เศรษฐกิจไทยครึ่งหลัง’59 ยังนอนยาวหรือฟื้นตัว?

11 ก.ค. 2559 | 05:00 น.
ปี 2559 เศรษฐกิจไทยเดินมาถึงครึ่งทาง(ม.ค.-มิ.ย.) การฟื้นตัวยังเป็นไปอย่างช้าๆ บางช่วงมีสัญญาณบวก แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าอยู่ด้วย โดยเฉพาะสถานการณ์โลกและปัญหาภัยแล้ง ขณะที่ครึ่งปีหลังเป็นช่วงที่ประชาชนคาดหวังว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลตั้งแต่รากหญ้าไปถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐและการลงทุนเอกชนจะเริ่มเห็นผล

ล่าสุดเมื่อวันพุธที่ 6 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา กองบรรณาธิการ”ฐานเศรษฐกิจ”จัดเสวนาโต๊ะกลม“เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง ยังนอนยาวหรือฟื้นตัว” มีวิทยากรประกอบด้วย นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.), นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.), ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโส วิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และนายสมเด็จ สุสมบูรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกันสะท้อนมุมมองความเคลื่อนไหวเศรษฐกิจไทยปี2559ในครึ่งปีแรก และมองทิศทางเศรษฐกิจครึ่งปีหลังนับจากนี้ไป รวมทั้งข้อเสนอแนะถึงภาครัฐ

ศก.ยังฟื้นตัวแบบจำกัด

ต่อเรื่องนี้ในมุมของภาคเอกชน นายเจน สะท้อนภาพเศรษฐกิจครึ่งปีแรกว่า ยังเป็นช่วงที่ประชาชนเกิดความกังวล เริ่มจากราคาน้ำมันที่ลดลงฮวบฮาบ แทนที่จะดีกลับกลายเป็นปัจจัยลบที่ดันราคาสินค้าเกษตรตกไปด้วย ทั้งราคาข้าว ยาง กระทบต่อภาคเกษตรกร ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงไปด้วยแทนที่ราคาพลังงานลดลงก็น่าจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อ หรือเกิดการบริโภคมากขึ้น แต่พอราคาน้ำมันนิ่งก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้น มองเศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัว แต่การฟื้นตัวก็ต้องมี ปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกประกอบด้วย โดยปัจจัยภายในจะเป็นเรื่องการเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจากภาครัฐ หลายมาตรการก็เดินไปและเริ่มมองเห็นผลอยู่บ้าง แต่เนื่องจากเศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่ไปเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกในแง่การส่งออก จึงทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเป็นไปได้ยาก อีกทั้งยังมีความกังวลต่อปัญหาภัยแล้ง กระทบพืชผลทางการเกษตร

ครึ่งแรกฟื้นตัวอ่อนๆ

ขณะที่ผศ.ดร.ธนวรรธน์ มองว่า เศรษฐกิจครึ่งปีแรกเห็นสัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัวอ่อนๆ คิดว่าโตกว่าปีที่แล้ว เพราะเดือนเมษายนกับเดือนพฤษภาคมซึ่งตัวเลขรายได้การขยายตัวของเกษตรกรเป็นบวกประมาณ 2-3% สาเหตุก็มาจากราคานํ้ามันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นจากระดับ 30 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลป้วนเปี้ยน 40-50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ทำให้ราคายางพาราแพงขึ้น คือจากระดับ 30-40 บาทต่อกิโลกรัม มาที่ระดับ 50-60 บาทต่อกิโลกรัมทำให้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และปาล์มนํ้ามันราคายกขึ้นทั้งแผง

สรท.ลั่นส่งออกแย่กว่าที่คาด

ขณะที่นายนพพร มองว่าในแง่ส่งออกครึ่งแรกปี 2559 ตัวเลข 5 เดือน การส่งออกไทยติดลบ 1.9% ก็ไม่ค่อยดีนักซึ่งอย่างน้อยควรจะเป็น 0% ตามที่สภาผู้ส่งออก(สรท.)คาดการณ์ไว้ แต่ติดลบก็แย่กว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะมีตัวที่เราคอนโทรล (ควบคุม) ไม่ได้ คือ เรื่องนํ้ามัน ซึ่งราคานํ้ามันลง เราไม่คิดว่ามันจะลงมากขนาดนี้ จึงทำให้สินค้าส่งออกของเรา 3 กลุ่ม ได้แก่ นํ้ามันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ 3 ตัวนี้ซึ่งขึ้นอยู่กับราคาของนํ้ามัน มูลค่าการส่งออกเลยติดลบไปด้วย ซึ่งสินค้า 3 ตัวนี้มีสัดส่วนการส่งออก 9% ของการส่งออกในภาพรวม และทำให้ติดลบทั้งหมด 2.3% ส่วนมุมมองของนายสมเด็จ ในส่วนของตัวเลขการส่งออกโดยเฉพาะครึ่งปีแรก แม้ว่าจะออกมา 5 เดือนแรกติดลบ1.9% ซึ่งเรามองว่าไม่ได้เลวร้ายอย่างที่เราเคยคาดการณ์ไว้ ว่าจะติดลบ ทั้งนี้พาณิชย์คาดการณ์ไว้ที่ทั้งปีโต 5% ยังคงไว้แต่เข้าใจว่ากรมอยู่ระหว่างทบทวนอีกครั้งก็คงต้องดูตัวเลขจากหลายๆ ด้านและจากทูตพาณิชย์ในต่างประเทศมาวิเคราะห์กันด้วย

