ท็อปส์ เตรียมยกระดับวิสาหกิจฯ มะขามทอง สู่ชุมชนต้นแบบ

05 ก.ค. 2559 | 07:05 น.
ท็อปส์ ภายใต้โครงการ ท็อปส์เพื่อเกษตรกรไทย ร่วมใจประชารัฐ เตรียมยกระดับ วิสาหกิจฯมะขามทอง ผู้ผลิตหมี่กรอบสูตรสงครามโลกครั้งที่ 2 “พรหมสร” สู่ชุมชนต้นแบบ หลังเห็นความตั้งใจและความสามัคคีของสมาชิก 72 คนที่พร้อมใจพัฒนาสินค้าสินค้าใหม่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง พร้อมกระจายรายได้สู่ชุมชน ด้วยการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยง รับซื้อวัตถุดิบทั้งหมดจากชุมชนใกล้เคียง แบ่งผลกำไรกลับคืนสู่สังคม

[caption id="attachment_68095" align="aligncenter" width="503"] ท๊อปส์ ท๊อปส์[/caption]

นางสาวเมทินี พิศุทธิ์สินธพ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายจัดซื้อกลุ่มสินค้าอาหารสดและบริหารจัดซื้อ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด ผู้บริหารร้าน เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ และ ท็อปส์ เปิดเผยว่า ภายใต้โครงการ ท็อปส์เพื่อเกษตรไทย ร่วมใจประชารัฐ บริษัทฯ ได้เข้าไปรับซื้อตรงสินค้า (Direct Sourcing) และยกระดับผู้ผลิตสินค้าชุมชน ทั้งผัก ผลไม้ สินค้าแปรรูป , สินค้าโอทอป และ เอสเอ็มอี ให้เป็นชุมชนต้นแบบ สำหรับชุมชนน้องใหม่เข้ามาศึกษาดูงาน

image หนึ่งในชุมชนผู้ผลิตสินค้าโอทอปป้อน ท็อปส์ ที่มีศักยภาพ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตร มะขามทอง ต.ตะคร้ำเอน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี หลังจากที่ฝ่ายจัดซื้อได้ชิมสินค้าแล้วพบว่า รสชาติดี, ผลิตโดยกลุ่มวิสาหกิจที่เข้มแข็ง มีศัยกภาพการเติบโต, หมี่กรอบได้รับรางวัลโอทอป 5 ดาวถึง 5 ปีซ้อน มีจุดขายสำคัญเป็นสูตรอร่อยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยปัจจุบันมีสินค้าที่วางจำหน่ายในท็อปส์ ได้แก่ หมี่กรอบสมุนไพรรสดั้งเดิม หมี่กรอบสมุนไพรรสมะเขือเทศสด ราคากล่องละ 40 บาท และกรอบเค็มเผือก ราคาถุงละ 35 บาท สินค้าที่กำลังนำเสนอวางจำหน่าย ได้แก่ หมี่กรอบสนุนไพรรสต้มยำกุ้ง ปลาหมึกสามรส ปั้นสิบ ครองแครง และสินค้าที่กำลังอยู่ระหว่างพัฒนาสินค้าเพื่อนำเสนอ ได้แก่ ข้างเกรียบกุ้งน้ำจืด และ หมี่กรอบสติ๊ก

image “หลังจากลงพื้นที่ ทีมได้พูดคุยกับคุณจตุพร อินทรโสภา ประธานวิสาหกิจฯ มะขามทอง ทำให้รับทราบปัญหาของ วิสาหกิจฯ เช่น การทำแพคเกจจิ้ง ตราสินค้า การทำตลาด การบริหารจัดการ การขาดงบสนับสนุน และขาดการผลักดันด้านมาตรฐานการผลิต แต่เห็นความตั้งใจและความสามัคคีของกลุ่มสมาชิก ที่ต้องการกระจายรายได้ให้ถึงมือคนในท้องถิ่นจริงๆ ด้วยการรับซื้อวัตถุดิบการผลิตทั้งหมดจากชาวบ้าน เช่น หมี่ขาวท่าเรือ พริก ใบมะกรูด น้ำมะขามเปียก มะเขือเทศ ฯลฯ เรียกว่าเป็นเครือข่ายเชื่อมโยง ประกอบกับเมื่อมีรายได้เข้ามา วิสาหกิจฯ ก็นำเงินบางส่วนไปช่วยเหลือชุมชน เช่น ให้ทุนการศึกษาเด็ก บูรณะวัด การช่วยเหลือวิสาหกิจฯ มะขามทอง ก็เท่ากับได้ช่วยเหลือชุมชนใกล้เคียงด้วย”

