โครงการนำร่องธุรกิจร้านอาหารเคลื่อนที่ (Food Trucks) ในฮ่องกง(ตอนจบ)

03 ก.ค. 2559 | 04:00 น.
ความแตกต่างระหว่าง Street Hawkers กับ Food Trucks

ในช่วงปลายปี 2558 รัฐบาลฮ่องกงประกาศเปิดตัวโครงการนำร่อง Food Trucks อย่างเป็นทางการ ซึ่งก่อให้เกิดคำถามมากมายจากผู้คนที่สนใจในธุรกิจแนวนี้ เนื่องจากในอดีตฮ่องกงเคยมีร้านค้ารถเข็นขายอาหารริมทางเดินมากมายซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นมาอย่างช้านาน แต่ในระยะหลัง รัฐบาลฮ่องกงได้ห้ามค้าขายริมทางเดินทำให้พ่อค้าแม่ค้าริมทางต้องไปหาอาชีพอื่นเพื่อยังชีพแทน จนกระทั่งเมื่อต้นปี 2558 รัฐบาลได้ประกาศสนับสนุนธุรกิจ Food Trucks ที่ดูเหมือนจะนำแนวคิดมาจากต่างประเทศ ทำให้บุคคลหลายกลุ่มไม่เห็นด้วย

โดย นางสาวซูซาน จัง (Susan Jung) นักเขียนคอลัมน์อาหารและเครื่องดื่มของหนังสือพิมพ์ เซาธ์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับโครงการนำร่อง Food Trucks ของรัฐบาลฮ่องกงและได้ยกตัวอย่างการขายอาหารริมทางในอดีตขึ้นมาเปรียบเทียบโดยกล่าวว่าฮ่องกงกำลังเลียนแบบสิ่งที่มีอยู่ในต่างประเทศแต่ขาดความใส่ใจในมรดกของฮ่องกงที่เคยมี รถเข็นขายอาหารริมทางเดินในอดีตเป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยวและเป็นเอกลักษณ์ของฮ่องกงอย่างแท้จริง

นางสาวจังเห็นว่าฮ่องกงไม่จำเป็นต้องมีรถขายอาหารชนิดอื่นเพิ่มเติมอีกนอกจากรถแนว Food Trucks ขายไอศกรีมที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทางการฮ่องกงคาดการณ์ค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินธุรกิจ Food Trucks จะเริ่มต้นที่ประมาณ 6 แสนดอลลาร์ฮ่องกง ซึ่งเป็นจำนวนเงินไม่น้อยเลยสำหรับการลงทุนทำธุรกิจครั้งแรก และกลุ่มเป้าหมายหลักของทางการฮ่องกงที่วางไว้สำหรับโครงการนี้ก็คือกลุ่มนักท่องเที่ยว จึงได้กำหนดให้ผู้ประกอบการในโครงการดำเนินธุรกิจได้เพียง 8 เขตที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวอาจไม่สามารถสร้างรายได้ที่เพียงพอให้กับผู้ประกอบการได้

ฝันที่เป็นจริงของผู้ประกอบการ?

หลังจากที่ทางการฮ่องกงได้ประกาศเริ่มต้นดำเนินโครงการนำร่อง Food Trucks ไปเมื่อช่วงปลายปี 2558 ทำให้เกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับความคิดและวิธีการดำเนินงานของโครงการ ผู้ประกอบการบางส่วนที่ประกอบธุรกิจร้านอาหารเคลื่อนที่อยู่ก่อนหน้านั้นได้ศึกษารายละเอียดของโครงการนำร่องดังกล่าวและพบว่าร้านอาหารเคลื่อนที่ของตนไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของทางรัฐบาลที่กำหนดขนาดพื้นที่ในการเตรียมอาหารในร้านอาหารเคลื่อนที่ว่าต้องมีพื้นที่อย่างน้อย 6 ตารางเมตร นายซิลกี้ หว่าน ซุยเค่ย ผู้ประกอบการ Food Trucks รายหนึ่งกล่าวว่า รู้สึกตกใจเมื่อทราบถึงข้อกำหนดและคุณสมบัติต่าง ๆ ของการสมัครโครงการนำร่องนี้ เนื่องจากปัจจุบันทางการฮ่องกงยังไม่มีกฎระเบียบข้อบังคับที่ชัดเจนเกี่ยวกับการบริหารจัดการธุรกิจประเภท Food Trucks ส่วนกฎระเบียบข้อบังคับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นเป็นข้อบังคับสำหรับธุรกิจร้านอาหารทั่วไปเท่านั้น ผู้ประกอบการรายนี้ได้เสนอให้ทางการฮ่องกงกำหนดตัวบทกฎหมายใหม่ที่ใช้ครอบคลุมเฉพาะธุรกิจร้านอาหารเคลื่อนที่