มองครึ่งหลังดันศก.ทั้งปีโต 3%

สำหรับทิศทางเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง ประธานส.อ.ท.มองว่าการคงเป้าตัวเลขจีดีพีที่ 3-3.5% อยู่ เพราะมองว่ายังพอมีปัจจัยบวกในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ไล่ตั้งแต่ ครึ่งปีหลังเป็นไตรมาสที่ผ่านปีงบประมาณพอดี ฉะนั้นมีงบเท่าไหร่ต้องผลักดันออกมาใช้ให้หมด อีกทั้งผลจากที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯได้แถลงรายงานการค้ามนุษย์ หรือ TIPs Report ประจำปี 2559 โดยเลื่อนอันดับไทย สู่สถานะที่ดีขึ้นมาอยู่ในกลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง (Tier 2 Watch list หรือ Tier 2.5) จากใน 2 ปีที่ผ่านมาตกไปอยู่ในกลุ่มที่ 3 (Tier 3 )ที่มีสถานะเลวร้ายสุด ถือว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น ตรงนี้ทำให้เราเชื่อมั่นว่า จะทำให้ภาพลักษณ์เราดีขึ้นในกรณี ใบเหลืองเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม(IUU Fishing) ที่เห็นความพยายามของภาครัฐในการแก้ไขปัญหา

อีกทั้งเรื่องขีดความสมารถในการแข่งขันของไทยที่ไอเอ็มดี(International Institute for Management Development: IMD) จัดอันดับความสามารถของประเทศไทยดีขึ้นจากอันดับที่30 ในปี2558เลื่อนมาอยู่ที่อันดับ28 ในปี2559 ผลการจัดอันดับของไทยดีขึ้น รวมถึงราคาน้ำมันเริ่มนิ่ง หรือมีแค่ความวูบวาบเล็กน้อย ก็ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจดีขึ้น อีกทั้งจากผลประชามติ Brexit ยังมองว่า Brexit ยุโรปกับอังกฤษคงไม่ออกมาทำอะไรแบบทุบหม้อข้าวตัวเอง

นอกจากนี้ยังมองว่ากำลังซื้อภายในประเทศ เริ่มขยับขึ้น หนี้สินครัวเรือนเริ่มลดลง และ 4-5 เดือนที่ผ่านมาเราเริ่มเห็นตัวเลขรถยนต์ขยับขึ้นในแง่ตลาดในประเทศ เราก็มองว่าตัวเลขสอดคล้องกันเช่นเดียวกับการใช้ปูนซีเมนต์ก็ขยับขึ้นแม้จะมีความผันผวนขึ้นๆ ลงๆ อยู่บ้าง

ด้านผศ.ดร.ธนวรรธน์มองเศรษฐกิจครึ่งปีหลังว่ามีความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกจะทำให้ ส่งออกไม่เด่นกังวลว่าลบ 2% อาจจะน้อยไป ถ้าเศรษฐกิจโลกมีความผันผวนและเวลานี้มาตรการกระตุ้นของภาครัฐหมดไปแล้ว มาตรการที่รัฐจะลงคือมาตรการดูแลต้นทุนทางด้านการผลิตของเกษตรกรผมเชื่อว่ามีแค่นั้น ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคซึ่งยังไม่กลับมา การลงทุนของภาครัฐเป็นแค่เริ่มต้น เม็ดเงินที่ลงจะไม่เยอะ ภาคท่องเที่ยวไตรมา 3 ไม่ใช่ไฮซีซัน ราคาพืชผลทางการเกษตรยังนิ่งเราไม่เห็นเครื่องยนต์ที่จะขับเคลื่อน

