เอ็นโซโก้พ่นพิษโรงแรมสะเทือนอี-คอมเมิร์ซ

28 มิ.ย. 2559 | 06:00 น.
ปิดเว็บดีลระดับภูมิภาค “เอ็นโซโก้” สะเทือนธุรกิจอี-คอมเมิร์ซผู้ซื้อผู้ขายโกลาหล ถามหาความรับผิดชอบ ล่าสุด “เอ็นโซโก้ ไทยแลนด์”ออกประกาศ หวังลดกระแส “เอ็ตด้า” เผยยอดร้องเรียนผ่านศูนย์ 1212OCC พุ่งรายวันแนะเร่งตั้งตัวแทนไกล่เกลี่ย ชี้เป็นกรณีศึกษาที่ไทยต้องเร่งออก ก.ม.คุ้มครองผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ ด้านสคบ.ส่ง EMS เรียกเข้าแจง 29 มิ.ย. โรงแรมอ่วมดีลค้างชำระเอ็นโซโก้พ่นพิษ

[caption id="attachment_65819" align="aligncenter" width="700"] ไทม์ไลน์การเปลี่ยนแปลง อี-คอมเมิร์ซไทยในรอบ 2559 ไทม์ไลน์การเปลี่ยนแปลง อี-คอมเมิร์ซไทยในรอบ 2559[/caption]

จากกรณีปิดบริการเว็บดีลชื่อดัง เอ็นโซโก้ ใน 6 ประเทศ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 จนทำให้เกิดความสั่นสะเทือนวงการอี-คอมเมิร์ซไทย โดยมีผู้ได้รับผลกระทบในวงกว้าง ทั้งบริษัทห้างร้าน โรงแรม และผู้บริโภค ล่าสุดบริษัทเอ็นโซโก้(ประเทศไทย) จำกัด ได้ออกมาส่งข้อความไปถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นครั้งแรกผ่านแฟนเพจเอ็นโซโก้ ในเย็นวันที่ 23 มิถุนายน 2559 โดยมีเนื้อหาระบุว่า เนื่องจากผู้ถือหุ้นออสเตรเลีย ได้หยุดให้การสนับสนุนเงินทุนอย่างกะทันหัน ขณะนี้เอ็นโซโก้ กำลังรีบดำเนินการเพื่อหาแนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสม และข้อสรุปที่ดีที่สุด ทางบริษัทขออภัยเป็นอย่างสูงต่อความไม่สะดวกจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ และใคร่ขอความอนุเคราะห์ จากท่านในการรอรับข้อมูลรายละเอียดที่ชัดเจน และถูกต้อง ซึ่งบริษัทฯ จะแจ้งให้ท่านทราบโดยเร็วที่สุด

"เอ็นโซโก้"พ่นพิษอี-คอมเมิร์ซ

ต่อเรื่องนี้แหล่งข่าวจากผู้ดูแล( แอดมิน)เพจเฟซบุ๊ก"รวมผู้ได้รับผลกระทบ ensogo" ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการของเอ็นโซโก้ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่าคำชี้แจงของเอ็นโซโก้ยังไม่มีความชัดเจน กรณีการปิดตัวดังกล่าวถือว่าส่งผลกระทบกับความเชื่อมั่นต่อบริการอีคอมเมิร์ซของร้านค้าและผู้บริโภคเป็นอย่างมาก โดยฝั่งผู้บริโภคมีผู้ซื้อคูปองดีลไปแล้วแล้วถูกปฏิเสธการให้บริการจากร้านค้า ขณะก็มีกลุ่มร้านค้าที่ได้รับผลกระทบ บางรายยังไม่ได้เงินจากเอ็นโซโก้ตั้งแต่เดือนมีนาคม ขณะที่บางรายยังมีสินค้าอยู่ในคลังสินค้าของเอ็นโซโก้

ส่วนมูลค่าความเสียหายขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ เนื่องจากขณะนี้ มีทั้งฝั่งร้านค้า และผู้บริโภค แจ้งความเสียหายเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยเท่าที่ดูข้อมูลที่แจ้งมาล่าสุด (23 มิ.ย.59) มีผู้เสียหายกว่า 100 ราย บางรายมียอด 7-9 หมื่นบาท บางรายมีตัวเลขสูงกว่า 2 แสนบาท