นอกจากนี้ นายไซมอน ชุง ประธานบริหารจากสมาคมผู้ประกอบการรถขายอาหารแห่งฮ่องกง หรือ Hong Kong Food Truck Association (HKFTA) และเป็นพ่อครัวอาหารอิตาลีที่มีชื่อเสียง กล่าวว่า ทางการฮ่องกงไม่อนุญาตให้ผู้ประกอบการในโครงการ Food Trucks เปลี่ยนเมนูอาหารที่ได้เสนอไว้ในตอนต้นตลอดระยะเวลาที่อยู่ในโครงการ ซึ่งหมายความว่าผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือกจะต้องขายอาหารชนิดเดิมซ้ำกันทุกวันและต้องขายในเขต (สถานที่) ที่ทางการกำหนดให้เป็นเวลา 4 เดือนจึงจะสามารถหมุนเวียนเปลี่ยนเขตที่ขายได้ สำหรับตารางการหมุนเวียนสถานที่ขายนั้นจัดทำโดย The Tourism Commission ซึ่งนายชุงได้แสดงความคิดเห็นต่อแนวคิดดังกล่าวว่า หากเมนูไม่เป็นที่น่าสนใจสำหรับการขายในเขตนั้นๆ ผู้ประกอบการจะต้องยอมรับความเสี่ยงในการขายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เขายังกล่าวว่า อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการนี้คือการทำแผนธุรกิจร้านอาหารเคลื่อนที่ กรณีที่ผู้สนใจมีอาชีพเป็นพ่อครัวอยากจะเริ่มต้นธุรกิจของตนเองก็อาจไม่มีความรู้ความสามารถพอในการเขียนแผนธุรกิจให้สำเร็จได้ ดังนั้น พ่อครัวเหล่านั้นจึงต้องเสียเงินไม่น้อยเพื่อจ้างมืออาชีพให้ช่วยเขียนแผนธุรกิจให้ นายชุงได้แสดงความคิดเห็นว่า ขั้นตอนของการรับสมัครผู้ประกอบการในโครงการนำร่อง Food Trucks นั้นควรนำเอาการสาธิตอาหารจานหลักของร้านขึ้นต้นก่อนการนำส่งแผนธุรกิจ มิเช่นนั้น พ่อครัวที่มีความสามารถอาจไม่ผ่านการคัดเลือกในตอนต้นเนื่องจากแผนธุรกิจนั้นไม่ดีพอ อย่างไรก็ตาม HKFTA ได้ให้การสนับสนุนแก่สมาชิกในองค์กรเพื่อเข้าร่วมโครงการนำร่อง Food Trucks ของรัฐบาลในครั้งนี้ โดยมีสมาชิกที่สนใจกว่า 12 ราย สมัครเข้าร่วมโครงการดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว

ธุรกิจขายอาหารนั้นเป็นธุรกิจเก่าแก่ดั้งเดิมที่มีมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในฮ่องกงที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งนักชิม มีอาหารให้เลือกรับประทานหลากหลายจากนานาภูมิภาค การขายอาหารบนรถเคลื่อนที่นั้นอาจไม่ใช่สิ่งใหม่สำหรับฮ่องกง เนื่องจากในอดีตฮ่องกงก็มีอาหารรถเข็นที่เคยเป็นที่นิยมชมชอบของชาวฮ่องกงและต่างชาติ อาทิ ลูกชิ้นปลาทอดราดซอสแกงกะหรี่ (curry fish ball) บะหมี่รถเข็น (cart noodle) วาฟเฟิลทาเนย/นมข้นหวาน (waffles spread with peanut butter or condensed milk) เพียงแต่การขายอาหารดังกล่าวในปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนเข้าไปขายในตึกและอาคารแทนการขายในรถเข็น

ภาพลักษณ์ของรถเข็นขายอาหารริมทางในอดีตอาจดูไม่ถูกหลักสุขลักษณะนักจึงกลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐบาลฮ่องกงต้องประกาศห้ามขายอาหารริมทางอย่างสิ้นเชิง ซึ่งการที่รัฐบาลฮ่องกงเสนอโครงการร้านอาหารเคลื่อนที่ Food Trucks โดยมีระยะเวลาในการทดลอง 2 ปีนั้น ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC) เห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการสานฝันในการสร้างธุรกิจของตนโดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความมุ่งมั่น อย่างไรก็ดี การเริ่มทำธุรกิจอะไรก็ตามย่อมต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน ธุรกิจร้านอาหารเคลื่อนที่ Food Trucks ก็เช่นกัน ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องพิจารณาถึงปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วนก่อนการตัดสินใจเริ่มลงทุน ผู้ประกอบการควรศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับธุรกิจร้านอาหารเคลื่อนที่และวางแผนการดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบเพื่อสร้างความสำเร็จในธุรกิจต่อไป

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับช่องทางการค้า-การลงทุนและความเคลื่อนไหวล่าสุดเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC) www.thaibizchina.com หรือช่องทางใหม่ www.facebook.com/thaibizchina

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,170
วันที่ 30 มิถุนายน - 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2559