ดังนั้นจึงคิดว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสโตใกล้ๆ 3% แต่ยังมีความผันผวนสูงมากเรามอง 2.7-3.2% ใกล้ 3% ต้องอัพเดตข้อมูลภายใน 3 เดือนนี้ ขณะที่เรื่องเบร็กซิทสำคัญมากและก่อการร้ายก็สำคัญ แต่สิ่งสำคัญมากๆ คือแผนฉุกเฉินของไทยไม่ชัด และรัฐบาลไม่ได้มีแผนในกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นแต่เน้นไปกระตุ้นในระยะยาว

ด้านนายนพพรมองว่าเศรษฐกิจไทยปี 2559 จะโตไม่เกิน 3% จากเดิมตั้งเป้าส่งออกทั้งปีขยายตัวได้ที่ 0-2% แต่ผลจาก Brexit มองชัดเจนว่าไม่มีทางบวกก็เลยปรับเป้าลดลงเหลือ -2% จากครึ่งปีแรกก็คง -2% โดยตัวเลขการส่งออกเดือนมิถุนายนล่าสุด(ที่ยังไม่ออกมา)คงอยู่ -3ถึง -5% จะทำให้ครึ่งปีแรกก็จะราวๆ -2% และในไตรมาสที่ 3 และ 4 คาดจะติดลบไตรมาสละ -2% ตัวเลขกลมๆ ทำให้ภาพรวมครึ่งปีหลัง -2% ออกมาทั้งปีก็ -2%เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์โลกทั้ง Brexit และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็จะเป็นตัวแปรอีกตัวหนึ่ง ไม่ใช่แค่เศรษฐกิจ การเงิน การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี การเมืองก็มีความไม่แน่นอนสูง ทั้งในอิตาลี ทั้งในอังกฤษเอง อียูอเมริกา ความไม่แน่นอนทางการเมืองก็จะเป็นปัจจัยเสี่ยง

ขณะเดียวกันก็ยังมุมบวกตรงที่จีนจะไม่ Hard Landing เชื่อว่าจีนจะคอนโทรลเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง โดยใช้นโยบาย One belt One road เพราะต้องการสร้างทางรถไฟ รวมถึงราคานํ้ามันก็อาจจะมีโอกาสปรับสูงขึ้น จากการที่ซัพพลายเริ่มน้อยลง ขณะที่ดีมานด์เริ่มปรับตัวสูงขึ้น เช่นเดียวกับทอง ทำให้มองว่าการส่งออกในครึ่งปีหลังอาจจะมีโอกาสบวกดังนั้นจะเห็นว่าตัวช่วยการส่งออกก็จะมีไม่กี่ตัว

พาณิชย์เกาะติดตลาดใกล้ชิด

ขณะที่รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมองว่าในครึ่งปีหลัง เรามีเป้าทำงานดันส่งออกปีนี้ขยายตัว 5%หรือเฉลี่ย 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือน(ซึ่งเป็นเป้าทำงาน) โดยรวมน่าจะดีขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแผนงานในไตรมาส 3 จะมีออร์เดอร์เพิ่มขึ้น ประกอบกับจากที่เรามีการสอบถามสคต.(สำนักงานส่งเสริมการค้าไทยในต่างประเทศ หรือสำนักงานทูตพาณิชย์)ทั่วโลกว่าเศรษฐกิจในแต่ละตลาดเป็นอย่างไร ส่วนใหญ่ก็ตอบว่าอยู่ระหว่างฟื้นตัวอย่างช้าๆ

 "ครึ่งปีหลังอาจจะมีปัจจัยบวกกระตุ้นเศรษฐกิจได้ จะมาซัพพอร์ต เพื่อทำให้จีดีพียังคงอยู่ที่ 3-3.5%”
• เจน นำชัยศิริ

เศรษฐกิจครึ่งปีแรกนอกจากผลกระทบจากปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ทั้งเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว และราคานํ้ามันที่ผันผวนแรง อีกทั้งสิ่งที่คนเป็นกังวลอย่างมากคือปัญหาภัยแล้ง ที่ส่งผลกระทบกับผลผลิตภาคเกษตร วัตถุดิบที่ได้มีน้อยลง จึงทำให้เศรษฐกิจในครึ่งปีแรกยังไม่ฟื้น จะเห็นว่าการฟื้นตัวยังจำกัดอยู่เฉพาะบริษัทใหญ่ๆ ส่วนผู้ประกอบการรายเล็กยังไม่มั่นใจและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจากรัฐก็ยังไม่ลงมาถึงระดับล่าง ยังมีข้อกังวลจากภัยแล้ง และข่าวไม่ดีเรื่องปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงานและไร้การควบคุม (ไอยูยู) และเรื่องค้ามนุษย์

