมากถึง 6.6 หมื่นล้านบาท (ดูตารางประกอบ ) นอกจากนี้เงินยังไหลเข้าในพันธบัตรระยะสั้นด้วย

จากเงินร้อนที่ไหลเข้าหุ้นไทยดันให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นคึกคักเกือบ 100 จุด ภายหลังเหตุการณ์เบร็กซิท เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2559 ดัชนีจากระดับ 1,411.12 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1,510.30 จุด อีกทั้งทำสถิติสูงสุด หรือนิวไฮในรอบ 1 ปี

เงินท่วมบอนด์สั้น 3.1 แสนล.

จากกระแสเงินทีไหลเข้ามาในตลาดทุนไทยถือว่าไม่ธรรมดา " ณัฐชาต เมฆมาสิน "ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์(บล.)ทรีนิตี้ จำกัด กล่าวว่าต้องยอมรับเม็ดเงินฟันด์โฟลว์ ที่ไหลเข้ามาในตลาดทุนไทยปีนี้ถือเป็นเงินร้อนแทบทั้งสิ้น สะท้อนจาก 2 พฤติกรรม ดังนี้

1. สัดส่วนการซื้อขายผ่านเอ็นวีดีอาร์ ( NVDR) และกระดานต่างประเทศ (F-Share ) ที่ปรับตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปีนี้ จนล่าสุดอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (โดยปกติแล้วแรงซื้อบนกระดาน NVDR มักเป็นแรงซื้อเก็งกำไรและมีรอบการลงทุนระยะสั้นกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับกระดานต่างประเทศ

2. การเข้าซื้อตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติในปีนี้ที่เจาะจงไปยังตราสารหนี้ระยะสั้นเกือบทั้งหมดกว่า 3.1 แสนล้านบาท เทียบกับตราสารหนี้ระยะยาวที่อยู่เพียง 2 หมื่นล้านบาท

ระวัง!ไหลออกฉับพลัน

ด้วยเหตุนี้นักวิเคราะห์ ผู้เชี่ยวชาญการลงทุน และผู้ที่คร่ำหวอดในตลาดหุ้นมานานอย่าง"ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ "ประธานกรรมการบริหาร บล.เอเซีย พลัสฯ ยังออกมาเตือนนักลงทุนก่อนหน้านี้ถึงความเสี่ยงในการลงทุนโดยให้เหตุผลว่าราคาหุ้นที่ถูกดันโดยฟันด์โฟลว์ในขณะนี้ไม่สะท้อนปัจจัยพื้นฐานเท่าใดนัก

ขณะที่ "ณัฐชาติ" เตือนว่า ถัดจากนี้นักลงทุนอาจต้องเริ่มใช้ความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น จากความเสี่ยงที่เงินร้อนเหล่านี้อาจมีการไหลกลับอย่างฉับพลันหากมีปัจจัยเชิงลบที่สร้างสิ่งที่ไม่คาดฝัน หรือเซอร์ไพรส์ ให้กับตลาด ซึ่งล่าสุดหลังจากที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับตัวชนเป้าหมายของฝ่ายวิจัยบล.ทรีนิตี้ฯ ที่ 1,500 จุดจะเริ่มเห็นว่าดัชนีมีความผันผวนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม"ดร.สันติ กีระนันทน์" รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)กล่าวว่าทิศทางเงินที่ไหลรอบนี้มีทั้งเงินที่เน้นลงทุนสั้นและยาว แต่ยอมรับว่า อาจจะสัดส่วนเงินร้อนค่อนข้างหนากว่าปกติ ซึ่งนักลงทุนต้องระมัดระวังการลงทุนแต่ในภาพรวมแล้วยังเป็นทิศทางที่ดี

ส่วนปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้เงินไหลเข้า น่าจะเกิดจากการนำเสนอข้อมูล หรือโรดโชว์ต่างประเทศที่ตลท.ได้จัดขึ้น 3 ครั้ง ครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่น และฮ่องกง ครั้งที่ 2 ที่สิงคโปร์ และ ครั้งที่ 3 ที่สหรัฐฯ ซึ่งการโรดโชว์ที่สิงคโปร์ได้รับการตอบรับที่ดี ประเด็นส่วนใหญ่จะให้ความสนใจในการเติบโตของบริษัทจดทะเบียน(บจ.) หลังจากไตรมาสแรกปีนี้กำไรออกมาดีกว่าคาดจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจ รวมถึงความคืบหน้าการลงทุนของภาครัฐและการก่อตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์

ต่างชาติสนศก. มากกว่าประชามติ

จากฟันด์โฟลว์ที่ไหลเข้ารอบนี้มีเงินลงทุนระยะยาวผสมโรงอยู่ด้วยนั้น ผนวกกับที่มีการคาดการณ์ว่าครึ่งปีหลังเงินจะไหลเข้าอีก ไม่ว่าจะเป็นมุมมองของผู้บริหารตลท. นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน หรือสมาคมบลจ. "วรวรรณ ธาราภูมิ"ฯ โดยปัจจัยบวกหรือสิ่งที่จะช่วยย้ำความเชื่อมั่นนักลงทุนได้ในมุมมองของ "ดร.สันติ " บอกว่ามี 3 เรื่อง คือ การเดินตามโรดแมปที่วางไว้ การเมืองมีเสถียรภาพรวมถึงการลงทุนของภาครัฐบาลเดินหน้าได้ตามแผนที่วางไว้ ส่วนการทำประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม นั้นไม่ใช่ประเด็นแรกที่สนใจ

