กระทรวงแรงงานรับฟังความเห็นทุกภาคส่วนพัฒนากำลังคนรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

22 ก.ค. 2559 | 10:15 น.
วันนี้ (22 ก.ค.59) นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังคนระยะ 20 ปี (พ.ศ.2561 - 2580) ของกระทรวงแรงงาน เพื่อเข้าสู่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี โดย พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กำชับให้ผู้บริหารจัดประชุมเพื่อพิจารณาจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านแรงงานให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีด้วย โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าวประกอบด้วย กรอบการดำเนินงานย่อยทั้งหมด 4 ช่วง (ช่วงละ 5ปี) คือ

ช่วงที่ 1 (พ.ศ.2561-2565) มีเป้าหมายที่จะสร้างกำลังคนของประเทศให้เป็น“Productive Manpower” คือ เป็นกำลังคนที่มีประสิทธิภาพผ่านการสร้างระบบและรากฐานการดำเนินงานด้านแรงงานที่มีความยั่งยืนและเป็นมาตรฐานสากล และมุ่งเน้นที่จะขจัดอุปสรรคต่าง ๆ ด้านแรงงานให้หมดสิ้นไป ไม่ว่าจะเป็นสิทธิความไม่เท่าเทียม สภาพการทำงาน และกรอบกฎหมายที่ล้าสมัย รวมถึงเตรียมความพร้อมให้แก่แรงงานทั้งด้านความรู้ ทักษะฝีมือ และทัศนคติ เพื่อให้แรงงานมีความพร้อมต่อความท้าทายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การจ้างงานแบบไร้พรมแดน สังคมพหุวัฒนธรรม การทำงานในยุคดิจิทัล และพร้อมที่จะรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศใน

ระยะต่อไป ในช่วงที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) มีเป้าหมายที่จะสร้างกำลังแรงงานที่มีนวัตกรรม หรือ “Innovative Workforce” เพื่อให้แรงงานมีผลิตภาพที่สูงขึ้นและเป็นพลเมืองของโลก (Global citizen) สอดคล้องกับรูปแบบของอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่มีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมที่เป็น New Engine of Growth เพื่อให้สอดรับกับโครงสร้างประเทศไทย 4.0

นอกจากนี้ การเตรียมความพร้อมด้านแรงงานเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุจะต้องเป็นรูปธรรมและครบวงจร ครอบคลุมทั้งเรื่องตำแหน่งงานสภาพแวดล้อมการทำงาน และสวัสดิการ สำหรับช่วงที่ 3 (พ.ศ. 2571-2575) กำลังแรงงานจะต้องเป็นกำลังแรงงานที่มีความติดสร้างสรรค์หรือ “Creative Workforce” มีทักษะ R&D ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่การทำงาน และแรงงานไทยทุกคนจะต้องมีงานทำที่มีคุณค่าสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในเรื่องงานที่มีคุณค่า (decent work for all) ของสหประชาชาติ และช่วงที่ 4 (พ.ศ. 2576-2580) กำลังแรงงานของไทยจะต้องเรียกได้ว่าเป็น “Brainpower” เพื่อสร้างสังคมการทำงานแห่งปัญญา คือ ใช้ความรู้ ความสามารถ และสติปัญญาในการทำงานที่มูลค่าสูง