ปตท.อัดพันล้านผุดปั๊มเล็กชิงแชร์ เป้าถนนสายรอง500แห่งหวังล้มคู่แข่ง

23 ก.ค. 2559 | 08:00 น.
ปตท.ลุยปั๊มนํ้ามันขนาดเล็กคอมแพ็กต์โมเดล ตั้งเป้า 500 แห่ง ภายในปี2561 ใช้เป็นกลยุทธ์บกุ ถนนสายรองและชุมชน หวังชิงส่วนแบ่งการตลาดจากผู้ค้ารายอื่นที่เข้าไปลงทุนก่อนหน้านี้ ดึงเอสเอ็มอีหรือดีลเลอร์ลงทุนแห่งละ 15-18 ล้านบาท โดยบังคับต้องมีร้านสะดวกซื้อ7-11 และร้านกาแฟอเมซอน เปิดในปั๊มคาดปีนี้นำร่อง 50 แห่ง

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้ปตท.มีนโยบายที่จะขยายการตั้งสถานีบริการน้ำมันขนาดเล็ก (PTT Compact Model) เพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการกระจายสถานีบริการน้ำมันของปตท.เข้าถึงประชาชนมากขึ้น จากปัจจุบันจะเปิดสถานีบริการน้ำมันบนถนนสายหลัก และก็เริ่มหาพื้นที่ก่อสร้างยาก เนื่องจากการแข่งขันสูง ขณะที่ถนนสายรองที่เชื่อมระหว่างจังหวัดกับตัวอำเภอ รวมทั้งในชุมชนท้องถิ่นยังมีช่องทางที่จะลงทุนได้หรือเป็นพื้นที่ใหม่สำหรับปตท. เพราะ ปั๊มแต่ละแห่งใช้พื้นที่เพียง 1-2 ไร่ เป็นการหลีกเลี่ยงการแย่งพื้นที่ตั้งปั๊มบนถนนสายหลักที่ปัจจุบันเริ่มแน่นแล้ว โดยในปีนี้ตั้งเป้าปั๊มน้ำมันขนาดเล็กไว้นี้ 50 แห่ง และปี 2560 เพิ่มเป็น 100 แห่งทั่วประเทศ

ทั้งนี้ แม้ว่าสถานีบริการน้ำมันคอมแพ็กต์โมเดลนี้ จะมีขนาดเล็กเพียง 2 ตู้จ่ายน้ำมัน แต่จะเลือกชนิดน้ำมันที่เหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ แต่ภายในจะมีร้านสะดวกซื้อ 7-11 และร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอน คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 15-18 ล้านบาทต่อแห่ง ซึ่งสถานีบริการน้ำมันคอมแพ็กต์โมเดลนั้น ในปีนี้ ปตท.จะนำร่องลงทุนก่อน จากนั้นจะเปิดโอกาสให้ดีลเลอร์ขยายลงทุนต่อไป และหากประสบความสำเร็จ ตั้งเป้าขยายเพิ่มเป็น 500 แห่งภายในปี 2561

"สถานีบริการน้ำมันคอมแพ็กต์โมเดล ทาง ปตท.จะใช้สูตร 3 ต่อ 1 หรือสามสถานีบริการน้ำมันขนาดเล็กเท่ากับ 1 สถานีบริการน้ำมันใหญ่ ซึ่งจะช่วยลดการลงทุนลงได้ 1 ใน 3 ขณะเดียวกันยอดขายน้ำมันในคอมแพ็กต์โมเดลก็จะอยู่ที่ 1 ใน 3 ของสถานีบริการขนาดใหญ่ด้วยเช่นกัน โดยตั้งเป้ายอดขายน้ำมันในสถานีบริหารคอมแพ็กต์โมเดล 2-3 แสนลิตรต่อเดือน ยอดขายร้านสะดวกซื้อ 7-11 อยู่ที่ 3 หมื่นบาทต่อวัน และยอดขายกาแฟอเมซอน 100 แก้วต่อวัน"

นายอรรถพล กล่าวอีกว่า สำหรับปั๊มคอแพ็กต์โมเดลนี้ จะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้ามาเป็นเจ้าของธุรกิจปั๊มน้ำมัน เป็นการขยายโอกาสการลงทุนสู่ท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น ให้สามารถเลือกลงทุนตามขนาดตั้งแต่ไซซ์ S M และ L เงินลงทุนต่ำสุด 15 ล้านบาทต่อแห่งขึ้นไป ซึ่งรวมถึงเงินลงทุนในส่วนของการตั้งร้านสะดวกซื้อ 7-11 และร้านค้ากาแฟอเมซอนด้วย แต่ยังไม่รวมค่าที่ดิน อีกทั้งเมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ปตท.ก็ได้เชิญชวนไปยังตัวแทนจำหน่ายน้ำมันหรือดีลเลอร์ของปตท.ทั่วประเทศแล้ว หากรายใดมีความพร้อมก็สามารถเสนอแผนการลงทุนเข้ามายังปตท.ได้ และเมื่อคัดเลือกถึงความเหมาะสมด้านการลงทุนแล้ว ก็จะมีการอนุมัติให้ดำเนินการต่อไป โดยที่ปตท.จะช่วยสนับสนุนการลงทุนทางด้านตู้จ่ายน้ำมันและอุปกรณ์บางส่วนให้

แหล่งข่าวจากตัวแทนจำหน่ายน้ำมันปตท.ให้ความเห็นว่า การที่ปตท.หันมาให้ความสนใจในการตั้งสถานีบริการน้ำมันขนาดเล็ก เนื่องจากต้องการเข้าไปชิงส่วนแบ่งการตลาดน้ำมันของผู้ค้าน้ำมัน เช่น บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี่ จำกัด(มหาชน) ที่มีนโยบายการตั้งปั๊มในถนนสายรองเพิ่มมากขึ้น รวมถึงบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) ที่มีปั๊มน้ำมันสหกรณ์ตั้งอยู่ในชุมชน ซึ่งหากสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย 500 แห่ง และแต่ละแห่งมียอดจำหน่ายได้ไม่ต่ำกว่า 2 แสนลิตรต่อเดือน เท่ากับว่าปตท.จะมียอดจำหน่ายน้ำมันเพิ่มขึ้นถึง 100 ล้านลิตรต่อเดือน ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณค่อนข้างมาก ขณะที่ปตท.ก็ไม่ได้ลงทุนมากมายเพียงแต่ให้ตู้จ่าย 2 ตู้ คิดเป็นมูลค่ากว่า 2 ล้านบาท หรือใช้เงินลงทุนราว 1,000 ล้านบาท เท่านั้น ส่วนที่เหลือตัวแทนจำหน่ายหรือดีลเลอร์เป็นผู้ลงทุนเอง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,175 วันที่ 17 - 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2559