เมทินี เปิดเผยอีกว่า ในปี 2555 เป็นปีแรกที่บริษัทฯ เข้าไปช่วยเหลือวิสากิจฯ โดยทดลองนำสินค้ามาวางจำหน่ายในงานจำหน่ายสินค้าชุมชนของเรา ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี หลังจากนั้นในปี 2556 ได้เริ่มต้นเข้าไปให้ความรู้เริ่มตั้งแต่เรื่องแพคเกจจิ้ง ที่เปลี่ยนจากถุงพลาสติกเป็นกล่องพลาสติกใสมีสายคาดเพื่อความสวยงาม น่ารับประทาน สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและสะดวกในการขนส่ง เข้าไปให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการ ทั้งในเรื่องการบริหารต้นทุน โลจิสติก บัญชี และได้นำเสนอเรื่องไปยังกลุ่มเซ็นทรัลเพื่ออนุมัติงบประมาณ 1 ล้านบาท สำหรับปรับปรุงโรงงานให้ได้มาตรฐาน GMP แล้วเสร็จในปี 2558 นอกจากนี้ยังสนับสนุนการขายเพิ่มเติม ด้วยการนำหมี่กรอบพรหมสร ไปวางจำหน่ายในงาน “ท็อปส์เพื่อเกษตรกรไทย ร่วมใจประชารัฐ” ที่จัดทั้งประเทศ จำนวน 35 ครั้งในปี 2559

สำหรับยอดขายหมี่กรอบ พรหมสร ในปี 2556 มียอดขายได้เกือบ 600,000 บาท ต่อมาในปี 2557 ยอดขายเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตัว หรือเกือบ 1.7 ล้านบาท และในปี 2558 มียอดขายกว่า 1.8 ล้านบาท และในปี 2559 ตั้งเป้ายอดขายไว้ 2 ล้านบาท ส่วนในปี 2560 บริษัทฯและวิสาหกิจฯ เชื่อตรงกันว่าจะมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด เนื่องจากมีความพร้อมด้านโรงงานและเตรียมผลิตสินค้าใหม่ออกสู่ตลาด

โดยในปี 2559 ท็อปส์ ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐที่ต้องการสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจในประเทศ ตั้งแต่ระดับชุมชน ด้วยการนำนโยบายด้านสังคม มาต่อยอดเป็นโครงการ “ท็อปส์เพื่อเกษตรกรไทย ร่วมใจประชารัฐ” โดยมีพันธกิจ 2 ข้อหลัก ได้แก่ 1.บริษัทฯ จัดซื้อ ผัก ผลไม้ และ สินค้าแปรรูป จากชุมชนที่มาจากแหล่งที่ดีที่สุดของแต่ละอำเภอในแต่ละจังหวัดที่เข้าไปเปิดสาขาและในพื้นที่ในจังหวัดใกล้เคียง เช่น รับซื้อทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง และสละ จาก สหกรณ์การเกษตรทุ่งควายกิน จ.ระยอง พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ในกระบวนการผลิตผักและผลไม้ ตั้งแต่ต้นน้ำ การเลือกพันธุ์ที่ตลาดต้องการ การวางแผนการปลูกที่ให้ได้ประโยชน์สูงสุดและให้ผลผลิตที่มีคุณภาพมาตรฐานระดับสากล การตัดแต่งผักและผลไม้เพื่อกาขนส่งและจำหน่าย การแพ็คสินค้า ร่วมออกแบบตราสินค้าให้กับชุนชน การสนับสนุนด้านการกระจายสินค้า จนถึงมือผู้บริโภค โดยบริษัทฯจะรับซื้อสินค้าจากชุมชนโดยตรง ในราคาที่เกษตรกรพึงพอใจ รวมไปถึงสินค้าโอทอป และ เอ็สเอมอี โดยความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมการค้าภายใน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และยังได้เซ็นสัญญาความร่วมมือ (MOU) กับสภาอุตสาหกรรม ในปี 2551 ร่วมปั้นเอสเอ็มอี ด้วยการจัดทำ Business Matching เพื่อให้บริษัทฯ คัดเลือกโอทอปและเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ สามารถผลิตสินค้าเพื่อวางจำหน่ายในสาขา โดยท็อปส์เข้าไปให้ องค์ความรู้เพิ่มเติม เช่น หลักการดำเนินธุรกิจกับโมเดิร์นเทรด, ขั้นตอนการกระจายและจัดจำหน่ายสินค้า เป็นต้น