จี้ออกก.ม.คุ้มผู้ซื้อสินค้าออนไลน์

ด้าน ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานส่งเสริมธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ 1212 OCC' กล่าวว่าหลังจากมีข่าวเอ็นโซโก้ปิดการบริการเมื่อวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมามีผู้ร้องเรียนเข้ามายังศูนย์ 1212 OCC ทั้งหมด 10 ราย โดย 9 ราย เป็นผู้บริโภคที่เอาคูปองไปใช้แล้วร้านค้าปฏิเสธ ขณะที่วันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมามีผู้ร้องเรียนเข้ามา 61 ราย โดยในจำนวนนี้มี 37 รายของผู้ร้องเรียนต้องการใช้คูปอง หากไม่สามารถใช้ได้ขอเงินคืน ส่วนอีก 16 ราย ต้องการขอเงินคืน

ทั้งนี้เอ็นโซโก้ ต้องตัวแทนหรือคนกลาง ขึ้นมาประนอมหนี้ คำนวณทรัพย์สิน-หนี้สินและเยี่ยวยาคู่ค้าและผู้บริโภค ซึ่งขณะนี้ผู้บริหารเอ็ตด้าได้สอบถามไปยังเอ็นโซโก้ ออสเตรเลียและสิงคโปร์ถึงแนวทางดำเนินการ ซึ่งจะเป็นแนวทางปฏิบัติให้กับประเทศในภูมิภาคนี้

ดร.รัฐศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่ากรณีที่เกิดขึ้นยอมรับว่าส่งผลต่อความเชื่อมั่นอีคอมเมิร์ซของไทยในระยะสั้น เนื่องจากคู่ค้าและผู้บริโภคอยู่ในภาวะตื่นตระหนก หากมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาจัดการปัญหาต่างๆจะเริ่มคลี่คลาย อย่างไรก็ตามมองว่าผู้บริโภคมีการซื้อดีลไปแล้วถือว่าธุรกรรมซื้อขายสิ้นสุด ร้านค้าไม่สามารถปฏิเสธการให้บริการได้ ซึ่งส่วนของร้านค้าต้องเก็บรวบรวมหลักฐานทั้งหมดเพื่อเรียกร้องความเสียหายจากเอ็นโซโก้

"การปิดกิจการของเอ็นโซโก้ ถือเป็นกรณีศึกษาที่ทำให้ไทยต้องเร่งออกกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ กรณีบริษัทข้ามชาติปิดกิจการ"

แนะเร่งสื่อสารคู่ค้า-ร้านค้า

ด้านนายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวว่า สมาคมฯเป็นตัวกลางประสานไปยังบริษัทเอ็นโซโก้ (ประเทศไทย) จำกัดให้ออกมาสื่อสารกับคู่ค้าและผู้บริโภค แต่ผู้บริหารเอ็นโซโก้ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะสำนักงานสาขา มีข้อจำกัดได้การให้ข้อมูล เนื่องจากกฎระเบียบของบริษัทแม่ คือไอบายที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย

"กรณีดังกล่าวไม่ใช่เหตุการณ์ปกติ ที่ผู้ให้บริการเว็บดีลรายใหญ่ ซึ่งมีบริษัทแม่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย ประกาศปิดกิจการ 6 ประเทศ ซึ่งมองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดจากธุรกิจไปไม่ได้ แต่เกิดจากนโยบายและการบริหารของบริษัทแม่ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าหากมีการแก้ปัญหารวดเร็ว ไม่น่าส่งผลกระทบกับความเชื่อมั่นอีคอมเมิร์ซ เพราะไม่ใช่กรณีที่เกิดขึ้นง่ายๆ"

สคบ.ส่งEMS เรียกแจง 29 มิ.ย.

ร.ต.ไพโรจน์ คนึงทรัพย์ เลขานุการกรม สำนักงานเลขานุการกรม สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ได้รับความเสียหายจากกรณีปิดกิจการของเว็บไซต์เอ็นโซโก้ เข้ามาร้องเรียนกับทางสคบ.แล้ว 4-5 ราย เนื่องจากไม่สามารถใช้บริการจากคูปองที่ซื้อกับทางเว็บไซต์ได้ โดยล่าสุดทางสคบ. ได้ออกจดหมายไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EMS) ไปยังเอ็นโซโก้และผู้ประกอบการคู่กรณีเพื่อให้เข้ามาชี้แจงและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในวันที่ 29 มิถุนายนนี้

ส่วนกระบวนการขั้นตอนการดำเนินงานของทางสคบ. จะตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก่อนว่าผู้บริโภคได้รับความเสียหายอย่างไร แล้วจึงจะเชิญคู่กรณีมาไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เพื่อชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้น แต่หากผู้ประกอบการไม่มาหรือไม่ยอมชำระค่าเสียหาย ก็จะส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการของสคบ.ทำเรื่องฟ้องร้องต่อไป ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจและเว็บไซต์จะต้องรับผิดชอบร่วมกัน ในฐานะธุรกิจร่วมค้า"

