เตือนรับมือค่าเงินผันผวนแข็งค่า 3 เดือนนี้

12 ก.ค. 2559 | 00:00 น.
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”โดยคาดว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ครั้งที่ 5 ในวันที่ 3 สิงหาคมนี้ เชื่อว่ากนง.ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย1.50%ไปจนถึงสิ้นปี เพราะกนง.ยังไม่เห็นว่ามีผลกระทบกับด้านใด อีกทั้งรอดูจีดีพีไตรมาส 2/2559 ที่สศช.จะประกาศ (วันที่ 15 สิงหาคม 2559)ว่าจะเติบโตแค่ไหนหรือต้องการแรงส่งเพิ่มเติมจากที่ผ่านมามีแรงส่งจากโครงการลงทุนภาครัฐช่วยประคับประคองส่วนช่วงที่เหลือทุกคนยังหวังโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐที่จะออกมาเพิ่มเติม

ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศยังห่วงเศรษฐกิจฐานรากและต่างจังหวัดที่แนวโน้มรายได้ภาคเกษตรยังตกตํ่า ปัญหาภัยแล้งยังคงอยู่ในไตรมาส 3/2559 ทำให้ผลผลิตยังไม่เพิ่มมากนัก รวมทั้งภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงฉุดความเชื่อมั่น ซึ่งทั้ง4 ปัจจัยกดดันกำลังซื้อ

สิ่งที่ต้องติดตามคือ สถานการณ์ทางการเงินโลกที่จะมีความเด่นชัดขึ้นตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมนี้ เนื่องจากมีธนาคารกลางหลายประเทศประชุมพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เช่น ธนาคารกลางแห่งประเทศอังกฤษ(บีโออี) ประชุมวันที่14 กรกฎาคมนี้ ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) วันที่ 21 กรกฎาคม ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)ประชุมระหว่างวันที่ 26-27กรกฎาคม และ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ระหว่างวันที่ 28-29 กรกฎาคม เหล่านี้เป็นปัจจัยที่จะสะท้อนว่าแต่ละประเทศจะกระโจนลงทำสงครามค่าเงินแค่ไหน

“เงินบาทยังแข็งค่าและแกว่งตัวใน 2-3 เดือนข้างหน้าโดยเคลื่อนไหวที่ 35-35.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯจากปัจจัยสภาพคล่องตลาดท่วมโลกและปลายเดือนกันยายน เฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ย ส่วนบีโอเจตกที่นั่งลำบาก เพราะมาตรการที่มีอยู่ใช้ไม่ได้ผลเงินเยนแข็งทะลุ 100เยน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อภาคส่งออกไทย”

อนึ่งนักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/2559 จะเติบโตใกล้เคียงไตรมาส1/2559 ที่ระดับ 3.1-3.2%

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,173 วันที่ 10 - 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2559