นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ปาฐกถา เผยแผนพัฒนาชาติร่วมไทย

07 ก.ค. 2559 | 04:40 น.
เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2559 เวลา 18.00 น. คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ดร.ณรงค์ชัย  อัครเศรณี  นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติชัย  ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมต้อนรับฯพณฯ ดร.ทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรี แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในโอกาสปาฐกถาเรื่อง "สปป.ลาว สู่อนาคตการพัฒนา" โดยมีประชาชน นักศึกษา นักธุรกิจ ในจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียงรวมทั้งประชาชนชาวลาวที่อาศัยอยู่ในจังหวัดขอนแก่นร่วมฟังปาฐกถากว่า 700 คน ณ ห้องประชุมพีรสิทธิ์ คำนวณศิลป์ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ฯพณฯ ดร.ทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรี แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กล่าวปาฐกถาว่า ลาวและไทยมีความสัมพันธ์อันดีย่างยาวนาน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวผ่านขบวนการต่อสู้ โดยสันติวิธี กระทั่งปัจจุบันมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ 7 เพื่อขยายการผลิตและส่งออกประคับประคอง เศรษฐกิจให้ฟื้นขึ้นมา แต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับดังกล่าวกลับได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจมหาภาคที่ถูกคุกคามจึงไม่ประสบผลสำเร็จ ปัจจุบันกำลังสร้างแผนเศรษฐกิจที่ 8 โดยมีเป้าหมายให้ลาวก้าวออกจากประเทศด้อยพัฒนาเป็นประเทศกำลังพัฒนา ให้แล้วเสร็จในปีคริสต์ศักราช 2020  ภายใต้วิสัยทัศน์ในการทำให้ชีวิตประชาชนลาวดีขึ้น โดยที่ รายได้มวลรวมประชาชาติ (Gross National Income, GNI) และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross domestic product, GDP) จะต้องสอดคล้องหรือไม่ส่งผลกระทบแง่ลบต่อดัชนีความสงบสุขของคนในประเทศ (Global Peace Index,GPI) นั่นหมายความว่าลาวจะพยายามพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเหมาะสมภายใต้ความสุขของประชาชน

นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวระบุแผนพัฒนาชาติลาวในอนาคตต่อว่า ในปีคริสต์ศักราช 2025  ต้องการพัฒนา GDP ให้เติบโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 7  ต่อคนต่อปี พัฒนาให้ประชาชนมีรายรับระดับปานกลาง ภายใต้การคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม เน้นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่เป็นแบบอย่างในการบริหารจัดการด้าน Green and Smart Campus  และในปีคริสต์ศักราช 2030  ลาวจะพัฒนาให้ก้าวสู่การเป็นประเทศกำลังพัฒนา มีรายรับปานกลาง  และขยายนโยบายลงทุนร่วมกับนักลุงทุนชาวต่างชาติมากขึ้น ความยากจนของประชาชน จะต้องถูกขจัดออกไปให้แล้วเสร็จ ทรัพยากรมนุษย์จะต้องก้าวทันประเทศอาเซียน  ปัจจัยหลักที่ทำให้ลาวประสบความสำเร็จได้ตามแผนพัฒนาคือต้องสร้างเสถียรภาพทางการเมือง และสังคม พัฒนาทรัพยากรมนุษย์  ทั้งด้านฟรงงาน วิชาการ คุณภาพการศึกษา และประชาชนทุกคนต้องสามัคคีปรองดอง เคารพกฎหมายบนพื้นฐานประชาธิปไตย ตลอดจนส่งเสริมให้มีการลงทุนกับต่างประเทศ สร้างความเข้มแข็งให้ภาคเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตามความคาดหวังดังกล่าวถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทายแต่เชื่อว่าทำได้หากได้รับความช่วยเหลือร่วมมือจากประเทศไทย