ไมเนอร์ฯ เปิดรับคูปองทุกแบรนด์

นายประพัฒน์ เสียงจันทร์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เบอร์เกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือไมเนอร์ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังจากที่เว็ปไซต์เอ็นโซโก้ประกาศปิดให้บริการ เบอร์เกอร์คิงและร้านในเครือไมเนอร์ ทั้ง สเวนเซ่น,เดอะ พิซซ่าคอมปะนี และซิซซ์เลอร์ ที่มีการให้บริการซื้อขายดีลคูปองภายในเว็บ ยืนยันว่ายินดีให้บริการลูกค้าที่ซื้อคูปองดีลไว้ โดยสามารถนำคูปองมาใช้บริการกับร้านภายในเครือได้ในทุกแบรนด์จนถึงวันหมดอายุ โดยในส่วนของเบอร์เกอร์คิงเองนั้นคูปองต่างๆยังจะสามารถใช้ได้จนครบสัญญาหมดเขตในคูปองคือสิ้นเดือนสิงหาคมนี้

"ลูกค้าที่ซื้อดีลคูปองทั้งสามแบรนด์ในเครือมีมูลค่ารวมกันหลายล้านบาท จะไม่ได้รับผลกระทบจากการปิดให้บริการของทางเอ็นโซโก้ในครั้งนี้และยังสามารถนำคูปองมาใช้ได้ตามปกติ"

ยกเลิกซื้อขายดีลคูปองผ่านเว็บ

นายประพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมถึงแนวทางการทำตลาดของเบอร์เกอร์คิงนับจากนี้อาจจะไม่มีการให้บริการซื้อขายดีลคูปองผ่านเว็บไซต์กลางอีก แต่จะหันมาให้ความสำคัญกับการทำแคมเปญการตลาด ส่วนลด หรือสิทธิพิเศษแก่ลูกค้าผ่านหน้าเว็บไซต์และช่องทางออนไลน์ของเบอร์เกอร์คิงเอง ขณะที่กิจกรรมทางการตลาดหลักจะเป็นจัดการโปรโมชั่นผ่านสื่อต่างๆควบคู่กันไปด้วย

ส.โรงแรมไทยเช็คความเสียหาย

นางศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย(ทีเอชเอ) เปิดเผยว่าขณะนี้เริ่มมีสมาชิกของสมาคมหลายรายโทรศัพท์มาหารือถึงผลกระทบจากกรณีที่เว็บดีลเอ็นโซโก้ทั้งหมดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงในประเทศไทย ที่ปิดกิจการไป ซึ่งผู้ประกอบการโรงแรมกำลังประสบปัญหาใน 2 เรื่องคือ 1.กรณีที่มีลูกค้านำเวาเชอร์ที่ซื้อผ่านเอ็นโซโก้มาใช้บริการแล้ว แต่โรงแรมไม่สามารถเรียกเก็บเงินจากเอ็นโซโก้ได้ และ2.การแก้ปัญหาในกรณีของลูกค้าที่ซื้อผ่านเอ็นโซโก้ แต่ยังไม่ได้นำมาใช้บริการ ว่าจะมีทางออกในเรื่องนี้อย่างไร

จากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ล่าสุดทีเอชเอ เตรียมจะทำแจ้งไปยังสมาชิกของสมาคมกว่า 800 โรงแรมทั้งกรุงเทพฯและต่างจังหวัด เพื่อสอบถามและรวบรวมความเสียหายที่เกิดขึ้น สำหรับเป็นข้อมูลในการหารือกับฝ่ายกฎหมายของสมาคมฯว่าจะดำเนินการเรื่องคดีในแง่ใดได้บ้าง เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันยังต้องดูเรื่องกฎหมายเรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภคด้วยว่า ธุรกิจโรงแรมจะสามารถปฏิเสธการให้บริการลูกค้าที่ซื้อเวาเชอร์ผ่านเอ็นโซโก้ แต่ยังไม่ได้นำมาใช้บริการได้หรือไม่ สำหรับดีลที่ตกลงไว้กับเอ็นโซโก้ หากเป็นโรงแรมในต่างจังหวัดจะเป็นดีลเรื่องของห้องพัก แต่สำหรับในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่จะเป็นดีลห้องอาหารภายในโรงแรม

นายจอห์น เวสโทบี้ ผู้จัดการทั่วไปโรงแรมอีสติน แกรนด์ สาทร กรุงเทพฯ กล่าวว่า โรงแรมมีดีลห้องอาหารบุฟเฟ่ต์ในโรงแรม กับทางเอ็นโซโก้ ซึ่งเป็นดีลแบบระยะสั้น 3 เดือน ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้โรงแรมเสียหายเป็นเงินหลักแสนบาทขึ้นไป แต่ยินดีให้ลูกค้าที่ได้ทำการซื้อดีลผ่านเอ็นโซโก้ และมีคูปองของห้องอาหารเดอะ กลาส เฮ้าส์ ของโรงแรม มาใช้ได้ตามปกติ ส่วนเรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้ก็จะดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมายต่อไป

