ทุนไทยผลิตอาหาร-เมกอัพ ป้อนตลาดมุสลิม2พันล้านคน

21 ก.ค. 2559 | 09:00 น.
ตลาดฮาลาลคึกคักกำลังซื้อพุ่ง ทุนอาหาร-เครื่องสำอางสบช่องเร่งผลิตสินค้าป้อนลูกค้ามุสลิมกว่า 2,000 ล้านคน “ส.ขอนแก่น” เล็งส่งสแน็กไก่-ปลาอองเทร่บุกจีน ญี่ปุ่น มาเลย์ และยุโรป หลังทุ่มกว่า 370ล้านปักหมุดโรงงานใหม่ ด้าน “มาม่า” ซุ่มส่งออกเส้นหมี่-ก๋วยเตี๋ยว-กวยจั๊บ 16 รายการรวด ลุ้นใบอนุญาตโรงงานแห่งที่ 2 ผ่านจ่อผลิตล็อตแรกปลายปีนี้ ขณะที่ “เอสแอนด์เจ” จับมือนักธุรกิจเสือเหลือง ตั้งฐานผลิตเมกอัพดักสาวอาเซียน ตะวันออกกลาง แอฟริกา

นายเจริญ รุจิราโสภณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ส.ขอนแก่นฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เพื่อรองรับตลาดชาวมุสลิมทั่วโลกที่มีอยู่กว่า 2,000 ล้านคน บริษัทเตรียมขยายไลน์สินค้ากลุ่มขนมขบเคี้ยว (Snack) ที่ทำจากเนื้อไก่และเนื้อปลาภายใต้แบรนด์ออง-เทร่ (Entree) ออกวางจำหน่าย เพิ่มเติมจากเดิมที่เป็นสแน็คจากมันฝรั่ง ถั่ว ข้าวโพด และผลไม้ต่างๆ โดยตลาดดังกล่าวถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพและกำลังซื้อ

"ขณะนี้มีคำสั่งซื้อจากตัวแทนจำหน่ายในหลายประเทศ อาทิ จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย และกลุ่มประเทศในยุโรป ที่ต้องการสั่งสินค้าดังกล่าวไปจำหน่าย แต่ยังไม่สามารถผลิตสินค้าได้ เนื่องจากโรงงานแห่งที่ 2 ซึ่งบริษัทใช้งบลงทุนไปประมาณ 370 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา ยังอยู่ระหว่างการรอใบอนุญาตจากกรมปศุสัตว์ เพื่อให้ได้การรับรองตามมาตรฐานการส่งออกของอียู ซึ่งคาดว่าจะได้รับภายในไตรมาส 3 นี้ และเริ่มผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปขายได้ในช่วงปลายปี ส่วนเครื่องหมายฮาลาลในประเทศไทยโรงงานได้รับการรับรองมาตรฐานแล้ว และเริ่มผลิตสแน็คไก่รสออริจินัลออกวางจำหน่ายแล้ว 1 รายการ และจะผลิตรสต้มยำกุ้งออกจำหน่ายอีก1 รสชาติ เพื่อทำตลาดภายในประเทศก่อน"

โดยการทำตลาดภายในประเทศ เน้นจำหน่ายผ่านร้านเซเว่นอีเลฟเว่นทั่วประเทศ โดยเฉพาะในสาขาเขตภาคใต้จะจัดโชว์แสดงสินค้าให้เห็นว่าเป็นสินค้าฮาลาล เพื่อให้ผู้บริโภคชาวมุสลิมเข้าใจและเชื่อมั่นในมาตรฐานของสินค้า ส่วนแนวทางการทำตลาดในต่างประเทศจะเน้นการออกงานแสดงสินค้า และการทำตลาดร่วมกับตัวแทนจำหน่าย ซึ่งยังไม่สามารถคาดการณ์ยอดขายของสินค้ากลุ่มฮาลาลได้ เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่มีการทำตลาดมาก่อน ขณะเดียวกันบริษัทได้ลงทุนเพิ่มเติมอีก 30 ล้านบาท เพื่อติดตั้งเครื่องจักรเพิ่มเติมในโรงงานแห่งที่ 2 สำหรับรองรับการผลิตสินค้าในกลุ่มฮาลาล

ด้านนายพันธ์ พะเนียงเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพรซิเดนท์ไรซ์โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือสหพัฒน์ ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว อาทิ เส้นหมี่ เส้นก๋วยเตี๋ยว โจ๊ก เป็นต้น ภายใต้แบรนด์ "มาม่า" (MAMA) กล่าวว่า ขณะนี้มีความต้องการสั่งซื้อสินค้าแบรนด์มาม่ากลุ่มเส้นขาว ที่เป็นสินค้าได้รับการรับรองมาตรฐานเครื่องหมายฮาลาลไปจำหน่ายในหลายประเทศ อาทิ จีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และกลุ่มประเทศยุโรป เพื่อนำไปจำหน่ายให้กับชาวมุสลิม แต่ปัจจุบันโรงงานแห่งที่ 2 ยังอยู่ระหว่างการปรับปรุงโรงงานและการขอใบอนุญาตการผลิตสินค้าภายใต้มาตรฐานเครื่องหมายฮาลาล ทำให้ไม่สามารถผลิตได้ตามที่ต้องการ