“ลาวและไทย ไม่สามารถแบ่งแยกกันได้ เพราะทั้งสองประเทศมีความร่วมมือช่วยเหลือกันด้วยดีตลอดมา ลาวมีหลายสิ่งที่ไทยสามารถนำมาใช้ได้ ขณะที่ลาวก็อาศัยทรัพยากรหลายอย่างจากไทยเช่นกัน ทั้งสองประเทศเราต่างเชื่อมั่นระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่นแห่งนี้ช่วยอบรมบ่มเพาะนักศึกษาลาวจบไปหลายรุ่น ให้อนาคต ให้ความรู้ ให้การศึกษา ขอบคุณมหาวิทยาลัยขอนแก่น และสมาคไทยลาวเพื่อมิตรภาพที่ได้จัดงานในวันนี้ขึ้น โดยเฉพาะการได้เข้าพบท่านนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทยที่สัญญาว่าจะช่วยลาวพัฒนาชาติอย่างสุดความสามารถ ร่วมมือกันพัฒนาเศรษฐกิจ GMS ไปพร้อมกัน” นายกรัฐมนตรี สปป.ลาวกล่าว

ดร.ณรงค์ชัย  อัครเศรณี  นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ท่านนายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เดินทางมาเยือนมหาวิทยาลัยขอนแก่น เหตุการณ์ในวันนี้นับเป็นประวัติศาสตร์ ในรอบ 6 ทศวรรษที่ได้ต้อนรับผู้นำระดับชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นสถาบันที่มีความพร้อม ทั้งด้านวิจัย วิชาการ และศิลปวัฒนธรรม ทั้งยังเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคอาเซียน ให้บริการภาครัฐและเอกชนในภาคตะวันออเฉียงเหนือ เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ สาธารณสุข ด้วยปัจจัยเหล่านี้ทำให้นักลงทุนนิยมทำธุรกิจในจังหวัดขอนแก่นจำนวนมาก  จังหวัดขอนแก่นนับเป็นศูนย์กลางลุ่มน้ำโขง มีบทบาทช่วยพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมาโดยตลอด  ประเทศไทยและลาว มีความสัมพันธ์ผ่านทางระบบเศรษฐกิจ การศึกษา และสาธารณสุข อย่างมหาศาลซึ่งประเมินค่าไม่ได้ โดยเฉพาะการศึกษามีนักศึกษาชาวลาวนิยมเข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยขอนแก่นจำนวนมาก

“ปัจจุบันมีศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยขอนแก่น ปฏิบัติงานในตำแหน่งสำคัญของลาวมากมาย ทั้งนี้มีนักศึกษาชาวลาวเข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยขอนแก่นจำนวนทั้งสิ้นกว่า 102 คน ซึ่งมากเป็นลำดับที่ 2 ของนักศึกษาต่างชาติทั้งหมด นับว่าพี่น้องชาวลาวมีความเชื่อมั่นในมหาวิทยาลัยขอนแก่น  ขอขอบคุณสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่ร่วมมือกับราชอาณาจักรไทย ในการพัฒนา นักศึกษา เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมร่วมกัน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเกิดความร่วมมือ ช่วยเหลือเกื้อกูลกันเช่นนี้ตลอดไป”

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  พร้อมด้วยผู้แทนระดับรัฐมนตรีจาก 13 กระทรวงสำคัญ ที่กำกับดูแลงานด้านการต่างประเทศ, สังคม, วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว, แรงงาน, ความมั่นคง, การค้าและการลงทุน, พลังงาน, การศึกษา และการคมนาคมขนส่ง  ได้เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 5 - 6 กรกฎาคม 2559 ในฐานะแขกของรัฐบาล ตามคำเชิญของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อหารือความร่วมมือการเชื่อมโยงภูมิภาค ลงนามข้อตกลงแรงงาน ส่งเสริมการค้าการลงทุน  ก่อนเดินทางมายังจังหวัดขอนแก่น เพื่อรับมอบปริญญาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (การจัดการ) ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น และกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ  “สปป.ลาวสู่อนาคตการพัฒนา" พร้อมมอบเหรียญตรามิตรภาพ ให้แก่สมาคมไทย-ลาวเพื่อมิตรภาพ และเปิดห้องสมุด COLA Library ณ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่นในการนี้ด้วย