สอดคล้องกับ "ปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บล.ซีแอลเอสเอ (ประเทศไทย)ฯ โบรกเกอร์สัญชาติฝรั่งเศส สะท้อนมุมมองของนักลงทุนต่างชาติว่า มี 3 ปัจจัยที่จะชี้ทิศทางฟันด์โฟลว์ดังนี้
ปัจจัยแรก อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯที่คาดว่าจะปรับขึ้นได้ยาก โดยมองว่าช่วงที่เหลือของปีนี้เฟดอาจปรับขึ้นได้แค่ครั้งเดียว

ปัจจัยที่ 2.ทิศทางราคาน้ำมันจะปรับตัวลงแรงอีกหรือไม่ อย่างไรก็ดี บล.ซีแอลเอสเอฯ คาดว่าคงไม่หลุดระดับ 40 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล

ปัจจัยสุดท้ายเป็นเรื่องในประเทศของเราเอง โดยเรื่องประชามติ จะเป็นปัจจัยเสี่ยงระยะสั้นเท่านั้น ขณะที่นักลงทุนต่างชาติจับตาเรื่องเศรษฐกิจมากกว่าการเมือง

"ซีแอลเอสเอ มองบวกหุ้นไทยตั้งแต่ต้นปี 2559 แล้ว มองว่าจากสภาพคล่องที่ยังล้นโลกทำให้ตลาดหุ้นไทยเป็นขาขึ้น หรือตลาดกระทิง (Bull Market) และเราเป็นเจ้าแรกที่ให้เป้าดัชนีสิ้นปีนี้ 1,550 จุด ส่วนปีหน้าอาจไปถึง 1,600 จุด หรืออาจเห็น 1,700 จุด จากนั้นก็จะมีแรงขายออกมาหนัก ๆเพราะต้องยอมรับว่าเงินที่ไหลเข้ามาส่วนใหญ่เป็นเงินร้อน "

สภาพคล่องดันหุ้นขึ้นอีก 1 ปี

อย่างไรก็ตาม"ปริญญ์" กล่าวว่า ภายใต้ตลาดที่เป็นขาขึ้นก็มีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์เบร็กซิท ถือเป็นความเสี่ยงที่ทุกคนไม่คาดฝัน ดังนั้นต้องมองแบบซ็อตต่อช็อต แต่จากสภาพคล่องที่ยังมีอยู่มากตามที่กล่าว คาดว่าจะทำให้ตลาดหุ้นเป็นขาขึ้นไปอีก 1 ปี

ความเห็นของ “วรวรรณ ธาราภูมิ” มองเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศว่า ยังมีทิศทางที่ดีในช่วงครึ่งปีหลังนี้ โดยคาดว่าฟันด์โฟลว์ยังคงไหลเข้าเนื่องจากการลงทุนในโซนยุโรปยังให้ผลตอบแทนที่ตํ่าและการลงทุนในสหรัฐอเมริกา ซึ่งราคาหุ้นปรับขึ้นสูงแล้ว ทำให้นักลงทุนหันมาลงทุนในโซนเอเชียมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับการลงประชามติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ มองว่าเมื่อผลออกมา ไม่ว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน ปัจจัยดังกล่าวก็ไม่มีผลต่อตลาดหุ้นไทยมากนัก หรืออาจจะมีก็มีเพียงช่วงสั้นเท่านั้น โดยเชื่อว่าภาครัฐจะมีความชัดเจนของแผนการดำเนินงาน(โรดแมป) ต่อจากนั้น ในแง่ของการมีรัฐบาลใหม่ขึ้นมาบริหารประเทศเมื่อใด ซึ่งตามแผนแล้วอาจเป็นช่วงกลางปี 2560

ขณะที่คาดเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นได้ โดยมีแรงหนุนจากสินค้าเกษตรมีราคาที่สูงขึ้นจึงผลักดันให้ภาคการเกษตรที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นตามไปด้วย ประกอบกับภาคการท่องเที่ยวที่ยังเติบโตขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันการลงทุนภาครัฐที่เริ่มมีการชัดเจนขึ้นโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ดังนั้นจึงเชื่อว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ(GDP) จะขยายตัวแตะ 3% ในปีนี้

ทั้งหมด คือ มุมมองของบรรดาผู้บริหารในภาคตลาดทุน ที่มีต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย และฟันธงว่านักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเรื่องเศรษฐกิจมากกว่าเรื่องการเมือง โดยเฉพาะการทำประชามติในวันที่ 7 สิงหาคมนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,177 วันที่ 24 - 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559