ส่วนในครึ่งปีหลังปัจจัยลบที่บอกว่ายอดส่งออกเราจะลดลงนั้น มันก็อาจจะมีปัจจัยบวกกระตุ้นเศรษฐกิจได้ด้วยเช่นกัน เช่น ราคานํ้ามันที่กลับมาสูงขึ้น,การขึ้นมาอยู่ที่ Tier 2.5 ทำให้ความเชื่อมั่นกลับมา, กำลังซื้อในประเทศขยับได้เหล่านี้จะมาซัพพอร์ต เพื่อทีจ่ ะทำให้การเตบิ โตของจีดีพยี ังคงอยูท่ ี่ 3-3.5% แตถ่ ้าเรามองเลยไปจากนั้นอีก คือเรื่องขีดความสามารถเราแข่งขันของเราได้หรือไม่ ตรงนี้เป็นตัวสำคัญที่จะต้องไปพิจารณาให้ดีด้วย

ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องมองจากนี้ไปสนับสนุนนโยบายรัฐเรื่องไทยแลนด์4.0 เป็นยุทธศาสตร์ใหม่ของประเทศที่จะต้องทำให้ชัดเจน ซึ่งจะทได้ต้องมีต้นทุนทางด้านปัญญา ด้านเทคโนโลยีเข้าไป มีต้นทุนทางด้านความคิดสร้างสรรค์ และที่สำคัญภาครัฐอย่าลืมเรื่องการปฏิรูปการศึกษา เพราะ “คน” ถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศ หากภาครัฐทำไม่ได้ก็ควรอยู่ในบทบาทเรกูเลเตอร์หรือผู้กำกับแล้วให้ภาคเอกชนทำ

 "ถ้าทุกอย่างไม่เป็นไปตามแผนหรือตามคาดถามว่าเรามีแผนรองรับอย่างไร”
• ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย

จุดแรกถามว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกดีขึ้นไหม จากที่เราสำรวจความเชื่อมั่นรู้ว่าเศรษฐกิจไทยไม่ดีขึ้นเลย ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคไม่รู้สึกดี เวลาประชุมกับภาคธุรกิจกับหอการค้าไทย เราสำรวจแบบสอบถามจากทั่วประเทศไม่มีใครบอกเลยว่าครึ่งปีแรกดี แม้กระทั่งถึงเดือนพฤษภาคม แต่คำถามคือ ผู้ตรวจสอบบัญชี (คือ สภาพัฒน์) บอกว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 3.2% เราก็ต้องบอกว่า 3.2% แต่ 3.2% ไส้ในก็คือ ที่สภาพัฒน์ยืนยันว่ามาจากการบริโภคของภาครัฐและเอกชน

ทั้งนี้ครึ่งปีแรกถ้าเรามาดูในแง่ของการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภค คนจะไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดีและในตัวของธุรกิจเองก็ไม่สามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า“ดี” เพราะฉะนั้นเรากำลังแยกส่วนระหว่างข้อเท็จจริง และความรู้สึก ครึ่งปีแรกนั้นถือว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวแบบอ่อนๆจากการกระตุ้นของภาครัฐ

ส่วนครึ่งปีหลังยังไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆออกมา และรัฐบาลก็เชื่อว่าระยะสั้นเศรษฐกิจน่าจะเดินได้โดยอัตโนมัติด้วยตัวเอง ขณะที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ต่างๆ มันไม่มีหลักประกันตายตัวว่าเม็ดเงินจะลงในไทย 4 แสนล้านบาทขึ้นไปในครึ่งปีหลัง ถามว่าถ้าทุกอย่างไม่เป็นไปตามแผน คือการลงทุนไม่เป็นไปตามคาดเรามีแผนรองรับอย่างไร นี่คือมุมมองที่นักวิชาการเป็นห่วง เพราะสถานการณ์ยังไม่ได้ดี

 "ในช่วง 5 เดือนแรกเรายังไม่ค่อยดีโดยเฉพาะเศรษฐกิจโลก ทำให้กระทบส่งออกที่ยังติดลบอยู่”
• นพพร เทพสิทธา

