บีโออียังไม่หนุนเศรษฐกิจเพิ่ม เตรียมพิจารณามาตรการในการประชุมเดือนสิงหาคม

21 ก.ค. 2559 | 15:00 น.
ธนาคารกลางอังกฤษตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิม แต่ส่งสัญญาณว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาในเดือนสิงหาคม เพื่อพยุงเศรษฐกิจหลังผลประชามติออกมาว่าอังกฤษต้องการออกจากสหภาพยุโรป

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติ 8 ต่อ 1 เสียง ในการประชุมวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% เช่นเดิม สร้างความประหลาดใจให้กับนักลงทุนที่คาดการณ์โอกาส 80% ที่บีโออีจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเป็น 0.25% ในเดือนนี้ ส่งผลให้ค่าเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นหลังรับทราบการตัดสินใจของบีโออี
เจ้าหน้าที่ทางการของบีโออีระบุถึงสัญญาณหลายประการว่าเศรษฐกิจชะลอตัวลง ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากผลการทำประชามติออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) หรือเบร็กซิท อย่างไรก็ดี ท้ายที่สุดแล้วคณะกรรมการนโยบายของบีโออีตัดสินใจที่จะรอไปจนถึงเดือนสิงหาคม ซึ่งจะมีข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจถึงสภาวะเศรษฐกิจมากขึ้นกว่านี้ ก่อนที่จะประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม

"คณะกรรมการส่วนใหญ่คาดหมายว่าจะมีการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินในเดือนสิงหาคม" บีโออีกล่าวในแถลงการณ์ พร้อมกับระบุว่า ทางคณะกรรมการได้หารือกันถึงแนวทางต่างๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยขนาดและรายละเอียดของมาตรการกระตุ้นใดๆ จะขึ้นอยู่กับตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจที่จะออกมาหลังจากนี้

ทั้งนี้ บีโออีจะเปิดเผยรายงานอัตราเงินเฟ้อประจำไตรมาสในวันที่ 4 สิงหาคม โดยในรายงานฉบับดังกล่าวจะประกอบด้วยตัวเลขคาดการณ์การเติบโตทางเศรฐษกิจและเงินเฟ้อล่าสุด ตลอดจนการประเมินผลกระทบจากผลการทำประชามติต่อเศรษฐกิจของอังกฤษในมุมมองของบีโออี

บีโออียอมรับว่า ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและผู้บริโภคปรับตัวลดลงอย่างมากตั้งแต่ก่อนการประทำชามติต่อเนื่องมาจนถึงหลังทำประชามติ ขณะเดียวกัน ผู้คนชะลอการซื้อบ้านออกไปโดยเฉพาะในลอนดอนและภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ การลงทุนของภาคธุรกิจยังปรับลดลงมาตั้งแต่ช่วง 2 ไตรมาสก่อนการทำประชามติ ส่วนตลาดแรงงานส่งสัญญาณของความอ่อนแอ โดยนายจ้างส่วนใหญ่กล่าวว่ามีแผนจะระงับการจ้างงานหรือปลดพนักงานในช่วง 12 เดือนข้างหน้า

ผลการทำประชามติเมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ออกมาสร้างความประหลาดใจให้กับทั่วโลก ด้วยชัยชนะของฝ่ายที่ต้องการออกจากสหภาพยุโรป (อียู) 52% ต่อ 48% นั้น ก่อให้เกิดความผันผวนของตลาดการเงินทั่วโลก และส่งผลให้ค่าเงินปอนด์ของอังกฤษอ่อนตัวลงอย่างหนัก ขณะที่ความผันผวนทางการเมืองหลังนายเดวิด คาเมรอน ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังผลประชามติออกมา กลับมามีเสถียรภาพมากขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่ออังกฤษสามารถแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ คือนางเทเรซา เมย์ ได้รวดเร็วกว่าความคาดหมาย

บีโออีคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% มาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2552 ในช่วงที่เกิดวิกฤติการเงินทั่วโลก โดยก่อนหน้าการทำประชามติ นักลงทุนและนักวิเคราะห์ต่างตั้งข้อสังเกตว่าบีโออีมีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเวลาที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง

ทั้งนี้ บีโออีมีแนวทางในการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่หลายทางเลือก อาทิ ปรับลดดอกเบี้ย นำมาตรการซื้อพันธบัตร หรือคิวอี กลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง ตลอดจนเพิ่มซัพพลายสินเชื่อให้กับครัวเรือนและภาคธุรกิจด้วยการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น ขณะเดียวกัน นักเศรษฐศาสตร์บางรายกล่าวว่า บีโออีอาจจะพิจารณาร่วมมือกับรัฐบาลใหม่ในการใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่นายจอร์จ ออสบอร์น อดีตรัฐมนตรีคลังคัดค้าน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,175 วันที่ 17 - 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2559