สอบ‘อี-คอมเมิร์ซ’เลี่ยงภาษี เบื้องต้นพบกลุ่มเว็บไซต์ที่ซุกรายได้เกือบแสนราย

23 ก.ค. 2559 | 05:00 น.
ปลัดคลัง สั่งตั้งคณะทำงานสอบธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ/ทัวร์นอกรีตเลี่ยงภาษีให้เข้าระบบยํ้านโยบายชัด “ไม่รีดเลือดกับปู” พร้อมยอมรับปัจจัยเศรษฐกิจโลกฉุดส่งออก-นำเข้าหลุด กระทบจัดเก็บรายได้ มอบหมาย 2 กรมภาษี “สรรพากร-ศุลกากร” อุดรูรั่วด่วนหวังขยายฐานภาษีนิติบุคคล/บุคคลธรรมดา

[caption id="attachment_74165" align="aligncenter" width="350"] สมชัย สัจจพงษ์  ปลัดกระทรวงการคลัง สมชัย สัจจพงษ์
ปลัดกระทรวงการคลัง[/caption]

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึง แนวโน้มการจัดเก็บรายได้ ปี2559 ว่า ภาพ รวมมั่นใจว่าจะสามารถจัดเก็บได้ตามเป้า แม้ว่าที่ผ่านมาผลจัดเก็บรายได้ทำได้ต่ำกว่าเป้า โดยเฉพาะในส่วนของ 3 กรมภาษี( ผลจัดเก็บ 8 เดือนที่ผ่านมากรมสรรพากรจัดเก็บต่ำกว่าประมาณการ 8.2% มูลค่า 9.49 หมื่นล้านบาท กรมศุลกากรต่ำเป้า 5.8%มูลค่า4,661ล้านบาทและกรมสรรพสามิตมียอดจัดเก็บสูงกว่าประมาณการ 5.1% มูลค่า1.69 หมื่นล้านบาทเศษ) โดยกรมสรรพากรมีแนวโน้มยังคงจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าอยู่แล้ว แต่ยังมีรายได้ที่มาจากรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นๆ รวมถึงรายได้จากการประมูลคลื่น 4 จี และทีวีดิจิตอล ซึ่งเข้ามาชดเชยรายได้ที่หายไปค่อนข้างมาก ทำให้รายได้ที่ยังต่ำกว่าเป้าจะถูกชดเชยด้วยรายได้ที่มาจากส่วนอื่นแทน ส่งผลให้ภาพรวมการจัดเก็บรายได้ปีนี้อาจจะปริ่มๆ หรือเกินเป้าเล็กน้อย ที่สำคัญด้วยสภาพเศรษฐกิจโลกปัจจุบันย่อมมีผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ซึ่งประมาณการตัวเลขนำเข้าและส่งออกไว้สูงเกินไป ประกอบกับต้องมาเจอมาตรการภาษีเพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนยิ่งทำให้การจัดเก็บของกรมสรรพากรต่ำกว่าเป้าจึงอาจไม่เป็นธรรมกับหน่วยงานนัก แต่ยอมรับปัจจัยเศรษฐกิจโลกกระทบการจัดเก็บรายได้

อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังไม่ได้นิ่งนอนใจ ล่าสุดจะมีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลการจัดเก็บภาษีในกลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ชโดยเฉพาะ โดยมอบหมายนายประภาส คงเอียด รองปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานในการตรวจสอบภาษีธุรกิจอีคอมเมิร์ช เพราะผู้ที่ขายสินค้าหรือบริการผ่านอิเลคทรอนิกส์ (อินเทอร์เน็ต)จะต้องเสียภาษีอีคอมเมิร์ช ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล ที่จดทะเบียนในประเทศไทย หากมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการโดยกลุ่มดังกล่าวอาจจะมีหน้าร้านหรือไม่มีหน้าร้านก็ตาม เหล่านี้จะต้องนำรายได้มารวมเพื่อคำนวณในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้กับกรมสรรพากร

"กลุ่มนี้ถือเป็นรูรั่วที่ต้องอุดให้เร็วที่สุด โดยได้มอบหมายให้นายประภาส คงเอียด รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานในการตรวจสอบภาษีธุรกิจ อี-คอมเมิร์ซ ที่ใช้ช่องโหว่บนอินเตอร์เน็ตว่าเสียภาษีถูกต้องหรือไม่ พร้อมกันนี้จะผู้เชี่ยวชาญด้านระบบไอทีเข้ามาทำงานร่วมกัน ที่จะมาช่วยตรวจสอบทางด้านตัวแทนในการจัดเก็บภาษีที่เดิมเคยรั่วไหล"

ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังมีบริษัทหรือกลุ่มที่เข้าข่ายเป็นนอมินีของบริษัทต่างชาติซึ่งเอาเปรียบคนไทย โดยจะเข้ามาทำธุรกิจบริการ โดยเฉพาะบริษัททัวร์ข้ามชาติที่เข้ามาเปิดบริษัทในเมืองไทยแต่ไม่เคยเสียภาษีให้ถูกต้อง ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อทำธุรกิจแล้วได้เงินมาก็โอนเงินกลับต่างประเทศผ่านระบบ PayPal

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ปัจจุบัน มีธุรกิจอี-คอมเมิร์ซที่จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ประมาณ 8.2 แสนรายโดยกลุ่มที่เปิดเพจเพื่อขายสินค้าบนอินเตอร์เน็ตมีประมาณ 2 แสนราย เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่มีประมาณ 1.4 แสนราย โดยการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบว่า กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ไม่มีการเสียภาษี หรือมีการทำระบบบัญชีที่ไม่ถูกต้อง /การโยกตัวเลข รวมถึงระบุยอดขายตํ่ากว่าความเป็นจริงเกือบ 1 แสนราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ต้องการหารายได้เสริม เช่นพนักงานประจำใช้เวลาวันหยุดหรือช่วงว่างขายสินค้าออนไลน์หรือหาลูกค้า โดยเฉพาะเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม อาหารเสริมรวมถึงสถานเสริมความงาม-คลินิกซึ่งนับว่าจะมีจำนวนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีการทำธุรกิจผ่านอินเตอร์เน็ต ผู้ที่เปิดให้บริการสั่งซื้อผ่านโปรแกรมแชตไลน์ ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีการขึ้นทะเบียนหรือจดทะเบียยเชิงพาณิชย์ทำให้กรมสรรพากรเสียรายได้ ทั้งนี้ เนื่องจากมีการประเมินว่าจำนวน 5-10% ของคนที่ขายสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ตจะมียอดขายหรือรายได้สูงกว่าปีละ 5-7แสนบาทจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตรา 15% และมีจำนวนของผู้ที่ขายสินค้า 10-20% จะมีเงินได้สูงเกินปีละ1-2 ล้านบาท ซึ่งหมายถึงบุคคลเหล่านั้นจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงถึง 25%ดังนั้น จึงต้องวางระบบให้สามารถตรวจสอบถึงกลุ่มเป้าหมายและคาดว่าน่าจะเห็นความชัดเจนในการคัดกรองธุรกิจเร็วๆ นี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,176 วันที่ 21 - 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2559