‘โสพรรณ มานะธัญญา’ โชว์กึ๋น นายกหญิงคนแรกสมาคมข้าวถุง

03 ก.ค. 2559 | 09:00 น.
จากที่ในปีนี้รัฐบาลภายใต้การบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีแนวทางการปฏิรูปสินค้าข้าว ให้อยู่ภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร โดยควบคุมพื้นที่การเพาะปลูกให้เป็นไปตามเป้าหมาย รอบที่ 1 ปี2559/60 จำนวน 55.37 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ส่งเสริมปลูกข้าว 54.80 ล้านไร่ และพื้นที่การปรับเปลี่ยนการเพาะปลูก 5.7 แสนไร่ อย่างจริงจังภายใต้ 3 หน่วยงานหลักได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทยเป็นตัวขับเคลื่อน ผลจากนโยบายดังกล่าวนั้นจะส่งผลกระทบต่อราคาข้าวถุงในประเทศหรือไม่ ที่สำคัญจะสามารถยกระดับราคาข้าวให้สูงขึ้น เพื่อยกระดับชีวิตของชาวนา 3.7 ล้านครัวเรือน ได้จริงหรือไม่ “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “โสพรรณ มานะธัญญา” นายกสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย ซึ่งเป็นผู้หญิงคนแรก ดังรายละเอียด

การตลาด นำการผลิต

“โสพรรณ” กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาราคาข้าวหอมมะลิ และข้าวขาว ต่ำเกินไป มีผลทำให้เกษตรกรขาดทุน สาเหตุมาจากผลผลิตมากเกินกับความต้องการไป ดังนั้นการกำหนดพื้นที่ปลูกข้าวและการบริหารจัดการ ภายใต้คณะทำงานวางแผนการผลิตข้าวครบวงจรที่มีนางชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ทางสมาคมเห็นพ้องกันด้วยที่จะต้องมีนโยบายเพาะปลูกให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ในการกำหนดข้าวแต่ละชนิดควรจะปลูกเท่าไร โดย กำหนดความต้องการข้าวทั้งผู้ส่งออก และผู้ใช้ในประเทศแยกรายชนิดข้าวในปี 2559/60 เป้าหมายการผลิตที่ 27.17 ล้านตันข้าวเปลือก (จากปีก่อนเคยผลิตถึง 33 ล้านตันข้าวเปลือก)

“การวางแผนการผลิตใกล้เคียงกับความต้องการของตลาดไม่ใช่โอเวอร์ (ปริมาณข้าวมาก) หรือขาดแคลน ซึ่งหลังจากนี้เป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะต้องไปกำหนดนโยบายพื้นที่ในการปลูกข้าวแต่ละชนิดให้มีความเหมาะสมภายใต้แผนการทำงานจะมี 3 ระยะ ได้แก่ระยะสั้น (6 เดือน) ระยะกลาง (12 เดือน) และระยะยาว (18 เดือน) คาดว่าจะมีผลทำให้ราคาข้าวในประเทศที่เกษตรกรจะเก็บเกี่ยวได้ในอนาคตราคาจะปรับขึ้นเล็กน้อยมาก”

ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่า ควรยึดผลประโยชน์ของเกษตรกรซึ่งเป็นคนหมู่มาก เพราะถ้าชาวนาเลิกอาชีพปลูกข้าวเลย กล่าวคือ ผู้บริโภคไม่มีข้าวรับประทาน หรือผู้ส่งออกจะต้องไปซื้อข้าวจากเวียดนาม ข้าวเมียนมา เพื่อส่งออก จะทำให้ไทยขาดความมั่นคงทางอาหาร จากนโยบายดังกล่าวที่ร่วมกันทั้งเกษตรกร หน่วยงานรัฐและภาคเอกชนจะช่วยกันทำให้ระบบห่วงโซ่อาหารมีความสมดุล ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีไปสู่แนวทางการปฏิรูปสินค้าข้าวในภาพรวมทั้งประเทศ

รวมกันเพิ่มอำนาจต่อรอง

ส่วนการบริหารงานของสมาคมในปี 2559 นั้นดำเนินการตามเจตนารมย์ของผู้ก่อตั้งและเกิดการรวมตัวกันก็เพื่อดูแลผู้ประกอบการข้าวถุง และเป็นตัวกลางในการสื่อสารระหว่างราชการกับผู้ประกอบการ หรือทางโมเดิร์นเทรดกับผู้ประกอบการ นี่เป็นหน้าที่หลัก แต่ในจำนวนสมาชิกกว่า 150 บริษัท ไม่สามารถคุยกันเรื่องฮั้วราคาได้ หรือบางราย หากสต๊อกข้าวมาก อยากจะขายเท่าทุนก็ได้ ขอยืนยันว่าเป็นการค้าเสรี แต่จะพยายามชักจูงหรือรณรงค์ให้ข้าวของสมาชิกอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน และให้ข้อมูลข่าวสารกับสมาชิกเพื่อให้รับทราบความเคลื่อนไหว หรือกระทรวงพาณิชย์ขอความร่วมมือก็ยินดี อาทิ ตัวอย่างข้าว และไปร่วมงานแถลงข่าว เป็นต้น

