สยามแก๊สตัดใจทิ้งปั๊มแอลพีจี เปลี่ยนเป็นสถานีบริการนํ้ามันพร้อมรุกธุรกิจไฟฟ้าตปท.

26 ก.ค. 2559 | 01:00 น.
“สยามแก๊ส” ตัดใจทิ้งธุรกิจปั๊มก๊าซแอลพีจี หลังราคาก๊าซและนํ้ามันดิ่งลง ผสมโรงกับกระทรวงพลังงานมีนโยบายปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตต้องเปลี่ยนเป็นสถานีบริการนํ้ามันแทนตั้งเป้าปีนี้ 10 แห่ง พร้อมกระจายความเสี่ยงรุกเข้าสู่ธุรกิจไฟฟ้า ล่าสุดซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าที่เมียนมา 1.6 พันล้านบาท เล็งเพิ่มอีก 1-2 โครงการ มองอนาคตไฟฟ้ายังขาดแคลนอยู่

นางจินตนา กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า หลังจากที่กระทรวงพลังงานได้ปลดล็อกราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี) ให้สะท้อนตามราคาตลาดโลก ที่ขณะนี้มีแนวโน้มลดลง ประกอบกับราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ความต้องการใช้แอลพีจีในภาคขนส่งปรับลดลงต่อเนื่อง หรือลดลงประมาณ 50% ตั้งแต่ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับทางกรมธุรกิจพลังงานมีแนวคิดจะปรับภาษีสรรพสามิตแอลพีจีภาคขนส่งเป็น 4-6 บาทต่อลิตร อาจส่งผลให้ยอดใช้แอลพีจีภาคขนส่งปรับลดลงอีก ทำให้บริษัทจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจใหม่ จากปัจจุบันที่มีรายได้ส่วนหนึ่งมาจากการเปิดสถานีบริการแอลพีจีของบริษัทเองที่มีอยู่ 45 แห่ง ต้องเปลี่ยนมาเป็นสถานีบริการน้ำมันแทน โดยตั้งเป้าที่จะดำเนินการในปีนี้ไว้ 10 แห่งภายในสิ้นปีนี้ และจะทยอยปรับเปลี่ยนให้ครบในปีถัดๆไป

โดยปัจจุบันการตั้งสถานีบริการแอลพีจี จะมีทั้งการใช้พื้นที่ร่วมกับพันธมิตร และตั้งดำเนินการเอง ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้หารือกับทางบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เพื่อทยอยปรับเปลี่ยนสถานีบริการแอลพีจีที่พอจะเปลี่ยนมาเป็นสถานีบริการน้ำมันได้ไปแล้ว ซึ่งล่าสุดได้ปรับเปลี่ยนแล้ว 1 แห่ง โดยใช้เงินลงทุนไม่มากนัก หรือไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อแห่ง

"นโยบายของบริษัทยังคงเน้นด้านพลังงานเป็นหลัก ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทเคยดำเนินธุรกิจน้ำมัน ดังนั้น จึงตั้งเป้าว่าหากยอดขายแอลพีจีภาคขนส่งลดลงเช่นนี้ และอาจจะลดลงอีกหากมีการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตแอลพีจีภาคขนส่ง คงต้องปรับตัวโดยจะทยอยเปลี่ยนปั๊มแอลพีจีของบริษัทเป็นปั๊มน้ำมันแทน ปัจจุบันยอดขายแอลพีจีภาคขนส่งลดลงเหลือ 25% เทียบกับ 2-3 ปีก่อนที่ 30-35% ของยอดขายแอลพีจีในประเทศทั้งหมด 1.2 ล้านตัน ส่วนที่เหลือเป็นยอดขายก๊าซหุงต้ม 59% และภาคอุตสาหกรรม 13% ส่วนยอดขายแอลพีจีในต่างประเทศปีที่แล้วอยู่ที่ 1.8 ล้านตัน"

นางจินตนา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงทางธุรกิจ บริษัทสนใจที่จะขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เพราะมีรายได้ที่แน่นอนกว่า ซึ่งล่าสุดบริษัท สยามแก๊ส เพาเวอร์ จำกัด หรือ SPW (บริษัทถือหุ้น 100%) จดทะเบียนในประเทศสิงคโปร์ เข้าซื้อหุ้น 30% ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม กำลังการผลิต 230 เมกะวัตต์ ในประเทศเมียนมา ใช้เงินลงทุนรวม 48 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.6 พันล้านบาท ซึ่งเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2557

ทั้งนี้เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทมีแผนเข้าดำเนินธุรกิจแอลพีจีในเมียนมา แต่พันธมิตรเสนอการร่วมทุนโครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าวเข้ามา บริษัทจึงมองเห็นโอกาสลงทุน ประกอบกับต้องการขยายธุรกิจไปยังโรงไฟฟ้า ซึ่งเป็นกลุ่มพลังงานเช่นกัน จึงตัดสินใจลงทุนในครั้งนี้ และหากในอนาคตรัฐบาลใหม่ของเมียนมามีนโยบายเปิดประเทศ และให้นักลงทุนเข้าถือหุ้นในโครงการมากขึ้น บริษัทก็อาจซื้อหุ้นเพิ่มในอนาคต

สำหรับการลงทุนในโรงไฟฟ้าของบริษัทในครั้งนี้ ถือเป็นอีกก้าวของการเข้าสู่ธุรกิจพลังงานอื่น นอกเหนือจากธุรกิจแอลพีจี ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัท โดยมองว่าพลังงานไฟฟ้าในเมียนมามีความต้องการอย่างมาก นับตั้งแต่รัฐบาลเมียนมาประกาศนโยบายปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจจนนำไปสู่การเปิดประเทศมากขึ้น ทำให้บริษัทสนใจซื้อกิจการโรงไฟฟ้าในเมียนมาเพิ่มอีก 1-2 แห่ง ตามแผน 5 ปี (2559-2563) เนื่องจากเห็นว่าประเทศเมียนมายังมีความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เติบโตขึ้นอย่างมาก ซึ่งปัจจุบันพบว่าบางพื้นที่ปริมาณไฟฟ้ายังมีไม่เพียงพอเกิดไฟฟ้าตกดับอยู่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,177 วันที่ 24 - 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559