เผย 6 เดือนบูรณาการ 8 กระทรวง ส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุมีงานทำร่วม 9 แสนคน

15 ก.ค. 2559 | 05:10 น.
หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมการขยายโอกาสด้านอาชีพและการทำงานสำหรับผู้สูงอายุ โดยมีกองการแรงงานนอกระบบ แรงงานสูงอายุ และแรงงานพิการ ในฐานะฝ่ายเลขาฯ ได้เสนอผลการดำเนินงานตามแผนส่งเสริมการขยายโอกาสด้านอาชีพและการทำงานสำหรับผู้สูงอายุ ปีงบประมาณ 2559 รอบ 6 เดือน (ตุลาคม 58 – มีนาคม 59) ซึ่งสามารถดำเนินการได้ 29 โครงการ จาก 8 หน่วยงาน อาทิ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกรุงเทพมหานคร โดยใช้งบประมาณ 167.5 ล้านบาทเศษ ผู้สูงอายุได้รับประโยชน์ 894,478 คน ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบให้ฝ่ายเลขาฯ เพิ่มเติมโครงการ/กิจกรรมให้ครบถ้วน ก่อนเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติพิจารณาผลการดำเนินการต่อไป

สำหรับแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ประจำปี 2559 - 2564 ภายใต้แผนกลยุทธ์ด้านการทำงานของผู้สูงอายุ ระยะที่ 1 (พ.ศ.2559-2564) ซึ่งมี 5 ด้าน ภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านการส่งเสริมและพัฒนาผู้สูงอายุด้านการทำงาน ประกอบด้วย กลยุทธ์การกระจายงานสู่บ้านหรือชุมชน การขยายอายุเกษียณราชการ การส่งเสริมการจ้างงานอย่างต่อเนื่องของภาคเอกชน ส่งเสริมการจ้างงานให้กับผู้สูงอายุในอาชีพที่เหมาะสมกับวัย ประสบการณ์ทำงาน และสมรรถนะทางร่างกาย และกลยุทธ์การสร้างฐานข้อมูลตลาดแรงงานด้านผู้สูงอายุ ที่ประชุมมีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเพิ่มเติมโครงการ/กิจกรรม ให้ครบถ้วนเพื่อเป็นข้อมูลในการกำหนดกรอบแนวคิดในการดำเนินการทั้งตัวชี้วัดเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพให้มีความชัดเจน ก่อนแจ้งคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาเห็นชอบและนำเรียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานบอร์ดผู้สูงอายุแห่งชาติพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ รายงานผลสำรวจประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทย เมื่อปี 2557 พบว่า มีผู้สูงอายุที่อยู่ในกำลังแรงงานร้อยละ 39.5 ของผู้สูงอายุทั้งหมดที่มีอยู่ประมาณ 10 ล้านคนเศษ ซึ่งรายได้หลักในการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุส่วนมากมาจากบุตร ร้อยละ 35.7 รองลงมาจากการทำงานของผู้สูงอายุเองร้อยละ 34.3 และเบี้ยยังชีพของราชการร้อยละ 15.3 ตามลำดับ ส่วนความเพียงพอของรายได้ พบว่า ผู้สูงอายุเกินครึ่งหรือร้อยละ 59.4 มีรายได้เพียงพอ