ทั้งนี้โรงงานแห่งแรกของบริษัทซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดราชบุรี ได้รับใบรับรองเครื่องหมายฮาลาล จากสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย สำหรับผลิตภัณฑ์เส้นหมี่ ก๋วยเตี๋ยว และก๋วยจั๊บ แบรนด์มาม่า รวม 19 รายการ เป็นสินค้าเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ 16 รายการและสินค้าที่ทำตลาดในประเทศอีก 3 รายการ ได้แก่ เส้นเล็กต้มยำ เส้นใหญ่น้ำใส และเส้นใหญ่ต้มยำ ปัจจุบันบริษัทส่งสินค้าฮาลาลออกไปทำตลาดบ้างแล้วที่ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์

"สินค้าฮาลาลในอาเซียนบริษัทเคยมียอดขายที่สูงคิดเป็นสัดส่วน 7-10% แต่ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจในมาเลเซียมีปัญหา ทำให้ยอดขายต่างประเทศลดลงอย่างมาก ดังนั้นหากสามารถขยายตลาดในประเทศอื่นๆ ที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่ก็เป็นโอกาสทางการตลาด ซึ่งหากโรงงานแห่งที่ 2 ซึ่งอยู่ระหว่างการขอเครื่องหมายฮาลาล สามารถเดินเครื่องผลิตได้ในปลายปีนี้ จะทำให้บริษัทมียอดขายกลุ่มฮาลาลคิดเป็นสัดส่วน 5-10% ของผลประกอบการโดยรวม"

ขณะที่นายธีระศักดิ์ วิกิตเศรษฐ์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส แอนด์ เจ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ในเครือสหพัฒน์ ผู้ผลิต จัดจำหน่าย และรับจ้างผลิตเครื่องสำอาง เพอร์ซันนอลแคร์ ภายใต้แบรนด์ มาร์คแอนด์สเปนเซอร์ , ชิเซโด้ , บอดี้ ช็อป เป็นต้น กล่าวว่า บริษัทมีแผนขยายตลาดไปยังกลุ่มลูกค้าชาวมุสลิมที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกกลาง และกลุ่มประเทศอาฟริกาในอีก 3-5 ปีนับจากนี้ เพราะเห็นถึงโอกาสทางการตลาด ที่จะสามารถสร้างการเติบโต โดยเฉพาะฐานลูกค้าผู้หญิงชาวมุสลิมที่อยู่ในอาเซียนกว่า 167 ล้านคน ซึ่งปัจจุบันยังใช้สินค้าเครื่องสำอางไม่มากนัก

ทั้งนี้บริษัทได้ร่วมทุนกับกลุ่มทุนมาเลเซีย จัดตั้งโรงงานผลิตเครื่องสำอางที่ได้รับเครื่องหมายฮาลาลในประเทศมาเลเซียขึ้น โดยเอสแอนด์เจฯ ถือหุ้นในสัดส่วน 35% , ENGKAH ENTERPRISE SDN BHD 35% และ Mr.Tan Tiam Hok 30% ด้วยมูลค่าการลงทุนประมาณ 40 ล้านบาท ซึ่งผู้ร่วมทุนทั้ง 2 ราย ถือว่ามีความเชี่ยวชาญในธุรกิจการผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศมาเลเซีย

สำหรับการร่วมทุนกับมาเลเซียครั้งนี้ บริษัทวางเป้าหมายให้เป็นฐานการผลิตสินค้าเครื่องสำอางภายใต้มาตรฐานฮาลาล เพื่อส่งออกไปทำตลาดกลุ่มชาวมุสลิมทั้งที่อยู่ในอาเซียน ซึ่งจะเน้นการทำตลาดในประเทศอินโดนีเซีย และมาเลเซีย รวมถึงการขยายตลาดต่อไปยังกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางและอาฟริกาในระยะต่อไปด้วย ขณะเดียวกันความร่วมมือดังกล่าวนี้ จะทำให้บริษัทได้เรียนรู้เทคโนโลยีและความรู้ด้านการผลิต การพัฒนาสินค้าจากพันธมิตรด้วย

"โรงงานนี้จะเริ่มผลิตเครื่องสำอางได้ในช่วงปลายปี และเริ่มทำตลาดอย่างจริงจังได้ในปีหน้า เบื้องต้นคงจะทดสอบตลาดในอินโดนีเซียและมาเลเซียก่อน เพื่อดูผลตอบรับจากกลุ่มสาวมุสลิม ที่ถือว่าปัจจุบันยังไม่ได้ใช้เครื่องสำอางมากนัก แต่มีโอกาสที่จะเติบโตได้ จากฐานลูกค้าที่มีขนาดใหญ่ "

อนึ่งจากรายงานการวิจัยในหัวห้อ State of the Global Economy จัดทำโดย Dubai the Capital of Islamic Economy ระบุว่า เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศมุสลิมมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในหลายสาขา เช่น สาขาการเงินมีอัตราการเติบโตสูงถึง 10-20% ต่อปี มีมูลค่า 1.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 4.2 ล้านล้านบาท ด้านอาหารและวิถีชีวิตมีมูลค่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7 ล้านล้านบาท เป็นต้น ขณะเดียวกันมีการประเมินว่าในอีก 15 ปีข้างหน้า อัตราการขยายตัวของประชากรมุลสิมจะมากกว่าประชากรที่ไม่ใช่มุสลิมประมาณ 2 เท่าตัวด้วย

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,175 วันที่ 17 - 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2559