เร่งทุนไทยบุกตลาดCLMV 3กลุ่มธุรกิจมาแรงน่าลงทุน

20 ก.ค. 2559 | 03:00 น.
ฮาวาสริเวอร์ออคิด แนะผู้ประกอบการที่ลงทุนใน CLMV ต้องศึกษาความต่างของแต่ละประเทศและระบบการเงิน เผยสินค้าไทยมีต้นทุนทางการค้าดีกว่าพร้อมทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจโดดเด่นที่กลุ่มประเทศดังกล่าวต้องการ

นายสันติพงศ์ พิมลแสงสุริยา ประธานกรรมการบริหาร ประธานกรรมการบริหารกลุ่ม บริษัท ฮาวาสริเวอร์ออคิด จำกัด เปิดเผยถึงการเข้าไปเปิดตลาดในกลุ่มประเทศ CLMVซึ่งประกอบด้วยกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และเวียดนามว่าสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยต้องศึกษาและเตรียมพร้อมคือการยอมรับความแตกต่างการทำธุรกิจ ขณะเดียวกันจะต้องทำอย่างจริงจัง มองปัญหาให้เป็นความท้าทาย และรีบลงมือดำเนินการ ทั้งนี้เรื่องเงินอาจไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด เพราะต้นทุนในการทำตลาด CLMV ยังไม่สูงมาก ซึ่งบริษัทมองว่าหากทำธุรกิจในไทยได้ ก็สามารถขยายออกไปสู่ประเทศเหล่านี้ได้ไม่ยาก เพราะการแข่งขันในกลุ่มประเทศนี้ยังน้อยกว่าประเทศไทย

สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องรู้คือต้องรู้เขารู้เรา มีการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคในเชิงลึก เพราะในความเหมือนก็มีความแตกต่าง เช่นเรื่องของการใช้สื่อออนไลน์ อย่างไทยเองส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นการสื่อสารผ่าน LINE และ Facebook ส่วนที่สปป.ลาวจะใช้ WeChat เป็นส่วนใหญ่ เพราะได้รับอิทธิพลจากจีนที่เข้ามาทำโครงการรถไฟความเร็วสูง ขณะที่เมียนมาร์จะใช้ Viber เป็นหลัก ขณะที่กัมพูชาFacebook เป็นแพลตฟอร์มที่เป็นแทบทุกอย่าง ซึ่งผู้ประกอบการอาจไม่มีการเปิดเว็บไซต์ แต่ต้องมี Facebook Fan Page เช่นเดียวกับเวียดนาม ใช้หลายแพลตฟอร์ม ทั้ง Facebook, Facebook Messenger รวมถึง Zalo ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นแชตของเวียดนามเอง

นอกจากนี้ผู้ประกอบการควรทราบเรื่องของระบบการเงินและการซื้อขายของแต่ละประเทศ เพราะแต่ละประเทศมีข้อจำกัดแตกต่างกันไป อย่างไรก็ดีกลุ่มผู้บริโภคประเทศต่างๆยอมรับในคุณภาพและภาพลักษณ์ของสินค้าจากประเทศไทยมากกว่าประเทศอื่น ๆ อีกทั้งยังมีการค้าชายแดนร่วมกันมาหลายสิบปี ดังนั้นประเทศไทยจึงมีต้นทุนทางการค้าที่ดีกว่า

นายสันติพงศ์ กลาวเพิ่มเติมว่า จากผลสำรวจข้อมูลพบว่า 3 ธุรกิจที่มีโอกาสสูงและเป็นที่ต้องการอย่างมากใน CLMV โดยเฉพาะกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมาร์ ได้แก่ อันดับ 1 ธุรกิจเกี่ยวกับการก่อสร้าง เช่น การออกแบบ วัสดุก่อสร้าง การก่อสร้างอาคารหรือคอมมูนิตี้ มอลล์ เนื่องจากมีความต้องการเพื่อมารองรับการเปิดประเทศ อันดับ 2 ได้แก่ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เพราะเมื่อเปิดประเทศแล้วประชากรของประเทศนั้นๆก็มีความต้องการอยากเห็นโลกภายนอก ซึ่งธุรกิจที่มีโอกาสอย่างมาก ได้แก่ บริษัทที่ให้บริการด้านท่องเที่ยวในและต่างประเทศ รับจองตั๋วเครื่องบิน ร้านอาหาร โรงแรม ฯลฯ อันดับ 3 คือธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค หรือของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น อาหาร น้ำดื่ม เสื้อผ้า เป็นต้น

นอกจากนี้จากการสำรวจยังพบอีกว่าประเทศเวียดนามต้องการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่ช่วยอำนวยความสะดวก เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ซอฟต์แวร์ สินค้าเทคโนโลยีต่าง ๆเป็นอันดับ 1 คือ ขณะที่อันดับ 2 คือสินค้าด้านสุขภาพ เช่น อาหารเพื่อสุขภาพ ฟิตเนส อันดับ 3 คือธุรกิจด้านการศึกษา เช่น โรงเรียนสอนภาษา ศิลปะ ดนตรี หรือทริปการศึกษาต่างประเทศ เป็นต้น

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,175 วันที่ 17 - 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2559