นอกจากเป็นรุ่นพี่ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับรุ่นน้อง ท็อปส์ยังอำนวยความสะดวกให้กับโอทอปและเอสเอ็มอี ด้วยการยกเว้นค่าธรรมเนียมแรกเข้า ค่าเปิดหน้าบัญชี ฯลฯ เพื่อให้ธุรกิจรายเล็กนำงบไปทำการตลาด ให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้น หากเป็นแบรนด์ที่มีศักยภาพอยู่แล้ว จะผลักดันให้มีสินค้า Own Brand ร่วมกับท็อปส์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ เรามีทีมทำตลาด มีพื้นที่ของตัวเอง ขายได้ทันที เช่น “เยลโล่ ฟาร์ม” ผู้ผลิตน้ำผึ้งแบรนด์กู้ดบี (Goodb) ที่ผลิตน้ำผึ้งให้แบรนด์มายช้อยส์ มากถึง 17 เอสเคยู ยอดขาย 40% ในปี 2558 มาจากแบรนด์มายช้อยส์

2.บริษัทฯ ยังร่วมพัฒนาโมเดล 8 ชุมชนต้นแบบ ใน 8 จังหวัด ได้แก่ 1)มะขามหวาน จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมอาชีพแปรรูปมะขามหวานบ้านโนนเสาธง จ.เพชรบูรณ์ 2)ลำไย จากสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ ก ส จำกัด ลำพูน จ.ลำพูน 3)กล้วยน้ำหว้าออร์แกนิค วิสาหกิจชุมชนผู้ปลุกกล้วยน้ำหว้า จ.อ่างทอง 4)สับปะรดนางแล จากวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกสับปะรดนางแล จ.เชียงราย 5)มังคุด จากสหกรณ์การเกษตร ทุ่งควายกิน จ.ระยอง 6)แมคคาเดเมีย จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรบ้านบ่อเหมืองน้อย จ.เลย 7)ข้าวสังข์หยด จากวิสาหกิจชุมชนบ้านเขากลางข้าวสังข์หยด จ.พัทลุง 8)พรมเอนกประสงค์ จากวิสาหกิจชุมชนสิ่งประดิษฐ์จากเศษผ้าบ้านสบสาย จ.แพร่

โดยร่วมกับ บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด และมูลนิธิเตียง จิราธิวัฒน์ ในการให้คำปรึกษา เสนอแนะแนวทางดำเนินงาน สนับสนุนด้านงบประมาณ เพื่อสร้างชุมชนต้นแบบ สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าด้วยการแปรรูป เพื่อวางจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศในอนาคต

ตลอด 7 ปีที่บริษัทฯ เข้าไปส่วนร่วมในการพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชุมชน จนถึงปี 2558 มีเครือข่ายมากถึง 102 ชุมชน 113 โอทอป 70 เอสเอ็มอี และในเดือนพฤษภาคม 2559 ได้เพิ่มเป็น 104 ชุมชน 167 โอทอป และ 97 เอสเอ็มอี จากการทำ Business Matching กับทางภาครัฐ และริเริ่มจัดตั้งหน่วยงาน Local Buyer จัดซื้อประจำภาค 4 หน่วย ได้แก่ 1.ภาคเหนือ 2.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3.ภาคใต้ 4.ภาคกลางและภาคตะวันออก จากเดิมที่มีเฉพาะหน่วยงานกลางเท่านั้น จากการลงพื้นที่จริงตลอดหลายปีทำให้ ท็อปส์ มั่นใจว่าเกษตรกรไทยสามารถผลิตสินค้าที่ได้คุณภาพ สามารถต่อยอดเพื่อนำมาวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตได้ ทีม Local Buyer จึงมีหน้าที่หลักปูพรมเข้าถึงเกษตรกรในระดับตำบล มองหาชุมชนผู้ผลิตสินค้าที่มีศักยภาพ มาวางจำหน่ายที่ ท็อปส์

จากการสนับสนุนของท็อปส์ ทำให้ในปี 2558 มีรายได้กลับเข้าสู่ ชุมชน โอทอป และเอสเอ็มอี รวมกว่า 795 ล้านบาท (สินค้าชุมชน 240 ล้านบาท โอทอป 350 ล้านบาท เอสเอ็มอี 205 ล้านบาท) และในปี 2559 ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 955 ล้านบาท (สินค้าชุมชน 290 ล้านบาท โอทอป 420 ล้านบาท เอสเอ็มอี 245 ล้านบาท)