เช่นเดียวกับนายรณชิต มหัทธนะพฤทธิ์ รองประธานอาวุโสฝ่ายการเงินและบริหาร บริษัทโรงแรมเซ็นทรัล พลาซ่า จำกัด (มหาชน)หรือCENTEL กล่าวว่า อยากให้สำนักงานใหญ่ของเอ็นโซโก้ ประกาศถึงความชัดเจนให้ลูกค้าที่ซื้อวอลเชอร์ผ่านเอ็นโซโก้ไปแล้วว่าควรจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป รวมถึงแจ้งกับทางคู่ค้าถึงแผนการดำเนินการเพื่อลดความเสียหายที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันอยากเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาสอดส่องดูแลเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการหาผลประโยชน์จากโซเชียล มีเดีย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก

"ขณนี้โรงแรมและรีสอร์ตในเครือเซ็นทาราร่วม 40 แห่งทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด มีดีลทำสัญญาร่วมกับทางเอ็นโซโก้ กำลังอยู่ระหว่างหารือถึงการแนวทางในแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งในส่วนของโรงแรมรวมถึงผู้บริโภค ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการประเมินคาดว่าจะอยู่ใกล้ๆ 5 แสนบาท"

เริ่มกลัวทำการค้าร่วมกับเว็บดีล

แหล่งข่าวระดับสูงจากผู้ประกอบการท่องเที่ยว เผยว่าในขณะนี้โรงแรมต่างๆที่มีดีลอยู่กับเอ็นโซโก้ กำลังประเมินความเสียหายทางธุรกิจที่เกิดขึ้น เพื่อประเมินทางออกในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากรูปแบบการดีลมีความแตกต่างกันบางดีลก็อาจมีการตัดบัญชีไปก่อนระหว่างคู่ค้า และเอ็นโซโก้ หรือตัดบัญชีภายหลังลูกค้ามาใช้บริการ เป็นต้น ทำให้ในขณะนี้โรงแรมต่างๆจึงมีทางเลือกใน 3 ทาง คือ 1.ระงับการใช้บัตรกำนันชั่วคราว จนกว่าโรงแรมจะได้รับคำยืนยันจากทางบริษัทเอ็นโซโก้ในเรื่องมาตรการการจัดการกับดีลค้างชำระ 2.ยอมให้ลูกค้านำบัตรกำนัลมาใช้ได้ โดยโรงแรมจะไปดำเนินคดีตามกฎหมายกับเอ็นโซโก้ในภายหลัง และ3.ให้ลูกค้าสามารถใช้บัตรกำนันได้แต่ต้องจ่ายค่าบริการส่วนเกิน

"ขณะนี้มีโรงแรมในกรุงเทพฯที่มีดีลห้องอาหารกับทางเอ็นโซโก้ที่ขอระงับการใช้บัตรกำนันชั่วคราวของลูกค้าที่ซื้อผ่านเอ็นโซโก้แล้ว อาทิ โรงแรมแกลเลอเรีย 10 สุขุมวิท กรุงเทพฯ ,โรงแรมเมอร์เคียว กรุงเทพ สยาม ,โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ บางนา,โรงแรมสวิสโซเทล นายเลิศ ปาร์ค กรุงเทพฯ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกรณีของเอ็นโซโก้ ทำให้ในขณะนี้หลายโรงแรมรู้สึกเข็ดเขียวกับทำการค้าร่วมกับเว็บดีล เพราะที่ผ่านมาเอ็นโซโก้ ก็เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ และเป็นบริษัทข้ามชาติของประเทศออสเตรเลีย ที่หลายคนก็มีความเชื่อถือ แต่ท้ายสุดก็เกิดปัญหาปิดเว็บไป และคู่ค้าเองก็ติดต่อกับเอ็นโซโก้ไม่ได้ ทำให้หลายโรงแรมเกิดความไม่มั่นใจ และมีการปฏิเสธเว็บดีลหลายราย ที่ติดต่อเข้าขอเจรจาธุรกิจกับทางโรงแรมในช่วงนี้ แม้ว่าที่ผ่านมาธุรกิจท่องเที่ยวจะนิยมซื้อผ่านทางออนไลน์มากขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,169 วันที่ 26 - 29 มิถุนายน พ.ศ. 2559