อีกหนึ่งภารกิจที่สำคัญ ก็คือ การเพิ่มอำนาจต่อรอง เพราะการไปวางจำหน่ายข้าวถุงในห้างโมเดิร์นเทรด และดิสเคาน์สโตร์ จะมีค่าใช่จ่าย ส่งผลทำให้ราคาต้นทุนผู้ประกอบการสูงมาก อาทิ ค่าใช้จ่าย ค่าใช้จ่ายจัดโปรโมชันลดราคาสินค้า หักเปอร์เซ็นต์ โดยการแบ่งรายได้จากยอดขาย รวมทั้งเรื่องอื่นๆ ด้วย ซึ่งผู้ประกอบการข้าวถุงจะได้กำไรน้อยมาก แต่ถ้ารวมกลุ่มกันจะสามารถเจรจากับโมเดิร์นเทรดว่าค่าใช้จ่ายต่างๆ ราคาที่เหมาะสมน่าจะอยู่ระดับเท่านี้ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของสมาชิก และราคาที่เป็นธรรมกับผู้บริโภค

ล่าสุดทางกระทรวงพาณิชย์ ได้มีมาตรการให้สมาชิกผู้ประกอบการข้าวถุง ทำรายงานเข้าไปทุกสัปดาห์ว่าแต่ละแบรนด์จำหน่ายในท้องตลาดราคาเท่าไร ซึ่งข้อมูลต่างๆ เหล่านี้จะต้องชี้แจงตั้งแต่ต้นทางก็คือ การรับข้าวเปลือกราคาเท่าไร สีแปรเป็นข้าวสารมีต้นทุนเท่าไร บรรจุถุงขายเท่าไร เนื่องจากเกษตรกรจะได้ทราบว่าโรงสีให้ราคาเท่าไร ผลประโยชน์จะตกอยู่กับเกษตรกรที่จะนำผลผลิตไปขายกับโรงสีที่ให้ราคาดีที่สุด เพื่อเป็นทางเลือกให้กับชาวนา จะประกาศในเว็บไซต์ของกระทรวงที่เปิดให้ผู้บริโภคและผู้มีส่วนได้เสียสามารถคลิกเข้าไปดูได้

สำหรับส่วนตัวอยู่ในธุรกิจข้าวประมาณ 30 กว่าปีแล้ว ตอนแรกอยู่ในส่วนของการส่งออกเป็นหลัก ตอนหลังก็มาทำการตลาดในประเทศ โดยเป็นผู้บริหารของบริษัท เจียเม้งมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายข้าวสารคุณภาพบรรจุถุงตราหงษ์ทอง จะมีการติดต่อกับห้างโมเดิร์นเทรด และยี่ปั๊วต่างจังหวัด และช่วยบริษัทในเครือต่อยอดข้าว สร้างผลิตภัณฑ์เชิงนวัตกรรมอาทิ เครื่องดื่มจากข้าว โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป และข้าวหุงสุกพร้อมรับประทานในกระป๋อง ซึ่งสร้างความแปลกใหม่ให้กับตลาด ตั้งแต่ปี 2555 แล้วแต่ยอมรับว่าตลาดตรงนี้ค่อนข้างเหนื่อย ต้องเข้าถึง เข้าใจผู้บริโภค มองว่ามาถูกทางแล้ว แต่ต้องใช้เวลา

"จะเห็นว่าในตลาดนอกจากจะมีแบรนด์ข้าวถุงของสมาชิกแล้ว ยังข้าวถุงจากสหกรณ์ ซ้ำร้ายยังมีพวกรถเร่ที่เข้าไปขายตามหมู่บ้าน พวกนี้ต้นทุนน้อย ในอดีตราคาข้าวหอมมะลิ ขายกิโลกรัมละ 35-40 บาท แต่กลุ่มนี้ขายกิโลกรัมละ 27-30 บาท จะต่างกับผู้ประกอบการที่ทำข้าวแบรนด์ ซื้อข้าวจากโรงสีแล้ว จะต้องนำมาปรับปรุงคุณภาพข้าว และนำมาบรรจุถุงสวยงามสมกับแบรนด์ ดังนั้นจะเห็นว่าการแข่งขันสูงมากทั้งสมาชิกในสมาคมและนอกสมาคมยังมีอีกมาก"

เกษตรกรต้องยืนได้ด้วยเอง

สำหรับสิ่งที่อยากฝากถึงกระทรวงพาณิชย์ คืออยากให้ลงลึก เพราะบางทีราชการก็ไม่เข้าใจว่าเกษตรกรต้องการอะไร และต้องการความช่วยเหลือแบบไหน บางทีข้อมูลมีหลายแหล่งมากเกินไปเกิดความสับสน รวมถึงเรื่องโครงการประชารัฐ ยกตัวอย่าง ข้าวไรซ์เบอรี่ มีการส่งเสริมให้ปลูก หากส่งเสริมแล้วไม่มีตลาดรองรับ ท้ายสุดจะกลายเป็นโอเวอร์ซัพพลาย เกษตรกรจะขายไม่ได้ราคา ที่สำคัญเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่ทุกคนที่จะรับประทาน ดังนั้นหน้าที่บทบาทของกระทรวงต้องหาตลาดให้ จะเป็นตามแหล่งท่องเที่ยว แล้วให้ตลาดเป็นคนสอนเกษตรกร ให้สัมผัสผู้ซื้อว่าต้องการอะไร ท้ายสุดจะได้นำสิ่งที่เรียนรู้มาปรับปรุงการผลิตให้ตรงกับความต้องการตลาด แล้วเกษตรกรจะพัฒนาสินค้าของเขาเองโดยอัตโนมัติ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,170
วันที่ 30 มิถุนายน - 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2559