ตามมูลค่าการส่งออกครึ่งปีแรกถ้าหักสินค้า 3 ตัว (นํ้ามันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์) ติดลบ 2.3%ออกไป มันก็ดูเหมือนจะเป็นบวก(ส่งออกไทยในภาพรวม) เพราะ ลบ 1.9% ถ้าเราหักลบ 2.3% ออกไป ซึ่งมันเป็นตัวเลขที่เรายังส่งออกได้ดีอยู่ เพราะนํ้ามันสำเร็จรูปเราส่งออกไปใน CLMV ได้ดี แต่ก็ยังมีส่วนปัจจัยบวกช่วงครึ่งปีแรกคือทองคำกับอาวุธ โดยปกติเราจะคิดรวม ซึ่งทองคำกับอาวุธ ทั้ง 5 เดือน ทำให้บวกขึ้นมา3.3% มีข่าวเรื่องเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดี คนก็หันมาถือทองมากขึ้น จังหวะนี้ที่ทองราคาขึ้นส่งออกทองได้มากขึ้น จะเห็นว่าภาพรวมการส่งออกของเราไม่ค่อยดีเพราะเรื่องตลาดโลกส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งจากตัวสินค้าของเราอาจจะยังไม่ตรงกับที่ตลาดต้องการในภาวะที่เศรษฐกิจโลกเป็นแบบนี้ ฉะนั้นโดยสรุปก็คือว่า ในช่วง 5 เดือนแรกเรายังไม่ค่อยดีนกั โดยเฉพาะเรือ่ งเศรษฐกิจโลก ทำให้กระทบต่อการส่งออกที่ยังติดลบอยู่

อย่างไรก็ตามสิ่งที่เป็นห่วงคือ การส่งออกที่ติดลบมา 3 ปี อย่าไปคิดว่ามันส่งผลแค่ตัวเลขจีดีพี แต่ผมว่าในเรียลเซ็กเตอร์ต่อเนื่องมันมีการปิดโรงงาน มีการปิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องไปมากพอสมควรแม้แต่เรื่องเทรดดิ้ง(การค้าและบริการ)ผมว่าก็ไปเยอะพอสมควร แต่มันไม่มีตัวเลขที่บอกออกมา และอยากจะนำเสนอรัฐบาลทำคือภาครัฐจะต้องเป็นตัวนำในการสร้างดีมานด์กระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศแล้ว รัฐบาลจะต้องทำให้เกิดความเชื่อมั่นโดยการเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะการไปสู่เทคโนโลยีใหม่ๆ

"อเมริกาประกาศจากเทียร์ 3 เป็นเทียร์ 2.5เฝ้าระวังส่งผลให้ส่งออกอาหารของไทยขยายตัวดีขึ้น”
• สมเด็จ สุสมบูรณ์

ช่วงครึ่งปีหลังปี 2559 นอกจากราคานํ้ามันดิบมีการขยายตัวเพิ่ม มีราคาเพิ่มสูงขึ้น หรือแม้แต่ราคาเกษตรในหลายตัวสินค้าซึ่งมีค่าเฉลี่ยสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา และผลจากที่สหรัฐอเมริกาประกาศจากเทียร์ 3 เป็นเทียร์ 2.5 เฝ้าระวังนั้น ส่งผลให้การส่งออกอาหารของไทยมีการขยายตัวดีขึ้นและรวมถึงเรื่องของภาพลักษณ์ประเทศไทย

ในส่วนของภาครัฐเองที่มีการเข้าไปเจาะตลาด เช่น รัสเซีย หรืออิหร่านซึ่งได้รับการยกเลิกการแซงก์ซัน ซึ่งก็เป็นโอกาสที่ดีที่จะมีการสร้างความสัมพันธ์และขยายไปยังตลาดใหม่ๆ ได้ก็จะเป็นปัจจัยที่ภาครัฐมอง น่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ทั้งนี้เรายังยืนยันเป้าส่งออกที่ 5% และบวกอยู่แต่จะเท่าไหร่ก็ต้องมาทบทวนกันอีกที ซึ่งน่าจะประมาณต้นกันยายนที่จะมีการประชุมทูตพาณิชย์ และมีการหารือกับสภาหอการค้าและสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ และทูตพาณิชย์มาหารือและปรับตัวเลขอีกที

ในแง่กรมฯเรายังปรับบทบาทเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในเรื่องของการพัฒนาและส่งเสริมให้คนที่มีความพร้อมขยายธุรกิจไปในต่างประเทศและก็เห็นด้วยกับ สรท.ในการสร้างดีมานด์ ซึ่งเราเองมีสำนักงานในต่างประเทศในการประสานงาน ก็มีการผลักดันอีเวนต์เข้าไปในตลาดหรือตลาดแอฟริกาที่มีศักยภาพต่างๆเนื่องจากว่ามีประชากรอินเดียค่อนข้างเยอะก็สามารถลิงก์เครือข่ายเข้าไปในอินเดียได้ด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,173 วันที่ 10 - 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2559