เชียร์เอสเอ็มอีเสริมภูมิคุ้มกัน ร่างพ.ร.บ.และกฎหมายฯช่วยลดช่องว่างรัฐบาล-เอกชน-แบงก์

29 มิ.ย. 2559 | 04:00 น.
ไทยพาณิชย์ชี้กฎหมายใหม่ผลักดันเอสเอ็มอีไทยอยู่รอด/ยํ้าสนองนโยบายรัฐหนุนต่อยอดธุรกิจ พร้อมเฝ้าระวังและติดตามความเสี่ยงของลูกค้ารุดช่วยเหลือทันท่วงที ขณะที่ 7-10 ก.ค.ศกนี้ เปิดเวทีระดมกูรูเพิ่มศักยภาพสตาร์ตอัพ

[caption id="attachment_65928" align="aligncenter" width="351"] วิพล วรเสาหฤท  รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม  ธนาคารไทยพาณิชย์ วิพล วรเสาหฤท
รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
ธนาคารไทยพาณิชย์[/caption]

นายวิพล วรเสาหฤท รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธนาคารไทยพาณิชย์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)ของทางภาครัฐว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้มี ร่างพระราชบัญญัติ(พรบ.)และกฎหมาย เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจของรัฐบาลในการฟื้นฟูศักยภาพของเอสเอ็มอีอย่างแท้จริง ในส่วนของบมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์มีความเห็นเป็นสิ่งที่ดีที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น และเปรียบเหมือนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันในการทำธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี อยากให้การออกร่าง พรบ.และกฎหมายเหล่านี้ เป็นโอกาสที่ช่วยลดช่องว่างระหว่างภาครัฐบาล ภาคเอกชน และธนาคาร ให้มาช่วยกันให้ความเห็นและอุดรูรั่วให้เกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากแต่ละภาคส่วนจะมีมุมมองต่อธุรกิจเอสเอ็มอี ในด้านต่างๆ กัน อันอาจจะช่วยเสริมให้ได้ภาพรวมที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

[caption id="attachment_65927" align="aligncenter" width="700"] มตราการรัฐบาลในการช่วยเหลือ SME มตราการรัฐบาลในการช่วยเหลือ SME[/caption]

ในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์นั้น นอกจากธนาคารให้การสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้านแหล่งเงินทุนแล้ว ขณะเดียวทางธนาคารยังมีนโยบายที่ให้การสนับสนุนแนวทางของภาครัฐด้วยดีมาตลอด เห็นได้จาก โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ(Softloan) ซึ่งไทยพาณิชย์เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนวงเงินมากที่สุดกว่า 3 หมื่นล้านบาท

สำหรับร่างกฎหมาย และ พรบ. ใหม่ๆ ที่ออกมาในช่วงนี้ ทางธนาคารก็เห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น จึงยินดีที่จะสนับสนุนและพร้อมเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยนำเอากฎหมายเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคาร อาทิ พรบ.หลักประกันทางธุรกิจ ที่ช่วยเพิ่มทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเอสเอ็มอี ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องสภาพคล่องอันเป็นปัญหาหลักของเอสเอ็มอีได้ พรบ.ผู้ค้ำประกันทางธุรกิจ ช่วยทำให้บุคคลค้ำประกันไม่ซ้ำซ้อน และตัวผู้ค้ำประกันก็จะทราบชัดเจนเจนว่าตนได้ค้ำประกันสินเชื่อใดไว้บ้าง

ขณะเดียวกันในส่วนของร่าง พรบ.ล้มละลาย(ฉบับที่ 9) ที่มุ่งเน้นช่วยให้ธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพแต่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง สามารถขอฟื้นฟูกิจการเพื่อรักษาธุรกิจไว้ได้ โดยที่ผ่านมาการขอฟื้นฟูกิจการจะสามารถทำได้เฉพาะธุรกิจรายใหญ่ๆ เช่น บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดเท่านั้น ดังนั้น ร่างพรบ.ดังกล่าวจึงเป็นครั้งแรกที่เอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาสามารถขอฟื้นฟูกิจการได้เช่นกัน

ทั้งนี้ ในระบบของธนาคารเองได้มีการเฝ้าระวังและติดตามความเสี่ยงของลูกค้าของธนาคาร และคอยให้ความช่วยเหลือตั้งแต่ระยะแรกก่อนที่จะสายเกินไป เรามีการแต่งตั้งทีมพิเศษเพื่อเข้าให้คำปรึกษากับลูกค้าตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อให้คำปรึกษาและให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงที โดยอยากฝากถึงลูกค้าและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีว่า หากรู้สึกว่าธุรกิจเริ่มมีความไม่คล่องตัว ขอให้ติดต่อและพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ธนาคาร เรามีความยินดีที่จะให้ช่วยเหลือลูกค้าในทุกๆ รูปแบบที่เป็นไปได้เพื่อให้ลูกค้าสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างไม่บกพร่อง และได้รับผลกระทบให้น้อยที่สุดส่วนจะให้ความช่วยเหลือในรูปแบบใดนั้น แต่ละรายอาจมีความแตกต่างกัน จึงมีความจำเป็นต้องดูถึงลักษณะและธรรมชาติทางธุรกิจของลูกค้า รวมถึงปัญหาที่เกิดในแต่ละธุรกิจประกอบกันด้วย

ที่สำคัญ ธนาคารยังให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการส่งเสริมเอสเอ็มอีโดยร่วมทำงานในภาคประชารัฐร่วมกับหน่วยงานรัฐต่างๆ มีการเตรียมงบประมาณเพื่อสนับสนุนในธุรกิจ Start Up และ Social Enterprise รวมทั้งการจัดกิจกรรม Business Matching เพื่อสร้างเครือข่ายธุรกิจที่มีศักยภาพให้แก่เอสเอ็มอี และที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ คือการจัดงาน SME Expo: Spring up Thailand ซึ่งเป็นงานให้ความรู้และคำปรึกษาในการดำเนินธุรกิจสำหรับชาวเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ เป็นเวทีระดมความรู้จากกูรูทางธุรกิจในภาคต่างๆ ทั้งเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ และ Social Enterprise มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและพร้อมที่จะตอบคำถามและให้ความรู้กับชาวเอสเอ็มอีที่สนใจโดยเฉพาะ ในวันที่ 7-10 กรกฎาคมนี้ที่คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์เซ็นทรัล ลาดพร้าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,169 วันที่ 26 - 29 มิถุนายน พ.ศ. 2559