อีซีบีกังวลเบร็กซิทสะเทือนยูโรโซน คาดอาจมีมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม

11 ก.ค. 2559 | 12:00 น.
บันทึกการประชุมของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรปครั้งล่าสุดเมื่อต้นเดือนมิถุนายน แสดงถึงความกังวลต่อผลลงประชามติของอังกฤษว่าอาจส่งผลกระทบด้านลบรุนแรงต่อการเติบโตของยูโรโซน

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า จากบันทึกการประชุมคณะกรรมการนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เมื่อวันที่ 1-2 มิถุนายน ซึ่งเปิดเผยออกมาในสัปดาห์นี้ เจ้าหน้าที่ทางการของอีซีบีกล่าวว่า การลงประชามติเพื่อออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ของอังกฤษ หรือเบร็กซิท อาจส่งผลกระทบต่อเนื่องอย่างหนัก แต่ยากที่จะคาดเดา มายังยูโรโซนผ่านหลายช่องทาง ซึ่งรวมถึงการค้าและตลาดการเงิน

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ทางการของอีซีบีกังวลว่า อัตราเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในภาวะอ่อนแอ พร้อมกับได้เน้นย้ำว่าพร้อมที่จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ถ้าอัตราเงินเฟ้อยังคงห่างจากเป้าหมายใกล้เคียง 2% ต่อไป โดยอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนปรับตัวเล็กน้อยอยู่ในระดับประมาณ 0% มาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว แม้ว่าอีซีบีจะตัดสินใจกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ผ่านมาตรการซื้อพันธบัตร หรือคิวอี พร้อมกับลดดอกเบี้ยเงินฝากสู่แดนลบแล้วก็ตาม

ธนาคากลางหลายแห่งตอบสนองต่อผลการทำประชามติของอังกฤษที่ออกมาเหนือความคาดหมายด้วยผลโหวตออกจากอียู ด้วยการให้คำมั่นว่าจะนำเครื่องมือต่างๆ ที่มีมาใช้รักษาเสถียรภาพและปกป้องระบบการเงินของตนเอง ซึ่งนักวิเคราะห์จำนวนมากคาดหมายว่า อีซีบีจะเป็นอีกหนึ่งธนาคารกลางที่มีมาตรการออกมาในไม่ช้านี้

"บันทึกการประชุมยืนยันว่าอีซีบีเปิดกว้างสำหรับการเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแม้แต่ก่อนที่ผลประชามติจะสร้างความไม่แน่นอนให้กับแนวโน้มเศรษฐกิจเสียอีก" เจนนิเฟอร์ แมคคีโอน นักเศรษฐศาสตร์จากแคปิตอล อีโคโนมิกส์ ให้ความเห็น

ภายใต้มาตรการคิวอีของอีซีบีในปัจจุบัน ซึ่งเริ่มใช้มาแล้วเป็นเวลา 16 เดือน อีซีบีซื้อพันธบัตรของทั้งรัฐบาลและเอกชนเป็นมูลค่า 8 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ขณะที่ดอกเบี้ยเงินฟากปัจจุบันถูกลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ -0.4% หมายความว่าธนาคารจะต้องจ่ายเงินเพื่อนำเงินไปฝากกับอีซีบี

แมคคีโอนคาดหมายว่า อีซีบีจะตัดสินใจเพิ่มมูลค่าการซื้อพันธบัตรเป็น 9 หมื่นถึง 1 แสนยูโรต่อเดือนในอีกไม่ช้า หรืออาจจะปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากลงอย่างเร็วในการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 21 กรกฎาคมนี้

"การประชุมครั้งหน้าของอีซีบีจะต้องสะท้อนถึงผลของเบร็กซิทต่อเศรษฐกิจยูโรโซน และดูว่ามาตรการใดมีความเหมาะสมในบริบทดังกล่าว" คอลิน เบอร์มิงแฮม นักเศรษฐศาสตร์จากบีเอ็นพี พาริบาส ให้ความเห็น

นอกจากนี้ บันทึกการประชุมยังระบุด้วยว่า อีซีบีคาดหวังว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลก โดยเป็นการสร้างความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวได้แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม โอกาสการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดมีลดน้อยลงหลังอังกฤษลงมติออกจากอียู

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,173 วันที่ 10 - 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2559